วัณโรคเทียม

วัณโรคเทียม ภัยร้ายจากสวนที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเคสผู้ป่วยหญิงวัย 64 ปี จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ติดเชื้อวัณโรคเทียมทั้งที่ร่างกายแข็งแรงและไม่ได้สูบบุหรี่ ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ ไอ และมีเสลดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2567 หลังจากตรวจร่างกายและทำเอกซเรย์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการหลอดลมโป่งพองและมีเชื้อ วัณโรคเทียม ในเสมหะ ซึ่งเชื่อว่าติดเชื้อมาจากการหายใจเอาเชื้อที่ลอยขึ้นมาในอากาศขณะเทปุ๋ยคอกลงบนพื้นดิน ส่งผลมาจากที่งานอดิเรกของผู้ป่วยคือทำสวน ปลูกต้นไม้ ใส่ปุ๋ยคอกทำจากมูลวัวเทรอบต้นไม้ในเนื้อที่ 1 ไร่ 60 ถุง ทุก 2 เดือน มาเป็นเวลา1ปีกว่า

วัณโรคเทียม

วัณโรคคืออะไร

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex และมักเกิดขึ้นที่ปอด แต่สามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 กว่ารายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี

เชื้อ Mycobacterium แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ:

1. Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) – เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์

2. Nontuberculous Mycobacteria (NTM) หรือวัณโรคเทียม – มีจำนวนมากกว่า 140 สายพันธุ์ เชื้อกลุ่มนี้ไม่ได้ก่อโรควัณโรค แต่ก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอุบัติการณ์การติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

3. Mycobacterium leprae – เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน

วัณโรคเทียม เกิดจากอะไร?

วัณโรคเทียมเกิดจากการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียชนิดอื่นที่ไม่ใช่เชื้อวัณโรค เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการหายใจ ทางเดินอาหาร หรือการสัมผัสผ่านบาดแผลเข้าสู่ผิวหนัง โดยความรุนแรงและการกระจายของการติดเชื้อจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของผู้ป่วย

กรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า เชื้อ NTM หรือวัณโรคเทียม พบการกระจายตัวสูงในธรรมชาติ ทั้งในดินและน้ำ คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อ NTM เข้าไปมักจะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ในคนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ และผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค การติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่ปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงผิวหนัง

ปัจจุบันพบว่าปัญหาของการติดเชื้อผิวหนังในกลุ่มวัณโรคเทียมเพิ่มสูงขึ้น โดยมีรายงานความสัมพันธ์กับการทำหัตถการทางผิวหนัง เช่น การผ่าตัดเสริมความงาม การสัก การฝังเข็ม และการดูดไขมัน นอกจากนี้ การมีบาดแผลที่สัมผัสน้ำประปา น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล ก็สามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้

การติดเชื้อวัณโรคเทียมสามารถพบได้ทั้งในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงและในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องมาจากร่างกายสร้างแอนติบอดีต่ออินเตอร์เฟอรอนแกมมาของตนเอง (anti-IFN-gamma autoantibody)

อาการที่พบบ่อย

อาการของผู้ป่วยวัณโรคเทียมจะคล้ายกับผู้ป่วยวัณโรค เนื่องจากการติดเชื้อมักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ไข้
  • ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ
  • เหนื่อยง่าย
  •  เสมหะเป็นเลือด
  •  น้ำหนักลด
  •  เบื่ออาหาร
  •  เหงื่อออกในตอนกลางคืน
  •  อ่อนเพลีย
วัณโรคเทียม

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง

ถ้าสังเกตว่าตนเองมีอาการเหล่านี้หรือสงสัยว่าป่วยเป็นวัณโรค ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐาน

จะป้องกันได้อย่างไร

ถ้าคุณชื่นชอบการทำสวนและต้องการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อวัณโรคเทียม (NTM) วิธีป้องกันคือ

  1. สวมใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ: สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากป้องกันเชื้อโรค เช่น N95 เพื่อป้องกันการหายใจเอาเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจเมื่อทำงานในสวน นอกจากนี้ การใส่ถุงมือจะช่วยป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคผ่านบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่ผิวหนัง
  2. ล้างมือให้สะอาด: หลังจากทำงานในสวน ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ
  3. รักษาความสะอาดของอุปกรณ์ทำสวน: ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทำสวน เช่น เสียม กรรไกรตัดกิ่งไม้ หรือถุงมือ อย่างสม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยคอกที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ: หากต้องใช้ปุ๋ยคอก ควรเลือกใช้ปุ๋ยที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในปุ๋ย
  5. ระมัดระวังการสัมผัสน้ำในธรรมชาติ: หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือน้ำทะเล เนื่องจากน้ำเหล่านี้อาจมีเชื้อวัณโรคเทียมปนเปื้อน
  6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ: ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค

การปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคเทียมและรักษาสุขภาพของคุณให้แข็งแรงตลอดเวลาในการทำสวน

ที่มาข้อมูล

  • คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มติชน

บทความอื่นที่น่าสนใจ

สมุนไพรบำรุงปอด รีบกินก่อน ป้องกันโรคร้ายถามหา

ตอบคำถาม PM 2.5 ทำให้เป็นมะเร็งปอด จริงไหม?

ลูกยอ สมุนไพรพื้นบ้านของดี ช่วยบำรุงร่างกาย ลดปอดอักเสบ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.