เดินตามรอยวิถีประหยัด

ดำเนินตามรอยวิถีประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

ดำเนินตามรอยวิถีประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้นจะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้าการประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้นยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้ปวงชนชาวไทยในทุกด้าน แม้พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่พระราชจริยวัตรของพระองค์นั้นแสนเรียบง่าย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าว่า เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตั้งกระป๋องออมสินไว้กลางที่ประทับ ตรัสว่านี่คือ “กระป๋องคนจน” แล้วทรงสอนให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสามพระองค์ประหยัดอดออมเพื่อนำเงินส่วนที่เหลือมาใส่กระป๋องใบนี้

เมื่อถึงสิ้นเดือนจะทรงเรียกประชุมทั้งสามพระองค์ว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์อะไร หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจนอย่างไร

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ตามรอยพระยุคลบาท ครูแห่งแผ่นดิน” ความตอนหนึ่งว่า

“พระองค์ทรงไม่ยึดติดกับวัตถุ ทรงประหยัดมาก คงเคยเห็นภาพหลอดยาสีฟัน พระองค์ทรงบีบหลอดยาสีฟันจนลีบ มหาดเล็กเชิญออก นำหลอดใหม่มาวาง ทรงมีรับสั่งให้นำกลับมา แล้วรับสั่งกับทันตแพทย์ว่า ที่เหลืออยู่นี้ฉันใช้ต่อได้อีก 5 วัน”

นอกจากนี้นายศรไกร แน่นศรีนิล หรือช่างไก่ เจ้าของร้าน ก. เปรมศิลป์ เล่าในหนังสือ-พิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ว่าในปี 2545 เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังท่านหนึ่งที่รู้จักกันนำฉลองพระบาทสีดำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาให้ตนซ่อมเป็นครั้งแรก โดยสภาพฉลองพระบาทที่นำมาซ่อมนั้นภายในชำรุดหลุดล่อนไปหลายส่วน

ตอนแรกตนรู้สึกประหม่า เกรงจะทำได้ไม่ดี จึงได้ก้มกราบฉลองพระบาท บอกตัวเองว่าโชคดีที่สุดแล้วที่มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท จากนั้นจึงลงมือซ่อมแซมฉลองพระบาทคู่นั้นจนเสร็จสมบูรณ์

ต่อมาช่างไก่ได้มีโอกาสซ่อมฉลองพระบาทถวายอีก 4 คู่ สามคู่แรกคือฉลองพระบาทลำลองซ้ายที่ถูกคุณทองแดงกัดขาดฉลองพระบาทคัตชูส์ผูกเชือกสีดำที่ถูกส่งมาแปะแผ่นกันลื่น และฉลองพระบาทบู๊ตที่ถูกส่งมาเปลี่ยนยางยึดด้านข้างและจัดทรงใหม่

ฉลองพระบาทคู่ที่สี่ถูกส่งมาซ่อมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2546 เป็นฉลองพระบาทบู๊ตสั้น ต้องเปลี่ยนพื้นด้านล่างทั้งสองข้างเพิ่งซ่อมเสร็จวางอยู่บนพานรองผ้าดิ้นทองตั้งไว้บนที่สูง

วันรุ่งขึ้นประชาชนที่อ่านข่าวแห่มาขอชมฉลองพระบาทคู่ดังกล่าว ทุกคนบอกแก่ผู้สื่อข่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อ่านข่าวนี้แล้วตื่นเต้น ได้เห็นถึงพระราชจริยวัตรอันเป็นต้นแบบของความประหยัด ฉลองพระองค์ที่ชำรุดก็ไม่ทรงทิ้งขว้าง รับสั่งให้ซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ สมควรที่คนไทยจะยึดเป็นแบบอย่าง

แม้พระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อพสกนิกรของพระองค์มากมาย แต่ห้องทรงงานของพระองค์กลับไม่ได้ประดับตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์หรูหราราคาแพงอย่างที่ใครหลายคนคิด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเคยมีพระราชดำรัสว่า

“สำนักงานของท่านคือห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น และท่านก็ก้มทรงงานอยู่กับพื้น”

โต๊ะทรงงานของพระองค์คือโต๊ะเตี้ย ๆ กับเบาะวางกับพื้นห้อง รอบพระองค์คือเครื่องใช้สอยที่ทรงใช้ประจำในพระราชกิจวางอยู่ในรัศมีที่ทรงเอื้อมถึง ซึ่งเป็นเครื่องใช้สอยที่ไม่ได้มีความหรูหราใด ๆ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชจริยวัตรที่มัธยัสถ์ และประหยัดอดออม แต่พระองค์ทรงทุ่มเทอย่างเต็มที่ทั้งกำลังพระวรกายและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือ “ครองใจคน” โดย อมิตา อริยอัชฌา

เว็บไซต์สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น


บทความที่น่าสนใจ

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงปู่ฝั้น อาจารโร

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เจลลี่พระราชทาน อาหารพระราชทาน จากน้ำพระทัยของในหลวง ร.9

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.