จิตตก

เปลี่ยน ‘ จิตตก ‘ เป็น ‘จิตฟู’ ลดอาการ โรคซึมเศร้า ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี

เปลี่ยน ‘ จิตตก ‘ เป็น ‘จิตฟู’ ลดอาการ โรคซึมเศร้า ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี

ในยุคที่สังคมนิยมแสวงหาแต่ความสุขทางวัตถุ แต่กลับมีผู้คนเศร้าง่าย เปราะบาง และเป็นโรคซึมเศร้า โรคนี้กำลังคร่าชีวิตคนไทยทีละนิด เช่นเดียวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เผชิญกับโรคซึมเศร้า ท่าน ว.วชิรเมธี สอนถึง โรคซึมเศร้าในทางพุทธไว้เช่นนี้ โดยการเปลี่ยน จิตตก ให้เป็นจิตฟู  

ดิฉันทรมานกับการเป็น โรคซึมเศร้า มากค่ะ เป็นโรคนี้ตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ แต่คิดฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุ 15 และพยายามทำมาเรื่อย ๆ จนล่าสุดเกือบจะสำเร็จค่ะ ทรมานมาก  แต่คุณหมอช่วยชีวิตไว้ โดยส่วนตัวแล้วแม่จะพาเข้าวัดตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ พอโตขึ้นก็เข้าวัดสวดมนต์เอง มีจิตใจที่ดี แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีแต่ความเศร้าถึงขนาดคิดจะฆ่าตัวตายอยู่ตลอด ตอนนี้ดิฉันอายุ 30 แล้วก็ยังนั่งซึมและร้องไห้ทุกวัน ดิฉันไม่กล้าออกไปพบใคร ไม่ทำงานนอกบ้าน เพราะออกไปก็เจอความกดดันของสังคม  ดิฉันรับไม่ไหว  สับสนตัวเองมากค่ะ  การสวดมนต์หรืออ่านหนังสือธรรมะก็เอาไม่อยู่ ดิฉันรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวบนโลกนี้ ไม่อาบน้ำไม่สระผม อาการน่ากลัวค่ะ ดิฉันกำลังจะทำร้ายตัวเองอีกครั้ง ดิฉันกลัวว่าจะตายจริง ๆ ค่ะ ใจจริงดิฉันยังไม่อยากตาย เพราะอยากอยู่ดูแลพ่อแม่ อยากจะสร้างบ้านให้ท่าน ทำให้ท่านมีความสุขมากกว่านี้ แต่การที่ดิฉันเป็นอย่างนี้ทำให้ทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ดิฉันขอคำแนะนำเพื่อเป็นทางออกของชีวิตด้วยค่ะ 

อาการของโรคซึมเศร้านั้นคงมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ แต่สาเหตุสำคัญที่สุดก็คงมาจาก “จิต” นั่นเอง

ธรรมชาติของจิตจำเป็นจะต้องเกาะติดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ถ้าจิตเกาะติดกับอารมณ์ (เรื่องราว) ร้าย ๆ เช่น  ความทรงจำในอดีตที่ไม่ดี  ก็จะทำให้เกิดอาการ “จิตตก” เมื่อจิตตก  ผลที่ตามมาก็คือ  ความหดหู่  ท้อแท้ สิ้นหวัง เศร้าสร้อย หมดอาลัยตายอยาก ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต เกาะเกี่ยวกับใครไม่ติด มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความว่างเปล่า หนักเข้าก็อาจถึงขั้นลุกขึ้นมาทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน หากจิตเกาะเกี่ยวหรือหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ดีหรือเรื่องที่ดี ก็จะเกิดอาการที่ “จิตฟู” ขึ้นมาได้ ลักษณะของจิตฟูก็คือ เกิดความเชื่อมั่น มีกำลัง สดชื่น เบิกบาน ผ่องใส ยิ้มแย้มผ่อนคลาย เอิบอิ่ม บางคราวรู้สึกเอิบอิ่มยินดีมากก็ถึงขั้นต้องเผยอยิ้มกับตัวเองหรือร้องไห้ด้วยความปีติสุขออกมาได้

ในกรณีของคุณนั้น ผู้เขียนไม่ทราบภูมิหลังมาก่อนว่าก่อนหน้าที่จะเกิดอาการซึมเศร้านั้น คุณเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร หรือใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมแบบไหน เคยเกี่ยวข้องกับใคร

ต้องไม่ลืมว่า โรคทุกโรคล้วนมีสมุฏฐาน ในโลกนี้ไม่มีปรากฏการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นมาลอย ๆ แม้แต่เพียงเรื่องเดียว

แต่ในเมื่อคุณไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ ผู้เขียนก็คงได้แต่สันนิษฐานกว้าง ๆ เพียงว่า เป็นผลมาจากสภาพ“จิตตก” แล้วขาดการ “ยกจิต” ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

ถ้าหากข้อสันนิษฐานของผู้เขียนถูกต้อง การยกจิตก็ทำได้ โดยการที่คุณต้องฝึก “อยู่กับปัจจุบัน” ให้ได้ เพราะ“อดีต” หรือ “อนาคต” จะมีตัวตนขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเกิดการ “ครุ่นคิด” ขึ้นมาเท่านั้น ลองสังเกตดูก็ได้ เวลาที่เราฟังเพลง อาบน้ำ ทำงานหนัก หรือคุยกับเพื่อน ความคิดหมกมุ่นในอดีตหรือความกังวลต่ออนาคตจะแทรกตัวเข้ามาไม่ได้ แต่พอเราอยู่เฉยๆ เท่านั้นเอง จิตก็จะเกาะเกี่ยวเอาอดีตหรือไม่ก็ฟุ้งไปในอนาคตทันที

ทางออกในกรณีของคุณก็คือ ควรฝึกเพื่อให้จิตเกิด“สมาธิ” คือความสงบและจิตเกิดปีติสุข แล้วพักจิตอยู่กับความปีติสุขนั้น ก็จะทำให้จิตเกิดมีกำลังขึ้นมา แล้วมีความสุขจากปีตินั้นคอยหล่อเลี้ยงให้จิตมีคุณภาพใหม่ๆ เช่น แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ไม่หมกมุ่นกับความทุกข์ทั้งหลาย การที่จิตแนบอยู่กับสมาธิหรือปีติสุขเช่นนี้ จะทำให้จิตนั้นมีที่เกาะเกี่ยวในทางสูงหรือในทางบวก โอกาสที่อาการซึมเศร้าจะแทรกเข้ามาก็เป็นไปได้น้อยจะค่อยๆ มีคุณภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ

หรืออีกทางหนึ่งต้องฝึก “วิปัสสนา” เพื่อจิต “ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน” ให้มากที่สุด เมื่อจิตตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันไม่ฟุ้ง  ไม่ลอยไปตกอยู่ในอารมณ์อดีตหรืออนาคต  คุณภาพของจิตก็จะดีขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน

กล่าวกันว่า เมื่อแรกที่มหาโจรองคุลิมาลบวชนั้น ท่านทุกข์กับความหลังอันโหดร้ายของตัวเองมาก เพราะพอหลับตาลงก็เห็นแต่ภาพของการฆ่าฟัน ความรู้สึกผิด เกาะกุมใจของท่านจนไม่เป็นอันภาวนา ท่านทุกข์ถึงกับมาเฝ้าขอคำแนะนำเป็นพิเศษจากพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงแนะกุศโลบายให้ท่านเจริญวิปัสสนากล่าวคือ ฝึกการตามดู ตามรู้ลมหายใจ (กาย) ความรู้สึก (เวทนา) ความคิด (จิต) และสภาพความกระเพื่อมไหวในลักษณะต่างๆ ของจิต (ธรรม) เมื่อท่านเพียรฝึกอยู่จิตก็เกิดการเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันมากขึ้นๆ จนในที่สุดจิตของท่านก็ดีดตัวขาดผึงออกมาจากอดีต ท่านกลายเป็นคนของปัจจุบันเท่านั้น  ไม่มีวันวาน  ไม่มีวันพรุ่งนี้มีแต่วันนี้หรือขณะจิตเดียวนี้เท่านั้น พอท่านทำได้ถึงขนาดนี้ ท่านก็หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง ถึงกับที่ท่านกล่าวว่า ตัวท่านเองซึ่งตื่นรู้ขึ้นมาแล้วนี้ ได้ค้นพบกับ “การเกิดใหม่” อีกครั้งหนึ่ง ท่านเรียกการเกิดใหม่นี้ว่า“อริยชาติ” คือ การเกิดอันประเสริฐ

การเกิดอันประเสริฐจะเกิดขึ้นกับทุกคนที่เจริญวิปัสสนาจนจิตเกิดอาการตื่นตัวและตื่นรู้ คือหลุดพ้นจากการเกาะเกี่ยวเอาอดีตและอนาคตมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว    การเจริญวิปัสสนานั้น คุณสามารถทำได้ด้วยการพยายามตระหนักรู้ดูอาการของกายที่เคลื่อนไหว (ลมหายใจหรือกายจริงๆ ที่เคลื่อนไหวทำโน่น – นี่ – นั่น)  ความรู้สึก(ทุกข์ – สุข – เฉยๆ) ความคิด (ที่ฟุ้งไปในเรื่องราวต่างๆ)และความวูบไหวเปลี่ยนแปรอันเป็นคุณภาพของจิต (ธรรม)คุณเพียงแต่ “ลองจับตาดู” เท่านั้น ไม่ต้อง “ตั้งหน้าตั้งตาดู” แต่อย่างใด พยายามทำอย่างผ่อนคลาย ฝึกดูฝึกสังเกตกาย เวทนา จิต ธรรม ไปเถิด ทำไปเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ  ถ้าจับจุดถูก  คุณจะเห็นอาการของจิตที่วูบไหวไปในรูปแบบต่างๆ  พอหาจิตเจอเท่านั้นแหละ  ทีนี้คุณจะหลุดออกจากโรคซึมเศร้าได้ และจะมีของเล่นใหม่ที่ให้ความสุข ความสดชื่น ความสว่างโพลงแก่ชีวิตจิตใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการอยากฆ่าตัวตายจะหายไปอย่างเด็ดขาด

ที่พูดมานี้ พยายามพูดให้ง่ายที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าคุณจะเข้าใจหรือเปล่า ก็เลยอยากขอแนะนำอีกนิดหนึ่งว่า คุณควรหาโอกาสไปฝึกเจริญวิปัสสนากับสำนักต่างๆ ที่สอนการเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานสี่ดู เมื่อไปฝึกกลับมาแล้วลองกลับมาอ่านคำตอบนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วคุณจะเห็นว่าการออกจากเขาวงกตของโรคซึมเศร้านั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงๆ 

 

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

สภาวะจิต คนคิดสั้น บทความที่อ่านแล้ว จะทำให้เข้าใจคนจิตตก

พุทธธรรมบรรเทาผู้ป่วย โรคซึมเศร้า

พุทธจิตวิทยา สู่ความงามสง่าที่แท้จริง

ทำงานด้วย จิตว่าง ทำอย่างไร พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ มีคำตอบ

ประคอง จิต ถอนพิษรัก บทความดี ๆ จากพระราชญาณกวี

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.