10 ทศพิธราชธรรม – ธรรมที่พ่อสอน (อาชชวะ)
Secret ขอน้อมนำ ทศพิธราชธรรมข้อที่ 4 (อาชชวะ) มาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการครองตนเพื่อความสุขแบบพอเพียง
4. อาชชวะ
ความซื่อตรงสุจริต
“…ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็ก ๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาดที่เจริญมั่นคง…”
พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ ในหนังสือวันเด็ก ปี พ.ศ. 2531
อาชชวะ หมายถึง ความซื่อตรงความสุจริต ความจริงใจ ดังจะเห็นได้จากความซื่อตรงต่อพระองค์เอง ต่อหน้าที่ และต่อประเทศชาติมาโดยตลอดศาสตราจารย์พิเศษทองต่อ กล้วยไม้ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยกล่าวไว้ในหนังสือ ชีวิตของพ่อ ว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมสม่ำเสมอ นอกจากจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แล้ว ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวาย ทรงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนำกลับคืนประชาชนส่วนรวม แม้จะทรงมีอภิสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษีอากร แต่ทรงไม่ใช้อภิสิทธิ์นี้ ทรงเต็มใจเสียสละให้เจ้าหน้าที่เก็บภาษี 100%เท่ากับประชาชนทั่วไป”
ในหนังสือ ธรรมดีที่พ่อทำ เล่าถึงเรื่องความซื่อตรงต่อกฎกติกาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า
“ครั้งหนึ่งในการแข่งขันเรือใบ…ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นกลับฝั่งและตรัสกับผู้ที่คอยมาเข้าเฝ้าฯว่า เสด็จฯกลับฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาแข่งเรือใบถือว่าผิดกติกา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น หากไม่ทรงบอกใครก็ไม่มีใครทราบการแข่งขันก็ดำเนินต่อไปได้ และท่านอาจจะเป็นผู้ชนะก็ได้ แต่ก็ทรงยึดตามกติกาทุกอย่างทำตามกติกาทุกประการ เอาความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง เพื่อให้การแข่งนั้นยุติธรรม”
ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 1 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ทาน)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ศีล)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 3 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ปริจจาคะ)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 5 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (มัททวะ)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ตบะ (ความเพียร)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 อักโกธะ (ความไม่โกรธ)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ขันติ (ความอดทน)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ (ความหนักแน่น เที่ยงธรรม)