พุทธศิลป์สอนธรรม จิตรกรรมแห่ง “ศรัทธา” จากอดีตกาล

เชื่อว่าชาวพุทธส่วนใหญ่เคยเห็นภาพ จิตรกรรม ฝาผนังเมื่อเข้าไปในวิหารหรือพระอุโบสถ แต่น้อยคนนักที่ใช้เวลาพิจารณาภาพอย่างเข้าใจว่าศิลปะเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงเครื่องประดับตกแต่ง แต่หมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการสอนด้วยวาจา สะท้อนให้เห็นถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่บรรพชนฝากฝังมาตั้งแต่อดีต

เรื่อง อุราณี ทับทอง ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

ภาพเขียนทศชาติชาดก ตอน เนมิราชชาดก ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร

ฝีมือวิจิตรบรรจงของครูทองอยู่ ปรากฏฉากพระเนมิราชทรงแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา

มากกว่าศิลปะ

ภาพจิตรกรรมที่ปรากฏตามผนังวิหารและพระอุโบสถเรียกว่า จิตรกรรมแบบไทยประเพณี” หมายถึง จิตรกรรมที่เขียนเรื่องราวปรัมปราคติในพุทธศาสนา ใช้สีฝุ่นตามกรรมวิธีของช่างเขียนไทยแต่โบราณ มีสีสันงดงาม การเขียนตัวพระตัวนางแบบนาฏยลักษณ์ อ่อนช้อย แตกต่างจากตัวประกอบอื่น ๆ ที่สมจริงกว่า ภาพวิวทิวทัศน์แตกต่างจากงานจิตรกรรมตะวันตกที่มีการผลักระยะ หรือมีแสงเงาเสมือนจริง

            รศ. ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายถึงความสำคัญของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในศาสนสถานว่า ภาพเขียนเหล่านี้คือการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อทางพุทธศาสนาของคนในสมัยที่สร้างเมื่อหลายร้อยปีก่อน

            “วิหารและพระอุโบสถในวัดเก่าแก่หลายแห่งปรากฏภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องในพุทธศาสนาอันแฝงด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยนิยมที่แตกต่างจากปัจจุบันที่ชัดเจนที่สุดก็คืออาคารบ้านเรือนอย่างเรือนไทยที่หายไปหรือปราสาทราชวังที่ไม่ค่อยได้เห็นรวมถึงลักษณะการแต่งกาย

            “สังเกตได้ว่าจิตรกรรมไทยเก่าแก่เราแทบไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนเขียนเพราะในยุคสมัยนั้นไม่มีการอวดตนหรือแสดงให้เห็นว่าเป็นผลงานของปัจเจกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นการอุทิศแด่พระพุทธศาสนา ดังนั้นแรงบันดาลใจหลักของพวกเขาก็คือความเชื่อถือและความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาทั้งต่อตัวผู้อุปถัมภ์และตัวผู้เขียนเองด้วย”

ส่วนช่างเขียนในอดีต แบ่งเป็นช่างหลวงและช่างพื้นบ้าน ซึ่งมีฝีมือประณีตแตกต่างกัน แต่สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างมีชีวิตจิตใจและสะท้อนเรื่องราวได้เช่นกัน

รศ. ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง นักประวัติศาสตร์ศิลป์

คตินิยมตามสมัย

จิตรกรรมฝาผนังวิหารและพระอุโบสถเกี่ยวข้องกับคติพุทธศาสนาโดยตรง รศ. ดร.รุ่งโรจน์เล่าว่า จากหลักฐานที่เหลืออยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงยุคร่วมสมัย พบว่า เรื่องราวทางพุทธศาสนาที่ถูกหยิบยกมาเขียนผันแปรไปมาตามความนิยมของแต่ละช่วงเวลา เช่น

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

สมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวอย่างเนื้อหาหลักที่นิยมนำมาเล่าคือ เรื่อง “ทศชาติชาดก” หรืออดีตชาติของพระพุทธเจ้าใน 10 ชาติสุดท้าย แสดงบำเพ็ญมหาบารมีก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย เตมิยชาดก บำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือการออกบวช มหาชนกชาดก วิริยบารมี แสดงความเพียรอันแรงกล้า สุวรรณสามชาดกแสดงเมตตาบารมี เนมิราชชาดก แสดงอธิษฐานบารมี มโหสถชาดก แสดงปัญญาบารมี ภูริทัตชาดก แสดงศีลบารมี จันทกุมารชาดก แสดงขันติบารมี มีความอดทนเป็นที่ตั้ง มหานารทกัสสปชาดก แสดงอุเบกขาบารมี วิธุรชาดก แสดงสัจจบารมี ถือความสัตย์ ยอมสละชีวิตได้ และ มหาเวสสันตรชาดก แสดงทานบารมี

เหล่านี้คือคตินิยมดังที่พบเห็นได้มากในงานจิตรกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่บางแห่งอาจเล่าถึงพุทธประวัติด้วยอาจคัดเฉพาะฉากเด่น ๆ มาถ่ายทอด เช่น ครั้งประสูติ ตรัสรู้  ปฐมเทศนา ปรินิพพาน หรือแสดงปาฏิหาริย์ อาจสอดแทรกเรื่องราวในเชิงปรัมปราคติ เช่น เรื่องของเทพยดาหรือเทวดาบนสวรรค์ทำท่าประนมมือ เรียกว่า “เทพชุมนุม” หรือ “เทพพนม” มักปรากฏบริเวณผนังส่วนบนทั้งสองด้านขององค์พระประธาน

ฉากเรือแตกจากทศชาติชาดกตอน มหาชนกชาดก ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร  

แสดงการบำเพ็ญเพียรบารมีของพระมหาชนก ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมหลากหลายมากขึ้น นิยมเขียนทั้งพุทธประวัติและทศชาติชาดก แต่มุ่งเน้นถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแตกต่างกันไป เช่น วัดเครือวัลย์วรวิหาร ในเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดขนาดใหญ่ จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธชาดกไว้ทั้ง 500 ชาติ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มีการเขียนภาพลายเครื่องบูชาและสิ่งมงคลแบบจีนมาบูชาพระพุทธเจ้าตามคตินิยมจีน ที่เริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดธรรมยุติกนิกายซึ่งเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เรื่องราวบนจิตรกรรมฝาผนังจึงมุ่งหมายสั่งสอนสงฆ์ให้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เช่น การปลงอสุภกรรมฐาน 10 ประการ พิจารณาซากศพ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระสูตร ได้แก่ ซากศพที่เน่าพองขึ้น ซากศพที่มีสีเขียว ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออก ซากศพที่ขาดกลางตัว ซากศพที่แร้งกาสุนัขยื้อแย่งกัดกินแล้ว ซากศพที่มือเท้าและศีรษะขาดไปอยู่คนละทาง ซากศพที่ถูกสับบั่นเป็นท่อน ๆ ซากศพที่ถูกฟันด้วยศัสตราวุธมีโลหิตไหลอาบอยู่ ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำอยู่ และซากศพที่มีแต่ร่างกระดูก

ภาพจิตรกรรมพระสงฆ์ปลงอสุภะอาจดูน่ากลัว แต่แฝงด้วยหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เมื่อยามมีชีวิตดูสวยสดงดงามแต่สุดท้ายก็กลายเป็นซากศพ เป็นของน่าเกลียดโสโครก ช่วยฝึกจิตใจเพื่อมุ่งกำจัดราคะ ระงับอารมณ์ใคร่และกามารมณ์ ภาพเขียนลักษณะนี้มีให้ชมหลายแห่ง เช่น วัดโสมนัสราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปรากฏบนผนังสองด้านของพระประธาน

คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ฉากหลังพระประธานมักปรากฏเรื่องภูมิจักรวาลในคติพุทธศาสนา

แสดงเหตุการณ์พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา

ฉากสำคัญ

ภาพจิตรกรรมที่ช่างเขียนในอดีตให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ ผนังด้านหลังพระประธานที่มักเขียนเรื่อง “ภูมิจักรวาลในคติพุทธศาสนา” โดยให้ความสำคัญแก่เขาพระสุเมรุซึ่งวาดไว้ตรงกลาง ยอดเขาพระสุเมรุเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของพระอินทร์ มีภูเขาเจ็ดลูกคือ “เขาสัตตบริภัณฑ์” ล้อมรอบ มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรหมุนรอบ เบื้องล่างมักวาดชมพูทวีปอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์โลก

“ภาพภูมิจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางเป็นภาพความเชื่อของคนในอดีตที่พยายามอธิบายว่าโลกเราเป็นอย่างไร และในจักรวาลนี้ก็เป็นที่เวียนว่ายตายเกิด ตั้งแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน อสุรกาย ไปจนถึงมนุษย์ เทวดา พรหม ตราบใดที่ยังไม่เข้าสู่พระนิพพานก็ยังต้องวนเวียนอยู่อย่างนี้” รศ. ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ส่วนผนังด้านตรงหน้าพระประธานมักเขียนเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารผจญ มีทัพพญามารที่แสดงออกในรูปของผู้คนหลากหลายชนชาติหลากหลายภาษา เช่น กองทัพพญามารซึ่งมีลักษณะคล้ายยักษ์จากจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ กำลังเผชิญหน้ากับพระพุทธเจ้าที่ประทับเหนือโพธิบัลลังก์อยู่ตรงกลาง เพื่อให้รำลึกถึงช่วงเวลาที่พระองค์ตรัสรู้ เปลี่ยนจากมนุษย์ธรรมดาที่บำเพ็ญเพียรด้วยหลักขันติธรรมเพื่อดับกิเลสจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ศึกษาเพื่อเข้าถึง

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ยกตัวอย่างวัดไทยที่ชาวพุทธควรศึกษาภาพ จิตรกรรม เช่น วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเก่าแก่ที่สมบูรณ์สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์โปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์ โดยให้ช่างเขียนภาพฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกในพระอุโบสถด้วย มีผลงานของ

ช่างหลวงที่เรียกกันว่า “ครูทองอยู่” หรือหลวงวิจิตรเจษฎาผู้เขียนเนมิราชชาดกกับหลวงเสนีย์บริรักษ์ หรือ “ครูคงแป๊ะ”ผู้เขียนมโหสถชาดก ซึ่งเป็นช่างหลวงที่มีฝีมือเยี่ยมและสมบูรณ์ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3

นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจในวัดสำคัญอีกหลายแห่ง เช่น วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) กรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัด เช่น ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่วัดพุทไธศวรรย์วัดประดู่ทรงธรรม และ วัดสุวรรณดาราราม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีความหมายซ่อนอยู่ภายใต้ภาพเขียนที่งดงามแตกต่างกันไป

ภาพเขียนมโหสถชาดก ผลงานของครูคงแป๊ะ ปรากฏภาพตอนสงครามครั้งแรก 

มีทหารต่างชาติมากมายรวมอยู่ในกองทัพของพระมโหสถ 

ครูคงแป๊ะนำผู้คนร่วมสมัยในชีวิตจริงมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพชาดกเรื่องนี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า “การชมจิตรกรรมขึ้นอยู่กับความสนใจพื้นฐานของแต่ละคน ผู้ที่อยากชมจิตรกรรมฝาผนังในวัดให้สนุกหรือติดตามได้โดยไม่เบื่อ อย่างแรกคือต้องมีพื้นฐานความรู้ในทางพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด แต่สามารถรู้ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของพุทธประวัติ เรื่องนี้เป็นเรื่องของชาดก

“หากพระอุโบสถเป็นสถานที่ที่เราไหว้พระเพื่อน้อมรำลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนเพื่อจุดสูงสุดคือพระนิพพาน จิตรกรรมเหล่านี้ ก็คือการบอกเล่าถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าให้เราถือเป็นแบบอย่าง

แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถบรรลุได้ในชาตินี้ แต่ถ้าเราเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนา หมั่นสะสมบารมี วันหนึ่งเราก็จะเข้าถึงหัวใจสำคัญอันจะนำไปสู่เป้าหมายคือนิพพาน

“สำหรับคนทั่วไปอาจรู้สึกว่ายากเกินไป แค่ขอเพียงเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา รับรู้ถึงความสวยงาม หรือเข้ามาแล้วรู้สึกสบายใจ ผมว่าแค่นี้ก็คือสิ่งที่คุณได้รับกลับไปแล้ว เพราะความสงบหรือแม้เพียงชั่วขณะเดียวที่ทำให้รำลึกถึงพระพุทธศาสนาก็นับว่าน่ายินดีแล้ว”

ลองใช้เวลาเดินชมภาพจิตรกรรมให้มากขึ้นเพื่อพิจารณาถึงหลักธรรมที่แฝงอยู่อาจทำให้เราได้เรียนรู้พุทธศาสนาอย่างเข้าใจและลึกซึ้งเพราะภาพหนึ่งภาพแทนความหมายได้มากมายนัก

 

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.