ไข้หวัด,วิธีกินต้านหวัด, อาการไอ, เจ็บคอ, หลอดลมอักเสบ

วิธีกินต้านหวัด แก้ไอ เจ็บคอ และอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

วิธีกินต้านหวัด รักษาอาการไอ เจ็บคอ และโรคระบบทางเดินหายใจ

หน้าฝนไม่ได้พัดพาเพียงความชุ่มชื้น หากแต่นำพาสารพันโรคมาด้วย ทั้งตาแดง ภูมิแพ้ ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ และอาหารเป็นพิษ จนถึงปอดชื้น ซึ่งบั่นทอนร่างกายและจิตใจจนกระทบถึงการทำงานและการเรียน วันนี้เราจึงมาแนะนำ วิธีกินต้านหวัด รับหน้าฝนที่ไม่หมดซักที

 

แอนติออกซิแดนต์ต้านไข้หวัด

พบผู้ป่วยเป็นไข้หวัดตลอดปี  แต่จะพบการ ระบาดมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน  โดยสำนักโรคติดต่อทั่วไป  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้เพิ่มเติมถึงการติดต่อของโรคว่า  เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม  ละอองน้ำมูกหรือน้ำลายจะฟุ้งกระจายในอากาศ  ผู้ที่อยู่ใกล้ในระยะ 1–5 เมตรจะหายใจรับเชื้อไข้หวัดที่ฟุ้งกระจายในทันที

นอกจากนี้  การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย  กินอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง  การสัมผัสราวบันได  ลูกบิดประตูในที่สาธารณะ  แล้วใช้มือจับจมูก  ปาก  หรือตา  ก็ทำให้เชื้อไข้หวัดเข้าสู่ร่างกายได้

 

เป็นหวัด ไอ จาม

กินอาหารต้านไข้หวัด

นายแพทย์ริชาร์ด  นาฮาส (Richard Nahas) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว  จากมหาวิทยาลัยออตตาวา (University of Ottawa) ประเทศอังกฤษ  ให้ความรู้ว่า  สารอัลลิซิน (Allicin) ในกระเทียมสามารถต่อต้านเชื้อไข้หวัดได้  โดยจะหลั่งออกมาเมื่อบดหรือเคี้ยว  แต่สูญสลายง่ายหากได้รับความร้อน

นอกจากนี้  ยังได้รับการยืนยันจากวารสารทางการแพทย์Advances in Therapy ที่ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องหนึ่ง  ซึ่งทำการทดลองให้อาสาสมัครจำนวน 146 คนกินสารอัลลิซิน (สกัดจากกระเทียม) วันละ 180 มิลลิกรัม  เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo)  หลังเฝ้าสังเกตความถี่

การเกิดไข้หวัดและความรุนแรงของอาการป่วยนาน 12 สัปดาห์  นักวิจัยพบว่า  กลุ่มที่กินสารอัลลิซินมีอัตราป่วยเป็นไข้หวัดและมีอาการรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่กินยาหลอกถึง 64 เปอร์เซ็นต์  ทั้งสามารถฟื้นไข้ได้เร็วกว่าอีกด้วย

นายแพทย์ริชาร์ดอธิบายเพิ่มเติมว่า  จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงของสารอัลลิซินและปริมาณที่ควรกิน  แต่สำหรับการกินกระเทียมสดมีความปลอดภัยมากกว่า  โดยกระเทียม 1 กลีบมีสารอัลลิซิน 5 – 9 มิลลิกรัมนอกจากนี้อาหารอีกชนิดที่มีสรรพคุณต้านไข้หวัดคือ โยเกิร์ต

คุณเทรซีย์ เจ. สมิธ (Tracey J. Smith) นักกำหนดอาหาร  จากมหาวิทยาลัยการแพทย์และทันตกรรมแห่งนิวเจอร์ซีย์(The University of Medicine and Dentistry of New Jersey) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ทดลองติดตามสุขภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัย 198 คน  นาน 12 สัปดาห์  สังเกตเห็นว่า  นักศึกษาที่กินโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกชนิด Lactobacillus rhamnosus GG (LGG) และ Bifidobacterium animalis ssp. lactis (Bb- 12) เป็นประจำจะหายป่วยเร็วหากเป็นไข้หวัด  และมีอัตราการขาดเรียนน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่กินโยเกิร์ตถึง 2 เท่า

คุณเทรซีย์อธิบายว่า  โพรไบโอติกช่วยลดการอักเสบของร่างกาย  จึงช่วยบรรเทาอาการหวัด  คัดจมูก  เจ็บคออย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับปริมาณที่ควรกินเพื่อป้องกันโรค  มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ศึกษาและพบว่า  การกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติวันละ 1 ถ้วยครึ่ง (200 กรัม) สามารถลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและป้องกันโรคหวัดได้

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.