ผู้ที่ประกอบ อาชีพเพชฌฆาต ต้องฆ่านักโทษ บาปไหม
ถาม: ผู้ที่ประกอบ อาชีพเพชฌฆาต ต้องฆ่านักโทษ บาปไหม
พระอาจารย์พรพล ปสันโน ตอบปัญหาธรรมข้อนี้ไว้ว่า
ตอบ: การฆ่าสัตว์หรือฆ่าชีวิตมนุษย์นั้นย่อมบาปอย่างแน่นอน เพราะถือว่าทำผิดศีลข้อที่ 1 แต่เราต้องดูองค์ประกอบของเจตนาด้วยว่ามีเจตนามากน้อยอย่างไร
ทั้งนี้องค์ประกอบแห่งการวินิจฉัยคือ
1. ต้องเป็นสัตว์มีชีวิตคือมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน
2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
3. มีจิตคิดจะฆ่า
4. พยายามฆ่า
5. สัตว์ตายจากการพยายามฆ่า
ครบองค์ประกอบศีลจึงจะขาด ดังนั้น อาชีพเพชฌฆาตจะบาปมากหรือน้อยนั้นอยู่ที่เจตนา ถ้าทำไปตามหน้าที่โดยไม่มีอคติ ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตเขา ก็นับเป็นบาปเบา แต่ถ้าใจอาฆาตพยาบาทหมายจะเอาชีวิตเขาให้ได้ก็นับเป็นบาปหนัก
ในสมัยพระพุทธกาลมีเพชฌฆาตคนหนึ่งชื่อว่านายตัมพทาฐิกะ ทำหน้าที่ฆ่าโจรตามคำสั่งของอมาตย์นานถึง 55 ปี กาลเวลาผ่านไปเขามีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสารีบุตรจนบบรลุโสดาปฎิมรรค เมื่อเสียชีวิตก็ยังได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ดังนั้นคนที่กลับใจหยุดทำบาปและตั้งใจฟังธรรมก็มีโอกาสบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ากรรมชั่วที่ทำจะไม่ส่งผล เมื่อใดกรรมดีหมดลง กรรมชั่วก็ย่อมส่งผลตามมา เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราควรสะสมแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว ก็จะเป็นหลักประกันให้เราได้พบแต่ความสุข ความเจริญ ทั้งในภพนี้และภพหน้า
ธรรมะจากท่านว.วชิรเมธี
คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ ก็บาปอยู่แล้ว จะบาปมากบาปน้อย ก็ให้พิจารณาตามเกณฑ์ ส่วนเพชฌฆาต ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า ก็บาปน้อย แต่ถ้ามีเจตนาฆ่ามาเป็นตัวร่วมและทำการฆ่าอย่างสนุกสนาน มีความสุขจากการฆ่า ก็แน่นอนว่าบาป ยิ่งฆ่าคนไม่ผิด หรือฆ่าคนที่มีคุณค่าชีวิตมาก ก็บาปมาก แต่ถ้าฆ่านักโทษอุกฉกรรจ์ ที่เป็นคนผิดจริง ก็บาปน้อย จะไม่ให้บาปเลยนั้นหายากมาก ยกเว้นเพชฌฆาต ที่มีใจบริสุทธิ์ ฆ่าเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ไม่มีเจตนาฆ่าร่วมในการฆ่าเลย ก็ไม่บาป
แต่โดยมาก คนอย่างนี้หายาก ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
คราวหนึ่ง เพชฌฆาตอาชีพ เคยสารภาพให้ฟังว่า เมื่อตอนแรกที่เขารับหน้าที่ฆ่าคนด้วยการยิงเป้านักโทษนั้น นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลงเป็นอาทิตย์ หลับตา ลืมตาก็เห็นแต่คนที่ตัวเองประหาร แต่พอฆ่าคนที่สอง สาม สี่ และห้า เขารู้สึกสนุก รื่นรมย์ เขาบอกอีกว่า เขาจำเสียงกระสุนที่เจาะชำแรกลงไปบนเนื้อนักโทษได้อย่างถนัดถนี่ จำกลิ่นเนื้อไหม้ที่เกิดจากการเสียดทานจากความร้อนแรงของกระสุนที่พุ่งเข้าไปฝัง อยู่ในร่างของนักโทษได้ จำสภาพนักโทษที่ดิ้นพลาด ๆ แล้วแน่นิ่งคาหลักได้ จนลมหายใจเฮือกสุดท้ายขาดห้วงไป ได้เป็นอย่างดี
เขาบอกอีกว่า เห็นภาพเหล่านี้แล้ว มีความสุขชะมัด ต่อมาเมื่อเกษียณแล้ว เขาจึงรู้สึกผิดมหันต์และตัดสินใจบวชไม่สึก เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับนักโทษเหล่านั้น
เห็นไหมว่า การฆ่าอาจนำมาซึ่งความสุขในเบื้องต้น แต่มีผลเป็นความทุกข์ตรมขมไหม้ในบั้นปลายอย่างนี้แน่นอน ใครที่มีความสุขจากการฆ่า จึงมีโอกาสถูกเขาฆ่าตอบ
หนึ่งถูกฆ่า จนวางวายทำลายขันธ์ลงไปจริง ๆ
สองถูกฆ่า จากความสุข จมอยู่กับความทุกข์เพราะความรู้สึกผิดไปจนตาย
คุณไม่ต้องกังวลว่า หากไม่มีใครฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว สัตว์จะไม่ถูกฆ่า โลกมีวัฏจักรของมันเอง คือ มีทั้งผู้ล่า และผู้ถูกล่า นี่คือ ห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เราไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกหยุดการฆ่าแล้วมาสมาทานศีลได้ทั้งหมดหรอก
สิ่งสำคัญที่เราทำได้ก็คือ เห็นเขาฆ่า อย่าไปฆ่าร่วมกับเขา อย่าสนับสนุนเขา อย่ามีความสุขจากการฆ่า และเหนืออื่นใด อย่าเกิดมาให้เขาฆ่าบ่อย ๆ
ภารกิจของเราในชีวิตนี้ก็คือ ปฏิบัติธรรมไป จนอยู่เหนือเกิดเหนือตาย ก็จะได้อยู่เหนือการฆ่าอย่างถาวร
แต่ก่อนอื่นในชีวิตนี้ สิ่งที่คุณควรฆ่าก่อน เป็นอันดับแรก ก็คือ “กิเลส”
ที่มา นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : รู้ว่าสัตว์จะถูกฆ่า แต่ช่วยอะไรไม่ได้ จะบาปไหม
Q: การที่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์หรือการุณยฆาตเพื่อการศึกษาเป็นบาปไหม ศีลจะขาดหรือไม่