วันนี้ Secret พามาชมภาพบรรยากาศงาน ประเพณียกธง บ้านเบญพาด อีกหนึ่งงานสงกรานต์ที่หลายคนยังไม่รู้จัก
แม้สงกรานต์ การละเล่นสาดน้ำจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นประเพณีที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอันดับต้นๆ แต่ เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า ในช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา พี่น้องบ้านเบญพาด กาญจนบุรี ไม่ได้มีแค่สาดน้ำ แต่พวกเขายังคงสืบสานประเพณียกธง ที่ทำกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนทุกวันนี้
“จำไม่ได้แล้ว เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เห็นเขายกธงกันแล้ว” คำบอกเล่าจากคุณตาในหมู่บ้านเบญพาด อ. พนมทวน จ.กาญจนบุรี ที่สามารถยืนยันได้ว่า ประเพณีการยกธงนี้ น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้ว วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งประเพณีที่น่าสนใจนี้กันดีกว่า
ในช่วงนี้ของทุกปีลูกหลานทุกบ้านจะต้องมารวมตัวกันเพื่อช่วยกันตกแต่งเสา และธง เริ่มด้วยการหาไม้ไผ่จากในระแวกหมู่บ้านเพื่อทำตัวเสา เมื่อก่อนไม่ได้ตกแต่งให้สวยงามขนาดนี้ พอมาตอนหลังเริ่มมีการประกวดความสวยของธงแต่ละหมู่บ้าน เลยต้องเริ่มประยุกต์เพิ่มความสวยให้มากขึ้น ต้นไผ่ต้องตรง สวย นำมาขูดผิว ตกแต่งกิ่งก้าน และทาด้วยขมิ้นผงผสมน้ำให้ต้นเหลือง
ด้านบนประดับไปด้วย ผ้า ริบบิ้น และเชือกถักเป็นรูปใยแมงมุม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม และรูปอื่นๆ สมัยก่อนนั้นใช้ใบตาล หรือใบลานนำมาสานเป็นพวกรูปปลาตะเพียน หรือตะกร้อ ต่อมาพัฒนามาเป็นผ้าสี ช่วงหลังๆ เพิ่มเติมความสวยงามเข้าไปด้วยริบบิ้นหรือ โบว์ ตามยุคสมัย
โดยความหมายของสิ่งที่ผูกไว้บนเสาของธงจะสะท้อนเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน งานสานรูปลา และนก สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของท้องนา ตะกร้อเป็นการละเล่นชนิดหนึงของคนในหมู่บ้านสมัยก่อน ที่จะนิยมเล่นตะกร้อกันในช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งสิ่งที่ประดับยู่บนเสาของธงนั้นเกิดมาจากการให้เคารพบูชาท้องนาตลอดจนธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ ที่ช่วยให้ชาวบ้านกินดีอยู่ดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ บนบ่าของเสาจะเป็นรูปพญานาค เพื่อขอฝน เพื่อให้มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี ในส่วนของผ้าธงนั้น เมื่อก่อนจะเป็นผ้าดิบหรือผ้าขาวม้าแบบตามมีตามเกิด จากนั้นประดับด้วยพวงดอกไม้สวยงาม ไม่มีแบบตายตัวแล้วแต่หมู่บ้านไหนจะประยุกต์
ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีการจัดประเพณีนี้อย่างจริงจัง มีเพียงบางบ้านเท่านั้นที่จะยกธงในวันสงกรานต์ คนในหมู่บ้านเลยมาประชุมกันเพื่อหาทางอนุรักษ์ประเพณีนี้เอาไว้ จนเกิดมาเป็นประเพณียกธง วันสงกรานต์อย่างที่เห็น เมื่อก่อนกำหนดยกธงวันที่ 19 แต่เนื่องจากเห็นว่ากินเวลานานเกินไปจึงปรับมาเป็นวันที่ 17 เพื่อให้ลูกหลานที่ทำงานต่างจังหวัดได้กลับไปทำงานได้ทัน
ความสนุกของงานเริ่มด้วยการแห่ธงไปวัด ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะเตรียมเครื่องเสียง วงดนตรี สำหรับร้องรำทำเพลงตอนแห่ และจะมีผ้าป่าหางธง คือการรวบรวมเงินผ้าป่าเพื่อนำไปทำบุญที่วัด โดยเมื่อแห่มาถึงวัดจะนำเสาธงไปเตรียมยกในจุดที่จัดเตรียมไว้ให้ ส่วนผ้าธงและผ้าป่าหางธงจะนำไปเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบและนำผ้าป่ามารวมกันทุกหมู่บ้าน ส่วนผ้าธงจะนำกลับไปติดกับเสาอีกรอบ จากนั้นจะเป็นคิวของชาวบ้านเดินเข้าแถวมาพรมน้ำเสา ด้วยการนำน้ำอบใส่ขัน และใช้กิ่งมะยมประพรมไปบนเสาเพื่อความเป็นสิริมงคล ภาพที่เห็นคือการเข้าคิวเป็นขบวนรถไฟ ไม่มีการแย่งกัน แสดงถึงความสามัคคีของคนทุกหมู่บ้านอย่างแท้จริง
จากนั้นรอพระสวด ให้พร และรอสัญญานจากวัดเพื่อแข่งกันยกธง เมื่อถึงเวลา ใครยกธงขึ้นเสร็จก่อน จะถือว่าเป็นผู้ชนะ โดยแต่ในละหมู่บ้านจะส่งผู้ชาย หรือคนที่แข็งแรงมาเป็นคนยก โดยความสนุกจะเป็นในช่วงที่ต้องแข่งกันยก ใครวางแผนมาดี ยกเสาธงขึ้นและปักหลักให้แน่นเป็นหมู่บ้านแรกก็จะชนะไป แต่การแข่งขันนี้ไม่ได้มีรางวัล สิ่งที่ได้คือความสามัคคีและความภูมิใจในธงของหมู่บ้านตนเท่านั้น
หลังจากยกธงเสร็จแล้ว ไม้ไผ่ส่วนที่เป็นเสาจะถูกมอบให้วัดนำไปใช้ประโยชน์ และผ้าธงที่มีความสวยงามจะถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งสำหรับงานวัดครั้งต่อๆ ไป
ประเพณีนี้ เป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านต่างเฝ้ารอให้มาถึง นอกจากความสนุกสนานแล้ว ความสุขที่เกิดจากคนในครอบครัวได้กลับมาพร้อมหน้า พูดคุย และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมกัน ดูจะเป็นความสุขแท้จริงที่ซ่อนอยู่ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ กับสีสันงานประเพณีแบบนี้แหละ คือรากฐานของรอยยิ้มในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาอย่างแท้จริง
สำหรับงานประเพณียกธง บ้านเบญพาดนั้นจะถูกจัดขึ้นในทุกปี ถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนใจแวะมาเยี่ยมชม เตรียมหาวันว่างสำหรับสงกรานต์ปีหน้า แล้วแวะมาที่บ้านเบญพาดกันได้เลย
ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)