ความขัดแย้งในครอบครัว

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ความขัดแย้งในครอบครัว เกิดจากอะไร

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ความขัดแย้งในครอบครัว เกิดจากอะไร

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ  พระวิปัสสนาจารย์ที่เน้นสอนด้านการปฏิบัติ ที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ  ได้ตอบปัญหาเรื่อง “ความขัดแย้งในครอบครัว” นี้ไว้ว่า

ถาม : พระอาจารย์คะ  หนูอยากจะถามแทนใจลูก ๆ ว่า  ทำไมคนเป็นพ่อแม่ถึงชอบยึดหลักเดิม ๆ  ไม่ค่อยฟังเหตุผลของลูก  แล้วชอบพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก  ไม่เข้าใจวัยรุ่นเลย

ตอบ : ในเมื่อพ่อแม่ไม่เข้าใจวัยรุ่น วัยรุ่นก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ว่านี่คือธรรมชาติของคนแก่ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เขาเข้าใจเรา ต้องเริ่มจากการเคารพในความแตกต่างและเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัยให้ได้ก่อน เมื่อเข้าใจแล้ว ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงท่านให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เช่น อยากให้พ่อแม่เลิกบ่น ไม่ฟังเหตุผล จะเริ่มลดน้อยลง พ่อแม่และเราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ

จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ที่คนแก่เป็นแบบนี้…เพราะลึก ๆ ต้องการคนเอาอกเอาใจ และเห็นว่าตัวเองยังมีคุณค่า เลยต้องแสดงความคิดเห็นหรือยึดมั่นในหลักการของตัวเอง เพื่อให้ลูก ๆ ยอมรับว่ายังมีกึ๋น เราก็ควรเอาอกเอาใจท่านหน่อย

สำหรับลูก ๆ ที่ไม่ชอบใจนิสัยบางอย่างของพ่อแม่ ก็จงดูท่านเป็นตัวอย่าง เอาท่านมาเป็นครูสอนใจ ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องแก่เหมือนกัน แต่เราเลือกได้ว่าเราอยากเป็นคนแก่แบบไหน แบบที่วัยรุ่นเซ็งหรือเป็นคนแก่นิวลุคที่ทันสมัย เด็ก ๆ รักและอยากพูดคุยด้วย พระอาจารย์เคยเจอคุณย่าคุณยายบางคนที่เด็ก ๆ ชอบมาก แสดงว่าคนแก่ที่ไม่ทำตัวน่าเบื่อหน่ายยังมีอยู่ สำหรับคนแก่บางคน เราก็ต้องเข้าใจว่าท่านเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนท่าน ดูแลท่านให้เต็มที่จนกว่าท่านจะจากไป พอวันหนึ่งเรารับตำแหน่ง สว.แทนท่าน ก็อย่าไปทำในสิ่งที่เราเคยไม่ชอบใจก็แล้วกัน

ถาม : แล้วเราจะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกับพ่อแม่ (คนแก่เวอร์ชั่นเก่า) ได้อย่างสงบคะ

ตอบ : ต้องมีข้อตกลงระหว่างสมาชิกในครอบครัว มีการประชุมกันว่าสิ่งไหนที่ควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ และเมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ก็ให้เคารพในสิ่งที่เราตั้งกันขึ้นมา ถ้าพ่อแม่ทำผิด เด็ก ๆ ก็มีสิทธิเสรีภาพโดยชอบธรรมที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมได้

ในสังคมไทย คนเป็นพ่อแม่มักคิดว่าลูก ๆ เป็นลูกไก่ในกำมือ บางทีก็ต้องสอนคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่า พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของชีวิตเขา ไม่ใช่พ่อดั้งแม่เดิม เป็นแค่พ่อเสริมแม่แต่ง พ่อแม่ดั้งเดิมของเขาคือกรรมที่เขาทำมา ดังนั้น ไม่ใช่ว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ ก็เลยคิดจะบังคับเขาอย่างไรก็ได้ ทำมาก ๆ ระวังชาติหน้าเขาเกิดเป็นพ่อแม่คุณบ้าง แล้วคุณจะหนาว

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ช่วยกันส่งเสริมตกแต่งรังสรรค์ลูกให้เดินไปในทางที่ถูกที่ควร เช่น หากว่ากรรมเก่าของเด็กคนนี้ทำให้เลือกทางผิด เลือกเพื่อนผิด หน้าที่ของพ่อแม่คือต้องจัดแต่งต้นตะโกธรรมดาที่ไม่มีคุณค่า เอามาดัดให้สวย ให้เกิดคุณค่าขึ้นมา เช่นเดียวกัน…กรรมที่เด็กคนนี้ทำมายังคงเหมือนเดิม แต่ถ้าเรามาสร้างหัวใจที่บริสุทธิ์โดยการป้อนข้อมูลที่ดีคลื่นจิตที่ดีให้แก่เขาบ้าง ก็เท่ากับเราปั้นงานชิ้นเอกให้ได้ขึ้นสู่เวทีโลก ลูกเป็นผลผลิตของคุณพ่อคุณแม่ ฉะนั้นคนเป็นพ่อแม่ต้องโชว์ฝีมือในการตกแต่งหน่อย ไม่ใช่เอะอะตบตีอย่างเดียว ต้องแต่ง เติม ต่อ และตัดในสิ่งที่ควรตัดด้วย

ความขัดแย้งในครอบครัว
Photo by John-Mark Smith on Unsplash

ถาม : หากถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเราจำต้องเรียกร้องความเป็นธรรม จะถือว่าอกตัญญูไหมคะ และถ้าทำจะบาปไหม

ตอบ : ถ้าเราเรียกร้องโดยไม่มีโทสะ ไม่มีกิเลส ไม่มีอารมณ์เมื่อเห็นว่าพ่อแม่ไม่เป็นธรรม ทำไม่ถูก เราก็สามารถไปฟ้องผู้มีอำนาจหรือคุณตาคุณยายได้ อย่างเช่น…คุณพ่อคุณแม่รังแกผม  ทำไมต้องบังคับให้ผมแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ด้วยผมไม่ชอบผู้หญิง ผมจะแต่งงานกับผู้ชาย (หัวเราะ)

ตามหลักสิทธิมนุษยชนลูกทำได้นะ คุณพ่อคุณแม่เป็นปุถุชน  ยังมีกิเลสอยู่  และไม่ได้เป็นธรรมเสมอไป ให้บอกท่านไปเลยว่า  ลูกไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะสนองตัณหาของท่าน อย่าเห็นว่าหนูเป็นก้อนหินที่จะจับซ้ายจับขวาหรือจะเหวี่ยงอย่างไรก็ได้ และให้บอกต่อว่า  อาจารย์บอกให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยความเคารพ  ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพโดยชอบธรรม จิตทุกดวงควรมีอิสรภาพตามสมควร

อาจารย์เคยเห็นเด็กบางคนน่าสงสารมาก แม้แต่ไปกินก๋วยเตี๋ยว คุณพ่อเติมพริก น้ำส้ม  น้ำปลาให้เด็กเสร็จสรรพ แม้แต่การเรียน  คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเป็นหมอ  ถ้าลูกไม่เลือกตามต้องการ ก็จะตัดแม่ตัดลูกกัน หรือพอถึงวัยแต่งงาน คุณแม่ชอบผู้ชายคนนี้มาก ก็บังคับให้เราไปแต่งงานกับเขา…ลูกก็งง ตกลงแม่จะแต่งหรือหนูจะแต่งกันแน่

พูดตามหลักธรรมคือ พ่อแม่ต้องคิดว่าเราไม่ใช่เจ้าชีวิตของลูก เราต้องขอบคุณลูกที่เขามาเกิดกับเรา ทำให้เราได้เป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์

ถาม : แล้วกับพ่อแม่ที่พูดยาก  ในฐานะลูก  เราควรทำอย่างไรดีคะ

ตอบ : ก็ไม่ต้องพูด บางครั้งการไม่พูดอาจจะดีกว่าการพูดด้วยซ้ำไป บางครั้งเราพูดกันมากเกินไปจึงไม่ค่อยเข้าใจกัน บางครอบครัวพูดกันน้อยมาก แต่กลับเข้าใจกันเยอะ บางครอบครัวพูดกันเยอะ แต่ไม่เข้าใจกันเลย เพราะไม่เข้าไปที่ใจ…ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตัวเราก็ไม่ดูใจตัวเราเอง เลยต้องพูดกันเยอะ ไม่จบไม่สิ้น ดังนั้น ถ้าอยากให้บรรยากาศในครอบครัวสงบ พูดกันน้อย ๆ เข้า (ไปที่) ใจกันมาก ๆ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เคารพในสิทธิหน้าที่ของเขา สงครามในครอบครัวก็จะไม่เกิด

 

พระราธเถระ…คนแก่ตัวอย่างสมัยพุทธกาล

พระราธเถระ เดิมเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์เมื่อแก่ตัวลง ภรรยาและบุตรไม่เลี้ยงดูจึงต้องออกจากบ้านมาอาศัยอยู่ในวัดพระเวฬุวันฯ ต่อมาท่านประสงค์จะออกบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เพราะเกรงว่าคนที่บวชตอนแก่จะสอนยากแต่สุดท้ายพระสารีบุตรซึ่งระลึกถึงบุญคุณพระราธเถระว่าเคยรับบิณฑบาตจากพราหมณ์ผู้นี้เป็นข้าวทัพพีหนึ่ง จึงรับเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสารีบุตรพร่ำสอนพระราธเถระตลอดว่า…สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ท่านราธเถระเองว่าง่าย ไม่เคยนึกเคืองโกรธที่พระอายุน้อยกว่ามาสอนสั่ง วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงถามพระสารีบุตรว่า พระราธเถระเป็นเช่นไรบ้าง พระสารีบุตรทูลว่า ท่านว่าง่ายสอนง่ายเหลือเกิน พระพุทธองค์จึงทรงให้ภิกษุอื่นถือเอาพระราธเถระเป็นแบบอย่างของภิกษุที่บวชเมื่อแก่ แต่ทำตัวว่าง่าย สุภาพ และอ่อนโยน

 

ที่มา  นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily


บทความที่น่าสนใจ 

Q:แฟนเป็นคนอารมณ์ร้าย อยากเลิก แต่กลัวเขามาทำร้ายครอบครัว ควรทำอย่างไร

Q:อยากเปลี่ยนศาสนา แต่เกรงใจครอบครัว ต้องทำอย่างไร

7 เคล็ดลับเพิ่มความ“สมานฉันท์”ในครอบครัว (ฉบับคุณลูกฝากถึงคุณพ่อคุณแม่)

จากเด็กเร่ร่อน ตรากตรำสู้เพื่อครอบครัว สู่บัณฑิตใหม่เกรดต้นๆ ของรั้ววิทยาลัย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.