สิ้นแล้ว คีตกวีแก้ว แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เส้นทางชีวีบนถนนสายดนตรี

สิ้นแล้ว คีตกวีแก้ว แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เส้นทางชีวีบนถนนสายดนตรี

แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หรือ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หนึ่งในขุนพลนักดนตรีที่น้อมรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สร้างสรรค์งานดนตรี และสร้างศิลปินบรรเลงจรรโลงสังคมไทยสืบมา

 

ชนใดไม่มีดนตรีกาล                    

ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

อีกคนใดฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ    

เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์

หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก               

มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี

และดวงใจย่อมดำสกปรก             

ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่

ไม่ควรใครไว้ในใจโลกนี้              

เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ

 

บทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เวนิสวาณิช’

 

หากอ่านบทกลอนพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เรื่อง  ‘เวนิสวาณิช’ แล้ว ประวัติและเส้นทางชีวิตของเรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นับว่าเป็นผู้มีคุณูปการที่ทำให้คนไทยเป็นคนไม่ชอบกล ไม่เป็นคนคิดชั่ว (ขบถอัปลักษณ์) ไม่เป็นคนที่มีจิตใจสกปรก เป็นอกุศล เพราะเพลงแต่ละเพลงที่ท่านประพันธ์ล้วนมีความไพเราะ และทรงคุณค่าอย่างหาประมาณมิได้

 

ชีวิตในวัยเยาว์ของเด็กชายเรมอนด์ ซีเกร่า

แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เป็นชื่อและนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เดิมท่านชื่อว่า “เรมอนด์ ซีเกร่า” เป็นชื่อภาษาโปรตุเกส เนื่องจากคุณพ่อโรนาโด ซีแกร่า เป็นนักเปียโนชาวโปรตุเกส คุณพ่อแต่งงานกับคุณแม่คือ นางจำรัส เรณางกูร เด็กชายเรมอนด์ได้ถือกำเนิดขึ้นในย่านบางรัก ถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร  เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471

เด็กชายเรมอนด์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่รักดนตรี ทำให้ซึมแทรกหัวใจของความเป็นนักดนตรีจากคุณพ่อ เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ 9 ขวบ  และศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กำลังจะขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ต้องพักการเรียน หลังจากสงครามโลกสงบแล้วจึงกลับมาเรียนต่อ แต่แล้วต้องหยุดชะงักเรื่องการเรียนลง เมื่อคุณพ่อโรนาโดล้มป่วยแล้วมาด่วนจากครอบครัวไป

 

 

ชีวิตผกผันเข้าสู่ถนนสายดนตรี   

เด็กชายเรมอนด์ต้องออกจากโรงเรียน ใช้ความรู้ที่คุณพ่อสอนไว้ ผันตัวเองมาเป็นนักดนตรี หารายได้ช่วยเหลือทางบ้าน และส่งน้อง ๆ เรียนหนังสือ ส่วนตัวเองก็พยายามกวดวิชาอยู่เสมอ แต่สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือแล้วจึงมุ่งมั่นก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพ ผ่านการทำงานมาหลายที่ เช่น บริษัทเชลล์ ณ ที่นี้เองเรมอนด์ได้ตั้งวงดนตรีของพนักงานบริษัทเซลล์ขึ้น และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้ตั้งวงดนตรีเล็ก ๆ ขึ้นอีก 1 วง ชื่อว่า “วงดนตรีเรมอนด์และสหาย” (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘คีตะเสวี’ ) เป็นวงดนตรีที่รวมกลุ่มเพื่อนมาเล่นดนตรีด้วยกันในเวลาว่างจากการทำงาน แรก ๆ ก็เล่นกันเฉพาะในงานเลี้ยงสังสรรค์ตามบ้านเพื่อนฝูง กลายเป็นวงดนตรีร่วมสมัยกับวงสุนทราภรณ์ บรรเลงตามสถานีวิทยุและงานลีลาศต่างๆ แต่เน้นดนตรีสากล ต่อมามีโอกาสเล่นดนตรีออกอากาศทางสถานีวิทยุ 1 ปณ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ต่อมาสมรสกับคุณลออวรรณ (อนุสารสุนทร) ศรีกรานนท์ มีบุตรและธิดา 2 คน คือ ดร.อินทุอร ศรีกรานนท์ บุตรสาวคนโต จบปริญญาเอกทางด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และ บุตรชายคนเล็ก ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ จบปริญญาเอกทางด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก สกอตแลนด์

 

เล่นดนตรีร่วมวงกับในหลวง รัชกาลที่ 9

หลังจากลาออกจากบริษัทเชลล์ แล้วย้ายมาทำงานที่บริษัทน้ำมันแสตนดาร์ด เวคัม ออยส์ เมื่อปี พ.ศ. 2498 ได้เล่นดนตรีอยู่กับวงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งนักเปียโน และมีโอกาสเล่นเปียโนถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันที่ไปออกอากาศ ณ สถานีวิทยุ อ.ส หลังจากนั้นได้ถวายตัวเพื่อเล่นเปียโนในวง ”ดนตรีลายคราม” ซึ่งนักดนตรีในวงส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นหม่อมเจ้า และชั้นหม่อมราชวงศ์ และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้ทรงแซกโซโฟน และคลาริเน็ตด้วยพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานชื่อและนามสกุลเป็น “แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้แต่นั้นมา และแมนรัตน์ ศรีกรานนท์เล่นดนตรีถวายในวงดนตรี อ.ส วันศุกร์ มาเป็นเวลาร่วม 50 ปี

นอกจากนี้ยังเคยร่วมเล่นดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สชั้นนำระดับโลก เช่น เบนนี กูดแมน สก็อต แฮมิลตัน และเบนนี คาร์เตอร์ เป็นต้น

 

 

กลายเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนดนตรีแด่เจ้าฟ้า

ต่อมาเมื่อบริษัทน้ำมันแสตนดาร์ด เวคัม ออยส์ แยกตัวออกเป็น 2 บริษัท คือ บริษัทน้ำมันเอสโซ และ บริษัท น้ำมันโมบิล แมนรัตน์ ศรีกรานนท์เลือกทำงานที่บริษัทน้ำมันโมบิล และได้ลาออกจากบริษัทนี้ในปี พ.ศ. 2508 เนื่องจากได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปศึกษาวิชาการดนตรีแจ๊ส ในสาขาวิชาเรียบเรียงเสียงประสานและการประพันธ์เพลงที่โรงเรียนการดนตรีเบิร์กลี (Berkley School of Music) ณ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี – Berkley College of Music) ในหลักสูตร 2 ปี จบการศึกษาได้รับ CERTIFICATE ทางด้าน JAZZ COMPOSITION หลังจากกลับมาประเทศไทย ได้นำความรู้ด้านดนตรีที่ร่ำเรียนมา เผยแพร่ให้แก่นักศึกษาไทย ต่อมาได้มาทำงานที่บริษัทสยามกลการ ดร.ถาวร พรประภามอบหมายให้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีสยามกลการขึ้น โดยในช่วงแรกได้เชิญนักเรียบเรียงเสียงประสานที่มีฝีมือมาเรียนกันแบบเพื่อนฝูง เช่น ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ประภาส อมรพันธ์ นริศ ทรัพย์ประภา เป็นต้น ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้กลายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีให้แก่นักดนตรีอาชีพ และนักศึกษาทั่วไป แมนรัตน์ ศรีกรานนท์มีลูกศิษย์หลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน ขณะเดียวกันท่านก็เป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนจิตรลดา ทั้งยังเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนดนตรีแด่เจ้าฟ้าทุกพระองค์

 

 

นำความรู้มาประสิทธิ์ประสาทแก่วงการดนตรีของไทย

ลูกศิษย์ที่เรียนด้วยในขณะนั้นได้ตั้งวงดนตรีวงใหญ่ (BIG BAND) ขึ้น ชื่อ ‘วงดนตรี ม.ศ’ ซึ่งเป็นอักษรย่อมาจากชื่อของท่าน ‘แมนรัตน์ ศรีกรานนท์’ วงนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อทดลองเพลงที่นักเรียนแต่งมาจากการเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน และได้บรรเลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เป็นเวลาถึง 13 ปี

ในปี พ.ศ. 2517 ท่านลาออกจากโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เพื่อเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ.2530 จึงได้มาทำงานในบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ในตำแหน่งที่ปรึกษา จนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท

 

บทเพลงสวรรค์ที่ประพันธ์ฝากไว้ในแผ่นดิน  

ท่านประพันธ์เพลงมากว่า 1,000 บทเพลง โดยในขณะที่สอนอยู่ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ได้แต่งเพลงขึ้นหลายเพลง อาทิเช่น รักเอย ชั่วฟ้าดินสลาย จากยอดดอย สวรรค์อำพราง จับปู ใครเอ่ย ใจเอ๋ย ฯลฯ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ท่าน ได้แก่

เพลงรักเอย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ

 

 

เพลงชั่วฟ้าดินสลาย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงเงิน ใช้ประกอบในภาพยนตร์ไทยเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย

 

 

สำหรับเพลงจับปู เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนานมีวงดนตรีต่าง ๆ นำไปบรรเลงกันจนเป็นที่แพร่หลาย

 

 

บทเพลงอื่นที่ท่านสร้างฝากไว้ให้แผ่นดินที่มีความทรงคุณค่าก็มีอีกหลายบทเพลง เช่น เดือนจาก (ขับร้องเองในนาม “ชัย” บันทึกแผ่นเสียงกับวงคีตะเสวี) ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา แด่ทหารหาญในสมรภูมิ เนติบัณฑิตยสภา จับปูดำขยำปูนา รักลวง นวลแสงจันทร์ (ร้องคลอกับอรัญญา นามวงศ์ เฉพาะในแผ่นลองเพลย์ของภาพยนตร์เรื่องเกาะสวาทหาดสวรรค์)

 

 

สมเกียรติแห่งการเป็นศิลปินแห่งชาติ

ท่านได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีสากล เมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 เป็นผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับคณะนี้ และผู้บริหารโรงเรียนดนตรีสยามกลการ

 

 

สิ้นแล้ว…คีตกวีของแผ่นดิน

วันที่ 5 ก.ย. (วันนี้) ท่านได้จากโลกนี้ไปด้วยโรคชรา จากคำบอกของนางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ที่ได้รับแจ้งมาจากครอบครัวศรีกรานนท์ ว่าท่านถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ ณ บ้านเลขที่ 51  ถนนลาดพร้าว เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ 90  ปี ทั้งนี้ ทางครอบครัวกำหนดตั้งศพสวดอธิษฐาน ระหว่างวันที่ 7 – 10 กันยายน  เวลา  19.00 น.  ณ โบสถ์วัดพระมหาไถ่  ซอยร่วมฤดี  เขตปทุมวัน  กรุงเทพ และจัดพิธีฝังส่งวิญญาณ ในวันที่ 11 กันยายน 2561  ณ สุสานศานติคาม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :

th.wikipedia.org

www.thaipost.net

www.khaosod.co.th

http://www.bangkokbiznews.com


บทความน่าสนใจ

ตื่นตา ตื่นใจ ยิ่งใหญ่กว่าเดิม งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 20

ดนตรีจิตอาสา ความสุขในทุกบันไดเสียง

โทมัส วิกกินส์ ( Blind Tom ) ชายผู้เกิดเป็นทาส สู่นักดนตรีอัจฉริยะ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.