วิธีขจัดความ “เขินอาย” ตื่นเวที ประหม่า เกร็ง กลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ
ในชีวิตของเรามีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ หนึ่งในนั้นก็คือการถูกมอบหมาย/สั่ง/บังคับ ให้ต้องออกไปพูดต่อหน้าคนเยอะๆ แต่ถ้าเราเป็นคนขี้อาย ตื่นเวที ออกไปพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ทีไรแล้วจะรู้สึกประหม่าทุกที ต้องทำอย่างไรดีล่ะ
สถานการณ์แบบนี้ จะกลับตัวก็ไม่ได้แล้ว ถ้าอย่างนั้น ต้องทำใจดีสู้เสือ แล้วทำตามเทคนิคตามขั้นตอนข้างล่างนี้ค่ะ
::: เตรียมตัวเท่าที่มีเวลา :::
ได้ยินหัวข้อนี้แล้วอาจนึกเถียงในใจ ว่าถ้าเราถูกเรียกออกไปพูดแบบฉุกละหุกล่ะ จะเอาเวลาที่ไหนมาเตรียมตัว
ถึงจะฉุกละหุกขนาดไหน อย่างน้อยเราก็น่าจะมีเวลาเตรียมตัวสักครึ่งนาที หรือแม้แต่ระหว่างที่เรากำลังเดินไปบนเวที เดินไปหยิบไมค์ เวลาเพียงไม่กี่วินาทีตรงนั้นก็สามารถใช้เป็นช่วงเวลาในการเตรียมตัวได้
::: คิดทบทวนสิ่งสำคัญ :::
รีบคิดทบทวนสิ่งสำคัญที่ต้องพูดในหัวของเรา เช่น ชื่องานในวันนี้ ชื่อบุคคลสำคัญที่เราต้องพูด ข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่ต้องพูดและห้ามพลาด
::: อย่าคิดกังวลจนเกินไป :::
บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “เราทำได้” และ “มันไม่แย่อย่างที่คิด” เมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธการพูดครั้งนี้ ถ้าอย่างนั้นก็ลุยทำมันไปให้เต็มที่ ทำเท่าที่ทำได้ เป็นตัวของตัวเอง และอย่าคิดกังวล
::: พยายามสบตาเพื่อนของเรา :::
หากเรามีเพื่อนที่คอยให้กำลังใจเวลาเราพรีเซนต์งานหน้าห้อง ก็จะช่วยให้เรารู้สึกอุ่นใจขึ้นเยอะเลยค่ะ ลองมองหาเพื่อนหรือคนรู้จักท่ามกลางผู้ฟังมากมาย ค้นหาคนคนนั้นให้เจอ แล้วคอยสบตาเขาเป็นระยะ เปลี่ยนการพูดในพื้นที่สาธารณะท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก ให้กลายเป็นการพูดคุยกับเพื่อน คิดเสียว่า เรากำลังพูดให้เพื่อนฟัง เพื่อลดอาการประหม่าที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อรู้สึกกลัวน้อยลง ลองค่อยๆ สลับไปสบตาผู้ฟังคนอื่นบ้าง เราอาจจะพบว่ามีคนที่กำลังตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด และคอยพยักหน้าตอบรับ ให้กำลังใจเราอยู่ก็ได้ค่ะ
::: ชวนคุย :::
การเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้มีการโต้ตอบกลับมาบ้าง จะช่วยลดความเกร็งลงไปได้บ้าง เพราะเวลาที่เราพูดอยู่คนเดียว ก็จะกลายเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ผู้ฟังจ้องหนาเราจนรู้สึกเกร็ง
ถ้าเราลองเปลี่ยนเป็นการพูดคุยกัน จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง ลองตั้งคำถามกลับไปยังผู้ฟังบ้าง หรือชี้ชวนให้ดูอะไร เพื่อให้ผู้ฟังละสายตาไปจากตัวเราได้บ้าง ก็จะช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น
::: เตรียมมุกตลกไปบ้าง :::
แทรกมุกตลกเข้าไปบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตามความเหมาะสม เพื่อให้บรรยากาศสนุกสนานมากขึ้น เพื่อความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด และทำให้ดารพูดไม่น่าเบื่อจนเกินไป
::: ใช้อุปกรณ์ช่วยดึงดูดความสนใจ :::
ลองหาตัวช่วยอื่นๆ ที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากตัวเราได้บ้าง เช่น การชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆรอบตัว ชี้ไปที่สไลด์ เปิดภาพให้ชม เปิดวิดีโอให้ชม ให้ภาพเล่าเรื่อง ผู้ฟังจะได้ไม่ต้องโฟกัสที่เราเพียงอย่างเดียวมากจนเกินไป
::: ตั้งสติ :::
ข้อนี้สำคัญที่สุด อย่าลนลานและตรงไปตรงมา ถ้าพูดผิด ก็ขอโทษด้วยความจริงใจ ถ้าเกิดปัญหาอะไร ก็ค่อยๆ แก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเผลอพูดผิด ขอให้สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนั้นอย่างมั่นใจ ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้
บทความเพื่อการพัฒนาตนเอง
แบบทดสอบ “ความกลัว” การพูดในที่สาธารณะ
วิธีพัฒนาตนเอง เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ภายใน 5 สัปดาห์ สำหรับคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง