ถาม : มี เจ้านายปากเปราะ มักตำหนิลูกน้องด้วยถ้อยคำแรงๆ เสมอ เคยคิดจะลาออกหลายครั้ง แต่ก็ผูกพันเพราะอยู่กันมานานหลายปี ไม่รู้จะมีวิธีทำใจอย่างไรจึงจะมีภูมิคุ้มกันจากการถูกเรียกไปตำหนิอยู่บ่อย ๆ บางทีเจ้านายตำหนิแล้วเขาก็ลืม แต่เราเสียศูนย์ไปทั้งวันค่ะ
ท่าน ว. วชิรเมธีได้ตอบปัญหาไว้ดังนี้
ตอบ : ความจริงการที่คุณอยู่กับเจ้านายมาได้นานจนเกิดความ “ผูกพัน” ก็นับว่ามีภูมิคุ้มกันพอตัวทีเดียว ในโลกนี้มีใครบ้างที่ไม่ถูกตำหนิ/ติฉิน/นินทา/บริภาษ ไม่ทราบคุณเคยได้ยินกวีนิพนธ์ในทำนองนี้บ้างหรือไม่
“เกิดเป็นคนก็ต้องทนให้เขาด่า
จะทำดีทำบ้าเขาด่าหมด
ถ้าทำดีเขาก็ด่าว่าไม่คด
ทำเลี้ยวลดเขาก็ด่าว่าไม่ตรง”
หรืออีกสักบทหนึ่ง
“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
ถึงองค์พระปฏิมายังราคิน
มนุษย์เดินดินหรือจะพ้นคนนินทา”
คุณคงไม่ใช่คนพิเศษที่จะอยู่เหนือคำนินทา/บริภาษ/วิพากษ์วิจารณ์แน่ ๆ เพราะเราต่างก็เป็น “มนุษย์เดินดิน” ด้วยกันทั้งนั้น ไม่แปลกหรอกที่เราหนีไม่พ้น “โอฐภัย” ในเมื่อเราหนีไม่พ้นกันอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองหาวิธีรับมือกับโอฐภัยโดยลองเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขดูบ้างล่ะ
ผู้เขียนเองมีวิธีทำใจยามถูกใครตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวคือ นอกจากจะบอกตัวเองว่า “ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ” แล้ว ก็ยังนิยมปล่อยให้ “อัตตา” (ตัวฉัน) ถูกเขาชำแหละอย่างหมดเปลือกอย่างสงบอีกด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นแฟนรายการโทรทัศน์ของผู้เขียนโทรศัพท์มาชมก่อน จากนั้นท่านก็วิจารณ์ว่าผู้เขียนพูดเร็วเกินไป กิริยาท่าทางน่าจะเรียบร้อยกว่าที่เป็นอยู่นี้ ฯลฯ ในระหว่างที่ฟังนั้น ผู้เขียนสังเกตใจตัวเองว่ามี “อาการ” อย่างไรบ้างหรือเปล่า ฟังไป สังเกตไป ก็เห็นแต่ใจที่นิ่งฟังอย่างสงบ ไม่ตื่น ไม่ “ปกป้อง” มีแต่นึกขอบคุณเจ้าของคำวิจารณ์อย่างตระหนักในพระคุณและเคารพในวิจารณญาณ
เมื่อฟังจบแล้วก็เลยได้กำไร เพราะจู่ ๆ ก็มี “กระจกวิเศษ” มาช่วยส่องให้เราเห็นข้อบกพร่องหรือตำหนิบนใบหน้าของเราได้อย่างชัดเจน
แต่คนส่วนใหญ่เวลามีใครมาตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ โดยมากมักทนฟังได้ไม่จบ หรือฟังไปก็ไม่รู้เรื่อง เพราะโกรธเสียก่อน บางคนยิ่งกว่านั้น พานรู้สึกไม่ดีกับคนที่มาวิจารณ์ คนที่มาตำหนิตัวเองไปทั้งชีวิต จากคนที่เคยเคารพนับถือกันมาอยู่ดี ๆ บางทีพอผ่านชั่วโมงแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว กลายเป็น “คนอื่น” ของกันและกันในทางความรู้สึกไปเลยทั้งชีวิต
สำหรับผู้เขียน เวลาใครตำหนิ เวลาใครวิจารณ์ ผู้เขียนจะ “ไม่สงสารตัวเอง” แต่จะปล่อยให้ตัวเอง (อัตตา) ยืนรับคำตำหนิวิพากษ์นั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลบ ไม่ปฏิเสธห่าฝนแห่งถ้อยคำเหล่านั้น แต่ยืนรับมันอย่างซื่อสัตย์ พยายามใส่ใจฟังอย่างลึกซึ้งที่สุด (deep listening) และประการสำคัญคือ ไม่พยายามปกป้องตัวเองจากคำกล่าวหาใด ๆ เลย ทำเพียงแต่ “ตั้งใจฟัง” อย่างดีที่สุดตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นจึงใช้สติแยกแยะถูกผิดให้ชัดเจน สิ่งไหนที่ดีก็ฟังไว้ หรือไม่ก็ขอบคุณผู้วิจารณ์ สิ่งไหนที่เกินความจริง ไม่เป็นความจริง ก็หาโอกาสชี้แจงแสดงเหตุผลโดยไม่ใช้อารมณ์ ฟังดูอุดมคติไปหน่อยไหม แต่นี่คือประสบการณ์ตรงที่ใช้ได้ผลอยู่จนทุกวันนี้
หากเราตั้งใจฟัง “เสียงจากผู้อื่น” จริง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะพบว่า การเป็นผู้ฟังนั้นได้กำไรมากกว่าการเป็นผู้พูดเป็นไหน ๆ สรุปง่าย ๆ ในการรับมือกับคำตำหนิของเจ้านายปากคอเราะร้ายก็คือ
-อย่าคิดว่าตนเป็นคนวิเศษ ไม่มีใครในโลกที่ไม่ถูกตำหนิ
-อย่าเพิ่งรีบปกป้องตัวเอง (เช่น เถียงสวนขึ้นมาทันควัน) แต่จงฟังอย่างลึกซึ้งด้วยสติ
-เปลี่ยนเสียงระคายเคืองโสตประสาทเป็นโอกาสในการแสวงปัญญา
-อย่าสงสารตัวเอง แต่จงสอนตัวเองจากคำของคนอื่นอยู่เสมอ
-ถ้าผิดจริงก็ตั้งต้นแก้ไข อย่าพยายามแก้ตัว
ที่มา : ธรรมะคลายใจ – ว. วชิรเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ