ศึกษาธรรมชาติ เที่ยวตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
นอกจากหาดคุ้งวิมาน หาดเจ้าหลาว และเมืองเก่าริมแม่น้ำจันทบูร “ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบน ” ก็ยังนับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ และได้ชื่อว่าเป็น “ซิกเนเจอร์” แห่งในจังหวัดจันทบุรี
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน อ่าวคุ้งกระเบนเคยมีปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมทางทรัพยากร ป่าชายเลนถูกบุกรุก สัตว์น้ำแทบไม่เหลือ อีกทั้งน้ำเค็มยังรุกเข้าพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตรและประมงลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาที่จังหวัดจันทบุรี แล้วพระราชทานแนวพระราชดำริ ให้พลิกฟื้นความเสื่อมโทรม ศูนย์การศึกษาการพัฒนาที่อ่าวคุ้งกระเบนแห่งนี้จึงเกิดขึ้น โดยเน้นงานพัฒนาที่ผสมผสานทั้งการเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ด้วยกัน ส่งผลให้ปัจจุบันชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกลับมามีที่ดินทำกินอีกครั้ง
ครั้งนี้ซีเคร็ตมีโอกาสไปเยือนหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งมีภารกิจหลักคือขยายพันธุ์สัตว์น้ำ อันเป็นโครงการในพระราชดำริที่พ่อหลวงได้ทรงพัฒนาไว้ จนกลายมาเป็นมรดกให้คนไทยเราได้ตามรอยศึกษาอย่างทุกวันนี้
คุณชลิตร ธรรมเจริญ นักวิชาการประมง นำเราเดินชมภายในหน่วยสาธิตฯ แห่งนี้ ที่นี่มีกระชังปลาหลายพันธุ์ให้ได้เดินชมกันแบบเพลินๆ ทั้งปลากระพงขาว ปลากระพงแดง ปลากระพงขี้เซา ปลากะรังดอกแดง ปลาฉลามหัวบาตร รวมไปถึงเต่ากระ และเต่าตนุ คุณชลิตเล่าว่า นอกจากปลาเศรษฐกิจเหล่านี้แล้ว ที่นี่ยังมีพันธุ์ปลาที่ค่อนข้างหายาก อย่างปลาฉลามเสือดาวอยู่ด้วย โดยทางศูนย์ฯ ได้ไปขอไถ่ชีวิตมาจากพ่อค้าแม่ค้า ที่เตรียมจะนำไปทำเป็นอาหาร เพื่อนำมาเลี้ยงให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และให้นักท่องเที่ยวได้ชม แถมในช่วงเดือนธันวาคม หากใครโชคดีก็จะได้มีโอกาสเห็นพยูนแวะมากินหญ้าทะเลบริเวณแนวป่านี้อีกด้วย
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
นอกจากนี้ที่นี่ยังจัดตั้งธนาคารปูม้า เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านนิยมจับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองไปกิน ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดโอกาสที่ลูกปูจะเจริญเติบโต อีกทั้งยังเกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปูม้า ทางศูนย์ฯ จึงขอความร่วมมือจากชาวบ้านว่า เมื่อจับแม่ปูมาจะขอแคะไข่เก็บไว้เพื่อเพาะพันธุ์ต่อไป โดยไข่ปูม้าจะถูกเก็บไว้ในถังพลาสติกจำนวน 7 ใบ เรียกว่า “ระบบถังฟักไข่ปู” เมื่อลูกปูเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะปล่อยให้กลับไปวางไข่ในอ่าวคุ้งกระเบน ชาวบ้านก็สามารถเข้ามาเก็บไปขายต่อได้ โดยไม่รบกวนวงจรชีวิตของปู
กิจกรรมไฮไลท์ของที่นี่ที่นักท่องเที่ยวน้อยคนจะพลาด คือการให้อาหารปลาฉลามด้วยมือเปล่า โดยนักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสสัมผัสกับปลาฉลามอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกิจกรรมทำ “อีแปะ” หรือ วัสดุล่อหอยนางรม ด้วยการหยอดปูนซีเมนต์ลงบนเส้นเชือกเป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญสิบ แล้วตากให้แห้ง ก่อนที่นำไปหย่อนลงในน้ำทะเล เพื่อให้น้ำเชื้อหอยลอยมาติดที่อีแปะนี้
สิ่งที่นับเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของที่นี่คือ สมัยก่อนแทบจะไม่มีใครสนใจมาเที่ยวชมบริเวณนี้ แต่พอมีโครงการพระราชดำริของในหลวงเกิดขึ้น คุ้งกระเบนก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพัฒนา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้ทั้งมาเที่ยวชมและได้ทั้งความรู้ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ต้นแบบของการเลี้ยงสัตว์ทะเล ที่ให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษา และเข้าถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30–18.00 น. การเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ โทร. 0 3936 9216-8 โทรสาร 0 3936 9219 นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีบริการบ้านพัก สำหรับบริการหน่วยงานรัฐที่ไปจัดอบรม สัมมนาด้วยโดยต้องติดต่อล่วงหน้า
ขอขอบคุณ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ที่ให้ร่วมเดินทางไปกับทริปดีๆ ครั้งนี้
ภาพ ศรายุธ นกแก้ว