ท่าน ว.วชิรเมธี

ภัยของการตกเป็นทาส “ขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร” บทความดีๆ จากท่านว.วชิรเมธี

ภัยของการตกเป็นทาส “ขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร” บทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

ปัจจุบัน เรากำลังเสพสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป จนกลายเป็นว่า เรารับเอาขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสารมามากเกินไปหรือเปล่า แล้วเราควรแก้ปัญหานี้อย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ในบทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

ปุณณ์และปัณณ์  หลานรัก

ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ “Social Media” กำลังมีอิทธิพลมาก มากเสียจน “สื่อเก่า” อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เริ่มไม่มีคนสนใจ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ที่เคยมีอิทธิพลทั้งในระดับโลก ระดับประเทศต่างก็ทยอยปิดตัวไปตาม ๆ กัน รายการวิทยุและโทรทัศน์ก็ไม่ต่างกัน

การเกิดขึ้นของสื่อใหม่อย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ เป็นต้น ทำให้ผู้คนทั่วโลกที่มีสมาร์ตโฟนอยู่ในมือ ต่างก็เฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสารรายการบันเทิงต่าง ๆ ผ่านหน้าจอโทรศัพท์ของตัวเองเป็นหลัก

 

 

ท่ามกลางมหาสึนามิแห่งข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่ามาอย่างรวดเร็วและเชี่ยวกรากในแต่ละวันนั้น หากเราไม่มีสติ เราก็จะตกเป็นทาสของ “ขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร” ได้อย่างง่ายดาย หลานลองสังเกตดูเถิด แทบทุกวันจะมีเรื่องราว “ดราม่า” (เรื่องที่ก่อให้เกิดวิวาทะถกเถียง ความเข้าใจผิด กระทบกระทั่งเสียดสี สาดโคลน Hate speech) เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าหลานไม่หมั่นเจริญสติไว้ให้ดี หลานก็จะตกเป็นทาสของขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย

อาการอย่างหนึ่งของการบริโภคสื่อสังคมออนไลน์อย่างขาดสติก็คือการเป็นโรค “ด่วนตัดสิน” หมายความว่า พอเห็นข่าวหรือมีใครส่งข้อมูล ข้อความ ภาพ คลิปมาให้ก็พร้อมที่จะ “เชื่อ” และ “คล้อยตาม” หรือ “ผสมโรง” ทันที โดยไม่สนใจจะสืบสาวราวเรื่องให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้เสียก่อน

 

 

โรคด่วนตัดสินนี่แหละ คือที่มาของ “ความทุกข์ออนไลน์” ของผู้คนบนโลกเสมือนจริงในทุกวันนี้ หลานรัก เพื่อให้หลานทั้งสองมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อสังคมออนไลน์ง่าย ๆ ปู่ขอมอบนิทานดังต่อไปนี้ให้หลานทั้งสองเอาไว้เตือนตัวเองทุกครั้ง ยามเข้าสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ นิทานนี้มีชื่อเรื่องว่า “อย่าด่วนตัดสิน”

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…

มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า

สองสามีภรรยาเลี้ยงพังพอนไว้ตัวหนึ่งพวกเขารักมันเหมือนลูก ต่อมาทั้งสองมีลูกด้วยกัน จึงเลี้ยงลูกและพังพอนให้เป็นเพื่อนกัน

อยู่มาวันหนึ่ง สองสามีภรรยาต้องออกไปดำนา จึงผูกเปลญวนไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ วางลูกน้อยกลอยใจวัยหนึ่งขวบไว้ในเปล

ทารกน้อยหลับปุ๋ยอย่างมีความสุขเจ้าพังพอนก็วิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ ใต้เปลญวน

ทันใดนั้นเอง มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาใกล้ ๆ เปล พังพอนเห็นดังนั้นจึงวิ่งเข้าไปกัดงูเห่าหมายปกป้องชีวิตทารกน้อย ทั้งสองสู้กันโดยมีชีวิตเด็กน้อยเป็นเดิมพัน

ในที่สุดพังพอนชนะ งูเห่านอนตายอยู่ใต้เปล เจ้าพังพอนดีใจมากที่ช่วยชีวิตนายน้อยของมันได้ จึงวิ่งไปวิ่งมาอยู่แถวนั้นอย่างมีความสุข

พอดีถึงเวลาอาหารกลางวัน สองสามีภรรยากลับขึ้นมาจากท้องนา เจ้าพังพอนดีใจจึงวิ่งไปต้อนรับ

แต่เมื่อสองสามีภรรยาเห็นพังพอนตัวเปื้อนเลือด (งู) ไปทั้งตัว พวกเขาจึง “สร้างมโนภาพ” ไปในทางลบทันทีว่า “เลือดที่เห็นคงเกิดจากพังพอนกัดลูกน้อยของตนจนด่าวดิ้นดับชีวิตทันที”

ฝ่ายภรรยาก็รีบวิ่งไปหมายจะช่วยลูกแต่เมื่อไปถึงนางกลับเห็นลูกน้อยยังคงหลับสบายอยู่ในเปล เลยออกไปจากเปลเล็กน้อยนางเห็นซากงูเห่าขนาดเขื่องตัวหนึ่งนอนตายจมกองเลือดอยู่

นาทีนั้น นางจึงสว่างโพลงขึ้นมาว่าเจ้าพังพอนคงกัดกับงูเห่าเพื่อปกป้องชีวิตลูกน้อยของตัวเอง นางกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปหาสามีซึ่งกำลังขุดหลุมฝังพังพอนด้วยความโกรธแค้นพลางเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง

เมื่อความจริง “เป็นอีกอย่างหนึ่ง” อย่างชนิดตรงกันข้าม สองสามีภรรยาจึงทรุดลงร้องไห้อยู่หน้าหลุมศพของพังพอนด้วยความรู้สึกผิด พลางคร่ำครวญหวนไห้ว่า “เราฆ่าผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ เพียงเพราะอาศัยการตัดสินอย่างผิวเผิน จากนี้ไปเราจะอยู่อย่างไรในเมื่อผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่นั้นจากไปอย่างไม่มีวันกลับอีกแล้ว”

 

 

การ “รู้ผิด คิดเอา เดาเอง” คือจุดเริ่มต้นของการด่วนตัดสินผู้อื่นอย่างผิดพลาด

กี่ครั้งและกี่คนแล้วที่ต้องมานั่งเสียใจเพียงเพราะการ “ด่วนตัดสิน” อย่างหุนหัน-พลันแล่นของตัวเอง โดยไม่ยอมฟังเหตุผลของผู้อื่น หรือโดยไม่ยอมศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่รายล้อมอยู่อย่างรอบคอบรอบด้าน

คนที่ด่วนตัดสินก็ดี คนที่ถูกตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมก็ดี กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็ทุกข์ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น เราจึงไม่ควรด่วนตัดสินใคร หรืออะไร ปู่ขอให้หลานคิดถึงคำพูดของเจ้าชายน้อยในหนังสือชื่อ “The Little Prince” ที่ว่า “You can only see things clearly with your heart. What is essential is invisible to the eye.” “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา แต่ต้องสัมผัสด้วยหัวใจ” เอาไว้ให้ดี

คำพูดประโยคนี้จะป้องกันไม่ให้เราตัดสินใครอย่างตื้นเขินอีกต่อไป 


บทความที่น่าสนใจ

แค่ทำตามกฎของชีวิต 5 ข้อนี้ได้ ความสุขก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

เปลี่ยนจิตตกเป็นจิตฟู ลดอาการ โรคซึมเศร้า ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้แว้ง “กัด” พ่อแม่ บทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

เฉลยข้อสงสัย ไม่ได้เป็นชาวพุทธ จะบรรลุนิพพานได้หรือไม่ ? โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ตกอยู่ในภาวะ รู้ว่าบาป แต่ก็ต้องทำต่อไป ทำอย่างไรดี ? ท่าน ว. วชิรเมธี มีคำแนะนำ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.