ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในหลวงรัชกาลที่ 9 – พระราชาผู้เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพด้าน ดนตรี

ในหลวงรัชกาลที่ 9 – พระราชาผู้เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพด้านดนตรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสนพระราชหฤทัยด้าน ดนตรี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

พระองค์ทรงฝึกหัดดนตรีตั้งแต่มีพระชนมพรรษา 10 พรรษา เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงเล่น คือ หีบเพลง และทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อพระชนมพรรษา 13 พรรษา ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทรงศึกษาเครื่องเป่าชนิดต่าง ๆ ดังความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าถึงการเรียนและเล่นดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า

“…สิ่งที่ทรงเล่นมาด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรีรัชกาลที่ 8 ทรงเริ่มด้วยเปียโน เพราะเห็นข้าพเจ้าเรียนอยู่รัชกาลที่ 9 ขอเล่นหีบเพลง (accordion) เรียนอยู่ได้ไม่กี่ครั้งก็ทรงเลิก ‘เพราะไม่เข้ากับเปียโน’ แล้วรัชกาลที่ 8 ก็ทรงเลิกเรียนเปียโนไป เมื่ออยู่ที่อาโรซ่าเวลาหน้าหนาวได้ทอดพระเนตรวงดนตรีใหญ่ที่เล่นอยู่ที่โรงแรม รู้สึกอยากเล่นกันทรงหาแซกโซโฟนที่เป็นของใช้แล้วมาได้ในราคา 300 แฟรงค์แม่ออกให้ครึ่งหนึ่งและสโมสรปาตาปุมออกให้อีกครึ่งหนึ่ง

เมื่อครูมาสอนที่บ้าน รัชกาลที่ 8 ทรงดันพระอนุชาเข้าไปในห้องเรียน รัชกาลที่ 9 จึงเป็นผู้เริ่ม เมื่อเรียนไปแล้ว 2 - 3 ครั้ง รัชกาลที่ 8 ทรงซื้อแคลรีเน็ตส่วนพระองค์ วันเรียนครูสอนองค์ละ 30 นาที แล้วครูก็เอาแซกโซโฟนของเขาออกมาเล่นด้วยกันทั้งสามเป็นทรีโอ เล่นอยู่เช่นนี้ 6 เดือน พระอนุชาก็เข้าไปอยู่ที่โรงเรียนประจำ แต่ก็ยังเรียนอยู่โดยขี่จักรยานลงมาที่ร้านที่ครูสอนอยู่ ระหว่างปีสองปีนี้ได้ทรงซื้อแคลรีเน็ตราคา 200 แฟรงค์ และต่อมารัชกาลที่ 8 ก็ทรงซื้อแซกโซโฟนเก่า แล้วเพื่อนของรัชกาลที่ 8 ได้มาสอนเปียโนให้…”

พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงฝึกตามแบบฉบับการศึกษาวิชาดนตรีอย่างแท้จริง โดยฝึกตามโน้ตและการบรรเลงเพลงคลาสสิก ทั้งที่โปรดทรงดนตรีแจ๊ซ แต่ก็ยังทรงฝึกทางคลาสสิกด้วย เมื่อทรงฝึกดนตรีขั้นพื้นฐานพอสมควร จึงเริ่มทรงดนตรีไปในทางแจ๊ซ ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียงและทรงศึกษาฝีมือการเล่นดนตรีจากแผ่นเสียงที่บรรเลงโดยนักดนตรีเหล่านั้น ทรงหัดเป่าแซ็กโซโฟนกับเพลงจากแผ่นเสียงของวงดนตรีระดับโลก เช่น สไตล์การเป่าโซปราโนแซ็กโซโฟนของ Sidney Bechet อัลโตแซ็กโซโฟนของ John Hodges เป็นต้น

พระองค์โปรดดนตรีแจ๊ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Dixieland Jazz แจ๊ซเป็นดนตรีที่ให้อิสระแก่ผู้บรรเลงในการแต่งทำนองขึ้นใหม่ พระองค์ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกวง ทรงเข้าร่วมบรรเลงกับวงดนตรีนั้น ๆ ได้ไม่ว่าวงดนตรีนั้นเล่นแนวใด สำหรับวงแจ๊ซยังทรงดนตรีได้ทั้งชนิดที่มีโน้ตและไม่ต้องมีโน้ต เมื่อถึงตอนเดี่ยว พระองค์มีพระราชปฏิภาณไหวพริบเล่นเดี่ยวได้อย่างยอดเยี่ยม ศัพท์ทางดนตรีเรียกว่า การเดี่ยวแบบ ad lib. ซึ่งถือว่ายากมาก เพราะนักดนตรีต้องสร้างสรรค์ขึ้นโดยฉับพลัน

แต่ให้อยู่ในกรอบของจังหวะและแนวเพลงนั้น

พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ถึงขั้นที่ทรงสามารถบรรเลงตอบโต้ได้อย่างสนุกสนานครื้นเครงกับนักดนตรีต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Benny Goodman นักดนตรีแคลริเน็ตฝีมือชั้นยอด Jack Teagarden นักตีระนาดเหล็กสากล Lionel Hampton นักเป่าทรัมโบน Stan Getz นักเป่าเทเนอร์แซ็กโซโฟน

เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2503 นักดนตรีฝีมือระดับโลกเหล่านี้ล้วนถวายการยกย่องพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็น นักดนตรีแจ๊ซผู้มีพระอัจฉริยภาพยิ่ง

ในหนังสือดนตรี กีฬาศิลปะพ่อหลวงของแผ่นดิน” เขียนไว้ว่า มีนักข่าวชาวอเมริกันคนหนึ่งกราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊ซจริงหรือไม่ และโปรดดนตรีประเภทใดมากที่สุด พระองค์มีพระราชดำรัสตอบว่า

ดนตรีแจ๊ซเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่แจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคนเป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภทเพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างมีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป

“…ถ้าหากว่าข้าพเจ้าต้องเล่นเพลงแจ๊ซก็ดีกว่า เพราะว่าข้าพเจ้าเล่นทำนองได้ตามใจชอบ ตามที่รู้สึกได้ในขณะนั้นตามแต่อารมณ์และความนึกคิดของข้าพเจ้าจะพาไป ถ้าใครมาทำเสียงดังในขณะนั้น ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นเสียงประกอบและถ้าข้าพเจ้าเล่นผิดโน้ตก็เท่ากับข้าพเจ้าแต่งทำนองนั้นขึ้นเองในปัจจุบัน”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างแน่นแฟ้น พระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ในนานาประเทศ ดังจะเห็นจากการที่ทรงเข้าร่วมบรรเลงกับวงดนตรีของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน

ต่อมาเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยือนกรุงเวียนนาประเทศออสเตรียอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 วงดนตรี N.Q. Tonkunstler Orchestra แห่งกรุงเวียนนา ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดมโนราห์สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน และมาร์ชราชวัลลภออกบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2507 พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ออกอากาศและเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ

หลังจากนั้น 2 วัน สถาบันตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาได้ถวายพระเกียรติให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลขที่ 23 ขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 37 พรรษา นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชียทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชปรารภว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากลที่สามารถขจัดอุปสรรคทางภาษา วัย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะภาษาดนตรีสามารถสื่อความหมายให้ทุกคนเข้าใจเป็นอย่างเดียวกันได้ ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน แม้ว่าเป็นคนละชาติคนละภาษา หรือต่างศาสนา”

เสียงดนตรีของพระองค์ไม่เพียงแต่สร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้แก่ชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังคงเป็นสื่อให้ชาวโลกรับรู้และยกย่องพระองค์ในฐานะกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพรอบด้าน ยากจะหากษัตริย์พระองค์ใดเสมอเหมือน

 

ขอขอบคุณหนังสือ

ดนตรี กีฬา ศิลปะ พ่อหลวงของแผ่นดิน, เอกกษัตริย์อัจฉริยะ, พระราชอัจฉริยภาพอัครศิลปิน,                          เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์, สื่อสารสัมพันธ์ในหลวงสู่ปวงประชา, ในหลวงของปวงไทย

เรื่อง เชิญพร คงมา

ขอบคุณภาพจาก http://www.komchadluek.net

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.