5 ขั้นตอน วางแผน จัดการเงินเดือน เงินพอใช้ มีเหลือเก็บ ไม่ต้องกินมาม่าช่วงปลายเดือน
ใครที่เจอปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเงินเก็บ มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ วันนี้เรามีเทคนิคการ จัดการเงินเดือน ให้มีพอใช้ มีเงินเก็บ ไม่ต้องทุกข์ทรมานช่วงสิ้นเดือนอีกต่อไป!
จดบันทึกรายรับรายจ่าย
ขั้นตอนนี้อาจจะฟังดูน่าเบื่อ แต่เชื่อเถอะว่ามันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการติดตามการหมุนเวียนของเงินในบัญชีของเรา ว่าเรามีรายรับจากที่ไหน เป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง แล้วเรามีรายจ่ายเป็นอะไร ในสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง
รายจ่ายบางอย่าง เราไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นจำนวนที่มากมายขนาดไหน พอเริ่มจดบันทึก จึงเพิ่งรู้ว่าเราใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้รู้สภาพคล่องของตัวเราเอง และสามารถวางแผนการเงินในภายหลังได้ค่ะ
เก็บก่อนใช้
บางคนชอบรอให้เงินเหลือเสียก่อน แล้วค่อยแบ่งมาออม แต่การทำแบบนี้ นอกจากจะทำให้บางเดือนไม่เหลือเงินเก็บแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีอีกด้วย เพราะเราจะมองไม่เห็นความสำคัญของการเก็บเงิน ให้ความสำคัญกับ “การใช้เงิน” มากกว่า “การออมเงิน” จนทำให้เราไม่สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจสักที
วิธีการที่ดีที่สุดคือการแบ่งเงินอย่างน้อย 10% ออกมาเก็บออมทันทีที่ได้รับเงินเดือน
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่พอจะลดได้ ก็หาทางลดลง ยกตัวอย่างเช่น ลดการกินอาหารนอกบ้านลง เลือกกินร้านที่ราคาถูกลง แต่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ ทำอาหารเองให้มากขึ้น ผักชนิดไหนที่สามารถปลูกได้เองง่ายๆ ก็ลองปลูกดู เผื่อจะสามารถเก็บมาทำอาหารได้แบบประหยัดๆ เลือกซื้อของที่ต้องใช้เป็นขนาดใหญ่ หรือซื้อแบบรีฟิลนำมากรอกใส่ขวดที่เรามีอยู่แล้ว เป็นการลดขยะ แถมยังช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้นด้วยค่ะ
ทำลิสต์ “สิ่งที่จำเป็นต้องซื้อ” กับ “สิ่งที่อยากได้”
บางครั้ง สิ่งที่เราอยากได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เรา “จำเป็น” ต้องมีเสมอไป ลองมานั่งลิสต์ทำรายการดูว่า มีอะไรที่เราจำเป็นต้องใช้ จำเป้นต้องซื้อบ้าง และ มีอะไรที่เราอยากได้บ้าง เพื่อที่จะสามารถจัดสรรเงินเดือนได้อย่างเหมาะสม พอใช้ตลอดทั้งเดือน
เราสามารถให้รางวัลตัวเราเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วยการซื้อ “สิ่งที่อยากได้” ให้กับตัวของเราเองบ้าง เพื่อเป็นการเติมกำลังใจให้กับตัวเราบ้าง
ลงทุนต่อยอดเพื่อสร้างผลกำไร
นอกจากการนำเงินมาเก็บเอาไว้เฉยๆ เราควรนำเงินเก็บนั้นไปต่อยอดให้เกิดผลกำไรงอกเงย โดยเลือกความเสี่ยงในระดับที่เราสามารถรับได้ เช่น ฝากเงินกับบัญชีฝากประจำ ซื้อสลากออมสิน ซื้อกองทุน เล่นหุ้น สะสมทองคำ เป็นต้น
เขียนโดย: พิระดา ธรรมวีระพงษ์ (แอม)
Author: Pirada Tumweerapong (Amm)