โลกที่ไร้ความจนของ มุฮัมมัด ยูนัส
Imagine there’s no heaven
It’s easy if you try
No hell below us
Above us only sky
Imagine all the people
Living for today…
จินตนาการว่าโลกนี้ไม่มีสวรรค์
นี่เป็นสิ่งที่ง่ายดายหากคุณจะลองจินตนาการดู
โลกที่ไม่มีนรกอยู่เบื้องล่าง
สิ่งที่อยู่เหนือเราคือท้องฟ้าเท่านั้น
จินตนาการว่าคนทุกคน
มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้…
ช่วงเวลา 3.01 นาทีตลอดความยาวของเพลง อิแมจิ้น (Imagine) ทําให้คนส่วนใหญ่มองเห็นภาพโลกที่มีแต่สันติสุขได้อย่างชัดเจน โลกใบที่ว่าไม่มีสวรรค์ ไม่มีนรก ไม่มีประเทศ ไม่มีสงคราม ไม่มีความยากจน
คนจํานวนไม่น้อยพากันหัวเราะเยาะโลกในจินตนาการของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) ผู้แต่งและขับร้องเพลงนี้ ในขณะที่คนอีกจํานวนหนึ่งรู้สึกซาบซึ้งไปกับบทเพลง แต่ในใจลึกๆ แล้วกลับบอกตัวเองว่า “เป็นไปไม่ได้”
อย่างไรก็ดี มุฮัมมัด ยูนัส (Muhammad Yunus) ไม่เพียงแต่เชื่ออย่างสุดใจว่ามนุษย์สามารถสร้างโลกในจินตนาการใบนี้ขึ้นมาได้ แต่เขายังไดัเริ่มต้นสร้างโลกที่ไร้ความจนให้เราได้ประจักษ์ โดยใช้ กรามีนแบงก์ (Grameen Bank แปลว่า ธนาคารหมู่บ้าน) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อธนาคารคนจนเป็นเครื่องพิสูจน์
มุฮัมมัด ยูนัส เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ที่เมือง จิตตะกอง (Chittagong) ปัจจุบันคือเมืองใหญ่อันดับสองของบังกลาเทศ
ครอบครัวของมุฮัมมัด ยูนัส ยากจนมาก เขามีพี่น้องถึง 8 คน ในขณะที่มีพ่อเป็นคนหาเลี้ยงเพียงคนเดียว เขาได้ซึมซับความจริงข้อหนึ่งว่า “แม้ความจนจะเป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์ แต่ความจนเป็นสิ่งที่ขจัดได้ไม่ยาก หากมีการหยิบยื่นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย”
“ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย”อันดับแรกที่เขาได้รับคือ การที่พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกๆทุกคนได้เรียนหนังสือ และมอบความรักให้พวกเขาอย่างไม่มีขีดจํากัด จนทุกคนสามารถเรียนจบปริญญาตรีโดยถ้วนหน้า ทําให้มุฮัมมัด ยูนัส เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มองโลกในแง่ดีและโอบอ้อมอารีเป็นนิสัย
นอกจากนี้ เขายังได้รับความช่วยเหลือจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมไปถึง มูลนิธิฟุลไบรท์ (Fulbright Foundation) ที่ให้ทุนการศึกษาจนสามารถเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก
แน่นอนว่าเมื่อมีโอกาส ชายหนุ่มคนนี้จึงไม่รีรอที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้อื่นบ้าง
ในปีค.ศ. 1974 ขณะที่เขาหอบดีกรีดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) สหรัฐอเมริกา กลับมาเพื่อจะมาเป็นอาจารย์ใน มหาวิทยาลัยจิตตะกอง (University of Chittagong) โดยหวังว่าเขาจะเป็นกําลังสําคัญในการฟื้นฟูบ้านเกิดซึ่งเพิ่งได้รับเอกราช แต่แล้วไม่นานเขาก็รู้สึกว่างานที่ทําอยู่ไม่สามารถช่วยเหลือประเทศได้เท่าที่ควร
“ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ชั้นสูงไม่มีประโยชน์ในการสู้กับความหิวโหยและความยากจนที่บังกลาเทศกําลังเผชิญอยู่ ผมต้องการทําอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือใครสักคนได้จริงๆ แม้ว่าผมจะช่วยได้เพียงคนเดียวก็ยังดี”
มุฮัมมัด ยูนัส ได้เข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตของคนจนในหมู่บ้าน โจบรา (Jobra) ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย เขาพบว่า ผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ยินยอมให้เจ้าหนี้ซื้อตะกร้าทั้งหมดที่เธอสานด้วยราคาที่เขาเป็นผู้กําหนดเอง ทั้งๆที่เธอกู้เงินจากเขาไม่ถึง 1 ดอลลาร์ด้วยซ้ำ!
สําหรับเขา การลงชื่อในสัญญาเงินกู้ฉบับนี้คือการสมัครเป็น“ทาส”นั่นเอง เขาจึงตัดสินใจเสนอเงิน 27 ดอลลาร์ให้ผู้หญิง 42 คนกู้ยืมแทน ปรากฏว่าลูกหนี้หมาดๆ ของเขาพากันดีอกดีใจกันยกใหญ่
“ในเมื่อเงินเพียงเล็กน้อยยังทําให้คนดีใจมากมายขนาดนี้ แล้วทําไมเราจึงไม่ออกเงินกู้ให้มากขึ้นล่ะ” คิดได้ดังนี้เขาจึงตัดสินใจออกหน้าไปเจรจากับธนาคารหลายๆ แห่งให้ยอมปล่อยเงินกู้แก่คนยากจน ทว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนยินยอม
อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ของมุฮัมมัด ยูนัส ไม่เคยเบี้ยวหนี้ อีกทั้งไม่เคยจ่ายเงินคืนช้ากว่ากําหนดด้วย เขาจึงเป็นฝ่ายไปขอกู้เงินจากธนาคาร และนําเงินนั้นมาให้คนจนกู้อีกต่อหนึ่ง โดยลูกหนี้กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง
ไม่นานนัก“ธนาคารมุฮัมมัด ยูนัส”ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างนี้เขาต้องเผชิญกับการต่อต้านจากหลายฝ่าย เช่น จากบรรดาสามีที่รู้สึกว่าตนเองสูญเสียความสําคัญไป พรรคการเมืองซ้ายจัดกล่าวหาว่าเขากําลังนําทุนนิยมมาล้างสมองคนจน ส่วนพรรคการเมืองขวาจัดก็กล่าวหาว่ากรามีนแบงก์คือคอมมิวนิสต์รูปแบบใหม่
มุฮัมมัด ยูนัสไม่เคยท้อถอยกับปัญหาเหล่านี้ และได้พยายามเจรจากับหลายๆ ฝ่ายจนสามารถก่อตั้งกรามีนแบงก์ได้สําเร็จในปีค.ศ. 1983 ปัจจุบันธนาคารแห่งนี้มีสาขามากกว่า 2,600 สาขา มีพนักงานมากกว่า 28,000 คน แต่ละเดือนธนาคารจะปล่อยเงินกู้ราว 100 ล้านดอลลาร์(อัตราการกู้เงินเฉลี่ยคนละ 100 ดอลลาร์) และมีอัตราในการจ่ายเงินคืนสูงถึงร้อยละ 99 ซึ่งมีเสถียรภาพกว่าธนาคารทั่วไปมาก
ที่สําคัญ กรามีนแบงก์เป็นธนาคารที่ไม่ได้ให้แต่เงินเท่านั้น แต่เน้นการให้“ปัญญา” เป็นสําคัญ
ทุกสัปดาห์ลูกค้าของกรามีนแบงก์จะต้องรวมตัวกันเพื่อรอพบปะกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ซึ่งจะคอยแนะนําวิธีการทําธุรกิจและให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่พวกเขา เช่น สอนวิธีการเก็บออมเงิน การปลูกพืชสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือน การชี้ให้เห็นความสําคัญของการศึกษา ฯลฯ
ต่อมา มุฮัมมัด ยูนัสได้ขยายขอบข่ายในการทําธุรกิจของกรามีนแบงก์ไปยังธุรกิจอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ก่อตั้ง กรามีนโฟน (Grameen Phone) เพื่อให้คนจนมีโอกาสเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยยกระดับความภาคภูมิใจในชีวิตและลดปัญหาอาชญากรรม ในที่สุดกรามีนโฟนก็กลายเป็นบริษัทมือถือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้เขายังจับมือกับ Danone บริษัทอาหารนมสัญชาติฝรั่งเศส เพื่อก่อตั้งบริษัท Grameen– Danone ผลิตนมเปรี้ยวจําหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็ก และก่อตั้งบริษัท Grameen Energy เพื่อบุกเบิกการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ
ในอนาคต เมื่อบริษัทเหล่านี้มีความมั่นคง มุฮัมมัด ยูนัสวางแผนที่จะขายหุ้นให้แก่ลูกค้าของธนาคาร นั่นหมายความว่า ลูกค้าของเขาจะกลายมาเป็นเจ้าของบริษัท
กรามีนแบงก์ช่วยลดอัตราความยากจนของบังกลาเทศจากร้อยละ 74 ในปีค.ศ. 1974 เหลือเพียงร้อยละ 40 ในปีค.ศ. 2005 และกลายเป็นธนาคารต้นแบบที่กว่า 100 ประเทศนําไปใช้แก้ปัญหาความยากจน ในปีค.ศ. 2006 คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้พิจารณาให้มุฮัมมัด ยูนัสและกรามีนแบงก์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปครอง
ณ วันนี้ มุฮัมมัด ยูนัส ในวัย 78 ปียังคงทํางานหนักทุกๆ วันเพื่อหยิบยื่นโอกาสให้คนจนสามารถทําธุรกิจและดูแลตัวเองได้ รวมทั้งกระตุ้นให้บริษัทชั้นนําหันมาลงทุนทําธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาให้เพื่อนร่วมโลก แทนที่จะสะสมความมั่งคั่ง
โลกแห่งอนาคตในความฝันของเขาคือโลกที่มนุษย์แบ่งปันทุกสิ่งร่วมกัน ไม่ต่างจากเพลง อิแมจิ้น แม้แต่น้อย
You may say I’m a dreamer
But I’m not the only one
I hope someday you’ll join us
And the world will live as one
คุณอาจบอกว่าฉันเป็นเพียงคนช่างฝัน
แต่ฉันไม่ใช่คนคนเดียวที่ฝันเช่นนี้
ฉันหวังว่าสักวันคุณคงมาร่วมฝันกับเรา
และเมื่อนั้นโลกทั้งใบจะรวมเป็นหนึ่งเดียว
Secret Box
The only place where poverty should be is in the museums.
ความยากจนควรอยู่ก็แต่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น– มุฮัมมัด ยูนัส
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ apbspeakers.com
บทความน่าสนใจ