หายไข้ เพราะใจหายทุกข์ บทความจาก นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล
สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาแพทย์มีโอกาสออกตรวจผู้ป่วยกับอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง
ขณะที่ผมและผู้ป่วยรออาจารย์อยู่นั้น ผมสังเกตได้ชัดถึงอาการวิตกกังวลและกระวนกระวายของผู้ป่วยรายหนึ่ง เธอนอนตัวงองุ้มกุมท้องอยู่บนเตียง ผมซักประวัติแล้วพบว่าเธอมีอาการปวด จุกแน่นลิ้นปี่ แสบร้อน และคลื่นไส้อาเจียนมานานประมาณ 2 วัน เธอซื้อยามารับประทานเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงมาโรงพยาบาล เพราะกังวลว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ เธอกลัวการผ่าตัดมาก
เมื่ออาจารย์ของผมเข้ามาในห้องตรวจ ท่านเข้าไปซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยใหม่อีกครั้งโดยใช้เวลาไม่นาน ผมยืนมองอยู่ใกล้ ๆ เห็นอาจารย์ยิ้มให้ผู้ป่วยและกล่าวว่า
“คุณเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบนะครับ ไม่ต้องกังวลอะไร รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่ให้และปรับเรื่องการรับประทานอาหารใหม่ ไม่นานเดี๋ยวก็หายครับ”
ทันใดนั้นเธอก็ลุกขึ้นนั่งบนเตียง ขอบคุณอาจารย์ ยิ้มอย่างดีใจและเดินออกไปจากห้องตรวจเหมือนคนปกติที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ทั้ง ๆ ที่ไม่นานก่อนหน้านี้เธอนอนกุมท้องพลิกไปมาอย่างทุรนทุราย ผมจดจำเหตุการณ์นี้แม่นยำ และรู้สึกโชคดีที่ได้ออกตรวจกับอาจารย์ในวันนั้น เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของจิตใจที่มีผลต่อร่างกายอย่างมาก
เหตุการณ์อีกเรื่องคือ ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสรักษาผู้ป่วยหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง เธอป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวต้องอยู่โรงพยาบาลหลายวัน หลังจากรักษาได้ระยะหนึ่ง ผมประเมินผลการรักษาพบว่าอาการดีขึ้นมากแล้ว แต่น่าแปลกใจที่เธอยังคงนอนติดเตียงและมีสีหน้าซึมเศร้า เมื่อถามอาการเธอตอบแต่ว่ายังเหนื่อยและอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
ผมคิดว่าไม่แปลกนักที่ผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีอาการเช่นนี้ เพราะใจของผู้ป่วยมักกังวลว่าหากออกแรงทำอะไรมาก ๆ ร่างกายจะรับไม่ไหว ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ถูกต้องนัก แต่แล้วเช้าวันหนึ่งก็มีเรื่องน่าแปลกใจเกิดขึ้น ผมมาตรวจผู้ป่วยในตึกเป็นประจำตามปกติ พอมาถึงเตียงของผู้ป่วยรายนี้ เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างเตียง สอบถามได้ความว่าเขาเป็นบุตรชายคนเดียวซึ่งจากบ้านไปทำงานต่างประเทศนานหลายเดือน เธอลุกขึ้นยืนข้างเตียง เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดอยู่บ้านอย่างเรียบร้อย เธอบอกก่อนที่ผมจะเอ่ยถามว่า
“ป้าขอกลับบ้านนะหมอ วันนี้ดีขึ้นมากแล้ว นี่ลูกชายป้ามารับกลับบ้าน วันนี้เขาจะพาไปทำบุญด้วย”
คุณป้ากล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ต่างจากเมื่อวานโดยสิ้นเชิง ทิ้งให้ผมยืนงงอยู่คนเดียว นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ย้ำเตือนให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตใจที่หายทุกข์มีผลต่อร่างกายที่เจ็บป่วยได้มากเพียงใด
พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักค้นคว้าเรื่องราวของชีวิต ทรงหาทางช่วยคนทั้งหลายให้มีความสุข ในขณะเดียวกันก็สามารถรับมือกับความทุกข์ได้ด้วย เมื่อพระองค์พบคนไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย พระองค์เคยตรัสสอนเขาผู้นั้นว่า ให้ตั้งไว้ในใจว่า “ถึงแม้กายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย” การตั้งไว้ในใจอย่างนี้ เรียกได้ว่าเป็นการตั้งสตินั่นเอง ทำให้จิตใจไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรปรวนทางร่างกาย เมื่อมีสติก็รักษาใจไว้ได้ ถ้ายึดไว้อย่างนี้ก็ทำให้จิตใจไม่พลอยหงุดหงิดและแปรปรวนไปตามอาการทางร่างกาย
สิ่งต่าง ๆ ล้วนแปรเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรที่เราบังคับให้คงที่อยู่แบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ร่างกายก็เช่นกัน ย่อมเป็นธรรมดาที่ความเจ็บป่วยต่าง ๆ จะเกิดขึ้น และสร้างทุกขเวทนาความอ่อนแรงเหนื่อยล้าแก่ร่างกาย แต่ถ้าเราสามารถรักษาจิตใจไว้ให้ดีตามคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ความเจ็บป่วยนั้นก็จะไม่มีผล หรือมีก็เพียงเล็กน้อย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสมอว่า ให้รักษาใจของตนเองและการจะรักษาใจนั้นก็รักษาด้วยสติ คือมีสติรับรู้และเข้าใจความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
ถ้ามีสติเอาใจยึดไว้กับคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ถึงกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” หมั่นบอกตัวเองอยู่เสมอ เพียงแค่นี้ก็ทำให้ใจหยุดคิด ใจมีหลักยึด แล้วจิตใจก็จะสบายขึ้น ไม่เลื่อนลอยเคว้งคว้างแปรปรวนไปตามร่างกาย
ที่มา นิตยสาร Secret