อาการจับจด

รู้จัก The three day – monk syndrome อาการจับจด และ วิธีปรับพฤติกรรมเบื้องต้น

รู้จัก The three day – monk syndrome อาการจับจด

ทำอะไรก็ไม่สุดสักอย่าง และ วิธีปรับพฤติกรรมเบื้องต้น

 

The three – day monk  คือ คำจำกัดความที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียก กลุ่มคนที่หมกมุ่นมี อาการจับจด ตั้งใจอยู่กับการทำบางสิ่ง แค่ในระยะเวลาอันสั้น คือ ไม่กี่วัน หรืออาจจะประมาณ 1 สัปดาห์ 1 เดือน ก่อนจะล้มเลิกความตั้งใจนั้นไป

เอาจริงๆ เราทุกคนต้องเคยตกอยู่ในอาการนี้กันบ้างละ ยกตัวอย่างอย่างเช่น ความตั้งใจที่จะออกกำลังกาย , เปิด blog , เขียนหนังสือ รวมไปถึงการพยายามที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่าง เช่น ภาษา งานอดิเรกใหม่ๆ

The three-day monk อาจจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในชั่วคราว แต่การมุ่งมั่นตั้งใจเพียงชั่วขณะหนึ่ง ยังไม่เพียงพอที่ช่วยเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวเรา หรือเรียกว่าเป็น สิ่งที่ยั่งยืนได้ อย่างเรียนภาษา เรียนเขียนโปรแกรม อ่านหนังสือสอบราชการ แค่อาทิตย์ 2 อาทิตย์คงจะไม่พอ

 

ทำอย่างไรถึงจะก้าวข้าม The three day – monk syndrome ไปได้ ?

เราต้อง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จาก The three-day monk มาเป็น 20-minute every-day prayer คือ เปลี่ยนจากเคร่งครัดอย่างนักบวชอยู่ 3 วัน มาเป็น นักสวดภาวนา ที่สวดทุกวัน วันละ 20 นาทีแทน

การใช้คำว่า นักสวดภาวนา น่าจะเชื่อมโยงกับ ความเชื่อ ศรัทธา และการอุทิศตน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ช่วยให้ทุกการกระทำสัมฤทธิ์ผลได้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และก็ไม่ใช่แค่ทำวัน 20 นาทีนะคะ ในความเป็นจริงคือ เราจะใช้เวลาทำกิจกรรมที่อยากทำให้สำเร็จและเป็นนิสัย นานเท่าไรก็ได้ หรือจะสั้นกว่านั้นก็ได้ แค่ต้องสม่ำเสมอ

หากคุณทำสิ่งไหนก็ตามได้อย่างสม่ำเสมอ คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง ในชีวิตของตัวเอง ชีวิตคนอื่น แม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงโลกได้

 

วิธีปรับพฤติกรรมเบื้องต้น สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองตกอยู่ในอาการนี้

 

1.) อย่ากดดันตัวเอง

ไม่มีใครสามารถบังคับเราได้ มันก็แค่เรื่องที่เรากำหนดขึ้นมาในใจว่า เราอยากทำ และเราต้องทำให้ได้ แทนที่จะฝืน ลองมองหาข้อดีของสิ่งเหล่านั้น ทำตัวให้เอนจอยกับการลงมือทำ การวิ่งอาจจะจำเจหน้าเบื่อ เรียนภาษาญี่ปุ่น อาจจะยากจนอยากล้มเลิกกลางทาง แต่หากเราค่อยๆ เริ่มอย่างสม่ำเสมอ ทีละเล็กทีละน้อย แต่ละก้าวที่เราเริ่ม และ เรื่องราวระหว่างทาง จะช่วยให้รู้สึกสนุก และง่ายขึ้น

 

2.) เตือนตัวเองว่า ความต้องการที่แท้จริงของเราคืออะไร

ตอนที่เรารู้สึกเบื่อหน่ายและอยากเลิก นั่นก็เพราะ เราหลงลืมไปว่า เราต้องการจะทำสิ่งนั้นเพราะอะไร และเริ่มกลัวที่จะทำต่อ อาจเพราะ กลัวไม่ประสบผลสำเร็จ แทนที่จะไปคิดถึงมัน เราน่าจะลองนึกถึง แรงกระตุ้นดั้งเดิม เช่น ย้อนกลับไปดูวิดีโอ หรือหนังสือ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มเรียนศิลปะ นึกถึง จินตนาการแรกในใจ เมื่อเราได้ทำเรื่องเหล่านั้นจนสำเร็จ ปักหมุดมันไว้ในหัว หรือลองตั้งเป็นภาพหน้าจอ ที่เราจะได้เปิดมันขึ้นมาดูทุกๆ วันก็ได้

 

3.) ทำเรื่องที่เรารู้สึกดี ควบคู่ไปกับกิจกรรมเหล่านั้น

ทุกคนมีวิธีการที่จะ ฉุดตัวเองกลับมาสู่สิ่งที่ตั้งใจเอาไว้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น คนที่อยากเป็นศิลปินนอกเวลางาน อาจจะเปิดเพลงที่ตัวเองชอบคลอไปด้วย ระหว่างฝึกวาดรูป หรือคนที่อยากเรียนภาษา อาจเปลี่ยนบรรยากาศท่องตำรา ด้วยการงัดหนังเรื่องโปรด มาดูแบบปิด sub title มันก็จะกลายเป็นว่าคุณทั้งฝึกฝน และได้ทำเรื่องที่ชอบไปด้วยในตัว

 

4.) เลิกสงสัยในตัวเอง

ใครๆ ก็อาจเคยสงสัย ว่าเราจะทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ แบบนี้ได้สักกี่เดือนกันนะ ? แนะนำให้เลิกสงสัย และลงมือทำดีกว่าค่ะ เพราะนั่นคือ การพิสูจน์ตัวเองที่ง่ายที่สุด และขอให้ make sure ว่าเราจะทำมันต่อในวันต่อไป และอีกวันถัดไป

 

เราทุกคนอาจเคยเป็น นักบวช 3 วัน มาก่อน ลองเปลี่ยนอาชีพมาเป็น นักสวด ที่สวดอย่างต่อเนื่อง วันละนิดละหน่อย แต่ทำทุกวันกันดีกว่าค่ะ

 

 

 

อ้างอิงบางส่วนจาก  Zen Habits

 

บทความอื่นที่น่าสนใจ

5 เทคนิคช่วยเพิ่มพลัง ในวันที่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มไม่ไหว

แก้หงุดหงิด ได้ด้วย 5 เทคนิคที่จะทำให้คุณใจเย็นลงได้ใน 5 นาที

เช็กตัวเองหน่อยสิว่า ชีวิตคุณเริ่มจะไม่แฮปปี้กันอยู่หรือเปล่า !?

4 steps ปล่อยวาง เพื่อลดความรู้สึกแย่ๆ ในใจ

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.