รู้ไหมว่าการช่วยเหลือคนอื่น ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทองและข้าวของใดๆ มีเพียงอินเทอร์เน็ต ไฟ และหัวใจ ก็เริ่มต้นทำความดีได้แล้ว เหมือนเรื่องราวของแกนนำจิตอาสาทั้ง 3 ท่านนี้
อาสาเดินเท้าเปิดโลกอินเทอร์เน็ต
แม้อัตราผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะเป็นตัวเลขที่สูง แต่น่าเสียดายว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานหลักอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เหลืออีกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต
คุณลินดา หวังวานิช หรือ คุณแมว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Strategic Market ของดีแทค เปิดเผยความจริงที่อยู่เหนือความคาดหมาย พร้อมเล่าต่อว่า
“เพราะเราทำงานอยู่ใกล้เทคโนโลยีนานเสียจนลืมนึกถึงกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกล ที่ไม่เคยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเลย จะดีแค่ไหนหากพ่อแม่สามารถติดต่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับลูกหลานได้ทุกเมื่อ หรือสามารถเพิ่มรายได้สร้างประโยชน์ให้ครอบครัวได้ จึงเป็นที่มาของโครงการเน็ตอาสา โครงการสอนอินเทอร์เน็ตให้กับคนในชุมชน”
คุณแมวเริ่มต้นจากคนทำงานแค่ 4 คน ลงไปรับสมัครทีมงานตามจังหวัดต่าง ๆ โดยเลือกจากคนท้องถิ่น ด้วยเหตุผลว่าคงไม่มีใครรู้จักบ้านตัวเองได้ดีเท่ากับสมาชิกในบ้าน กระทั่งได้อาสาสมัคร 50 คน เธอและทีมงานเดินทางไปลงพื้นที่ชุมชน เพื่อบอกกับชาวบ้านว่าอินเทอร์เน็ตดีกับพ่อแม่ พี่น้องและคนในชุมชนอย่างไร แต่พอชาวบ้านได้ยินคำว่า “อินเทอร์เน็ต” หลายคนก็ปิดประตูใส่ เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวอะไรกับคนแก่ ทว่าพวกเธอไม่ย่อท้อ กลับไปเคาะประตูอีกครั้งแล้วลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ค่อยๆ คุยว่ามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต และเข้าไปแนะนำเรื่องใช้อินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน จากที่ชาวบ้านเคยปิดประตู ปิดใจก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีเป็นต้อนรับ
คุณแมวเล่าว่า ป้าประคอง อู่อรุณ สมาชิกในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แห่งหนึ่ง ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอขับเคลื่อนโครงการต่อมาได้จนถึงวันนี้
“วันนั้นลงพื้นที่เจอป้าประคองมาซื้อโทรศัพท์เป็นของขวัญให้ลูกสาว ทีมงานสอนวิธีใช้งานเบื้องต้นตามปกติ พอเสียบซิมปุ๊บปรากฏว่าไลน์เด้งขึ้น ป้าเห็นก็ให้เราอ่านให้ฟัง เพราะอ่านหนังสือไม่ออก ข้อความเขียนว่า “โห ป้ามีไลน์แล้ว เก่งจังเลย” ป้าจึงเล่าว่า คนนี้เป็นกัลยาณมิตร เจอกันที่วัดบ่อย แต่จะส่งบอกเขาอย่างไรดี เพราะป้าเขียนไม่เป็น เราจึงสอนให้อัดเสียงผ่านไลน์แล้วส่งกลับไป ซึ่งเพื่อนตอบกลับมาด้วยการพูดผ่านไลน์ ยิ่งเขาส่งรูปที่ถ่ายตอนไปวัดมาให้ ป้าตื่นเต้นดีใจ บอกว่าถ่ายรูปตอนไปเที่ยวกันบ่อย แต่ไม่เคยได้ดูรูปเลย เพิ่งได้เห็นรูปตัวเองก็ในโทรศัพท์นี่แหละ แม้อาจดูว่าเล็กน้อยสำหรับคนอื่น แต่กับป้าวัย 60 ที่ดูแต่ละรูปอย่างพินิจพิจารณา แล้วยิ้ม เชื่อไหม เราปลื้มจนเผลอยิ้มกับป้าโดยไม่รู้ตัว
“อาทิตย์ต่อมาเรากลับไปอีก ป้ามาพร้อมโทรศัพท์บอกว่า ลืมหมดแล้ว จากใจที่เคยฟูยอมรับเลยว่าเหี่ยวลงทันที เพราะต้องสอนใหม่หมดกระทั่งชาร์จแบต ถึงอย่างไรป้าก็เป็นตัวอย่างให้แมวและทีมงานเห็นว่า “ไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม” แม้ป้าเป็นหมอนวดแผนโบราณอายุหกสิบกว่า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ความที่อยากติดต่อกับเพื่อนอยากคุยกับลูกสาวที่ทำงานต่างจังหวัด ไม่ว่าป้าอยู่ที่ไหน จะโทร.หาทีมงานเน็ตอาสา กระทั่งติดลูกค้าก็ยอมยกเลิกเพื่อให้ได้เรียน ทีมงานต้องพยายามหาวิธีสอน โดยใช้สัญลักษณ์บ้าง เช่น เครื่องหมายสามเหลี่ยมหมายถึงถ่ายรูป หรือใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายบ้าง เช่น สไลด์หน้าจอก็ใช้คำว่าเลื่อน ขยายคือถ่างขณะเดียวกันต้องเข้าใจศัพท์ป้าด้วย อย่างเคสโทรศัพท์ป้าเรียกว่าเปลือก พอใช้คล่องก็ทดลองให้ใช้วิดีโอคอลล์คุยกับลูก ทันทีที่ป้าเห็นหน้าลูกสาวก็ร้องไห้ บอกว่าทุกครั้งได้ยินแต่เสียง ลูกบอกว่าสบายดีเพิ่งได้เห็นหน้าลูก มีเหงื่อเต็มหน้า จึงรู้ว่างานในโรงงานไม่ได้สบายอย่างที่คิด หลังจากนั้นป้าก็คุยกับลูกทุกวัน”
คงไม่ต้องบอกว่าเธอและทีมงานจะมีความสุขขนาดไหนที่ได้เปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งพบกับความสุขและทำให้ชีวิตไม่ต้องอยู่กับการรอคอยอีกต่อไป
อาสากู้วิกฤติวิกิพีเดีย
“ผมเริ่มต้นใช้วิกิพีเดียเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี เมื่อใช้ไปนานเข้า ทั้งที่เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรก็รู้สึกว่าควรตอบแทนเขาบ้าง”
นี่คือความคิดตั้งต้นที่ทำให้ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัดสินใจก้าวเข้าไปทำงานอาสาสมัครแปลวิกิพีเดีย พร้อมสวมตำแหน่งผู้ประสานงานวิกิมีเดียในเมืองไทยเป็นครั้งแรก
ดร.ทวีธรรม เล่าว่า เว็บไซต์วิกิพีเดียมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่แสวงหาผลกำไร ได้รับการสนับสนุนจากเงินบริจาค แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่วิกิพีเดียต้องการคืออาสาสมัครเขียนบทความ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Editor แปลว่า ผู้แก้ไข ทุกคนสามารถเข้าไปแก้ไขพัฒนาบทความแก้ไขได้หมด บางคนเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง บางคนเป็นนักเรียน เป็นชุมชนออนไลน์ที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน มีการอภิปราย โหวตบทความกันผ่านทางออนไลน์ ทั้งนี้ทั้งนั้นจำนวนอาสาสมัครกำหนดไม่ได้แน่นอน เพราะพวกเขามาด้วยความสมัครใจ หากยุ่งก็หายหน้าไป
“แม้ผมจะยุ่ง แต่ก็ยังหยุดทำงานตรงนี้ไม่ได้ เพราะคิดว่าวิกิพีเดียมีความสำคัญต่อการศึกษาไทยอย่างมาก แทนที่จะเสียเงินไปเรียนพิเศษ ก็นั่งอ่านวิกิพีเดียไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่อ่านได้ทั้งวันได้ความรู้และความเข้าใจมากขึ้น ข้อมูลค่อนข้างเป็นกลาง มีความเชื่อมโยงและทันสมัย ทำให้เราเข้าใจโลกกว้างขึ้น เปิดมุมมองให้คุยกับผู้คนได้หลากหลาย ผมอยากให้คนไทยได้มีโอกาสแบบนั้น”
เขาเล่าต่อว่า แม้วิกิพีเดียเป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศเรา แต่มีบทความภาษาไทยไม่ถึง 90,000 บทความ นอกจากจะน้อยมากแล้ว บทความที่มีก็ค่อนข้างสั้นและมีข้อมูลไม่ครบถ้วน หากเราไม่เพิ่มบทความภาษาไทยให้มากขึ้นก็ยากที่คนไทยจะเข้าถึงแหล่งความรู้เสรีที่มีคุณภาพได้ เพราะเหตุนี้ในปี พ.ศ.2554 เขาจึงคิดจะจัดแข่งขันแปลบทความขึ้นในโรงเรียน แต่น่าเสียดายที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเสียก่อน ทำให้โครงการที่วาดฝันไว้ต้องหยุดพักไปโดยปริยาย
แต่แล้วเขาก็ได้รับการติดต่อจากดีแทคในโครงการ ‘อินเทอร์เน็ตเพื่อเด็กไทย - Internet for All’ ด้วยการเปิดให้เด็กไทยเข้าถึงเว็บไซต์วิกิพีเดียฟรี ประกอบกับมูลนิธิวิกิมีเดียที่อเมริการับรองกลุ่มอาสาสมัครจากประเทศไทย โดยมีเขาเป็นผู้ประสานงานหลัก ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันจนต่อยอดมาถึงโครงการ ‘100,000 ชั่วโมงร่วมกันทำดี’ ที่ดีแทคเริ่มกิจกรรม ‘เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย’ โดยสนับสนุนให้พนักงานอาสาแปลบทความจากวิกิพีเดีย
ผิดจากที่คาดไว้ว่า ดีแทคคงมีแต่บทความที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในความเป็นจริงเหล่าอาสาสมัครเขียนบทความที่หลากหลายมากตั้งแต่เรื่องดารา ร้านอาหาร รถ สถานที่ท่องเที่ยว จนถึงโรคมะเร็ง ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของบทความที่ส่งเข้ามา ได้รับเลือกให้ปรากฏอยู่บนหน้าวิกิพีเดียทุกวันนี้ ดร.ทวีธรรม ทิ้งท้ายว่า
“ผมเชื่อว่าเมื่อผู้เขียนบทความเห็นผลงานของตัวเอง คงภาคภูมิใจที่งานที่ทำแสดงผลผ่านเว็บดูได้ทั่วโลกและมีประโยชน์กับคนมากมายและหากเขาเขียนต่อไป อาจเปลี่ยนแนวคิดจากการเขียนเฉพาะเรื่องที่ตนเองถนัดหรือสนใจ กลายเป็นเลือกเรื่องที่คนหมู่มากสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
มัคคุเทศก์น้อย อาสาพาทัวร์พระปฐมเจดีย์
“สวัสดีครับ ผม ด.ช.บูม - รัชชานนท์ ทองภักดี มัคคุเทศก์อาสาจากดีแทคจะนำชมพระปฐมเจดีย์ครับ”
ดร.แก้วตา ม่วงเกษม อาจารย์สอนวิชาการบริหารจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล จังหวัดนครปฐม เจ้าของวิชา Tour Manager และ Marketing ยืนมองลูกศิษย์โครงการมัคคุเทศก์น้อยในโจงกระเบนสีฟ้า กำลังแนะนำตัวกับนักท่องเที่ยวที่บริเวณบันไดหน้าองค์พระ แล้วเผลอยิ้มไม่รู้ตัว
เธอเล่าว่า เธอเคยใฝ่ฝันอยากจะสร้างประโยชน์ให้แผ่นดินของจังหวัดที่หล่อเลี้ยงชีวิตมา กระทั่งเห็นว่าดีแทคจัดโครงการ ‘มัคคุเทศก์น้อยรักจังหวัดนครปฐม’ แล้วติดต่อผ่านมาทางคณบดี เธอจึงคิดว่า โครงการนี้แหละตอบโจทย์สิ่งที่ฝันมานาน
“เมื่อคิดถึงเด็กในโรงเรียนพระปฐมเจดีย์ก็ย้อนคิดถึงตัวเองสมัยที่เรียนโรงเรียนวัด รู้สึกว่าขาดครูที่จะลงพื้นที่ไปแนะนำให้เขาเกิดความคิดที่แตกต่างจากอาชีพปกติ อย่างมัคคุเทศก์ เด็กอาจไม่รู้ว่าคืออะไร ก่อนหน้านี้แก้วเคยไปทำโครงการที่สมุทรสงคราม สอนเด็กที่คุณแม่อยากทำอาชีพท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริม ภาพเด็กบ้องแบ๊ว ตาใส ไม่รู้จักคำว่ามัคคุเทศก์ กลายเป็นเด็กที่พานำเที่ยว อธิบายสถานที่ท่องเที่ยวได้แล้วภูมิใจ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก้วอยากทำโครงการนี้”
ดีแทคเลือกโรงเรียนพระปฐมเจดีย์เป็นโรงเรียนนำร่อง โดยคัดเลือกนักเรียนระดับชั้น ป.5 จำนวน 54 คน เพราะมองว่าเป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้ และหากพวกเขาขึ้น ป.6 ก็ยังคงทำหน้าที่ได้ พร้อมกับฝึกน้องๆ ขึ้นมาแทน คุณแก้วเล่าว่า เธอย้ำกับเด็กเสมอว่าต้องเป็นมัคคุเทศก์แบบไม่หวังผล เพราะเป็นงานบริการล้วนๆ
“แก้วใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการอบรมภาคทฤษฎี แม้ห้องไอทีของโรงเรียนจะไม่ค่อยพร้อมนักแต่พยายามต่อ WiFi เพื่อเปิดจินตนาการของเด็กว่าในอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลดี ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย แก้วเปิดยูทูบรายการของไทยพีบีเอสที่ฝึกให้เด็กเป็นมัคคุเทศก์ ถามว่าชอบอาชีพนี้ไหมเขาตอบว่าชอบ สื่อทำให้เขามองภาพอาชีพมัคคุเทศก์ออก
“จากนั้นเป็นภาคปฏิบัติ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 6 - 10 คน มีทั้งมัคคุเทศก์และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีปัญหา ตั้งแต่ขี้บ่น มาสายชอบเดินรั้งท้าย และรู้ไปหมดทุกเรื่อง เพื่อฝึกให้เด็กรับมือจริงหลังจากเรียนภาคทฤษฎี”
เธอเล่าต่อว่า แม้เด็กหลายคนเกิดในนครปฐมและเรียนโรงเรียนที่อยู่ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ แต่เด็กๆ กลับไม่เคยรับรู้ว่าองค์พระมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่เด็ก ๆ จะได้เดินศึกษาอย่างละเอียด
“เด็กๆ สนุก แม้จะเดินท่ามกลางแดดร้อนแต่ไม่มีใครหน้ามุ่ย มีส่วนร่วมในชั้นเรียนสูง แย่งกันตอบ ยิ่งน้องบูมเป็นเด็กที่กล้าพูดกล้าแสดงออก จำรายละเอียดและแก้ไขให้เพื่อนเวลาตอบผิด แก้วทึ่งเลยว่า ในเวลา 6 ชั่วโมงเขาสามารถซึมซับความรู้ได้เกือบหมด จนลบภาพเด็กไทยที่ไม่กล้าแสดงออกไปได้เลย” คุณแก้ว ทิ้งท้าย
ไม่น่าเชื่อเลยว่าอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้ใครต่อใครสร้างคุณค่าให้สังคมได้มากขนาดนี้