วังการี มาทาอี นักปลูกต้นไม้เพื่อสันติภาพ – ในประเทศเคนยา ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของการยุติความขัดแย้งมาแต่โบราณ
ตอนเด็กๆ วังการี มูตา มาทาอี (Wangari Muta Maathai) เคยได้ยินบรรดาผู้ใหญ่เล่านิทานเก่าแก่เรื่องหนึ่ง ความว่า
“เวลาที่พระอาทิตย์สาดแสงที่รุนแรงและยาวนานจนผิดปกติ ความแห้งแล้งก็จะมาเยือน สัตว์น้อยใหญ่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ต้นไม้พากันเหี่ยวแห้ง และผู้คนต้องสู้กันเพื่อแย่งชิงน้ำและอาหาร เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านจะจัดงานเฉลิมฉลองใต้ต้น “มูกูโม” (Mugumo) ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าคิคุยุ (Kikuyu – ชนเผ่าที่มีมากที่สุดในเคนยา และวังการีเป็นคนเผ่านี้) หลังจากทำพิธี ท้องฟ้าจะอวยพรด้วยการโปรยปรายสายฝน ยังความชุ่มฉ่ำแก่ผู้คนและผืนดิน ผู้เฒ่าในหมู่บ้านจะนำต้นอ่อนของต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ไปปลูกไว้ตรงกลางระหว่างคนสองคนที่กำลังโกรธกัน เมื่อนั้นจากคนที่เป็นศัตรูก็จะกลายเป็นมิตร”
อย่างไรก็ดี เมื่อโตขึ้น วังการีรู้ดีว่าการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างสันติภาพระหว่างคนที่คิดเห็นต่างกันกลับไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดายเหมือนในนิทาน
วังการีเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1940 ในปีที่วังการีถือกำเนิด ต้นไม้ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ชาวเคนยาสมัยโบราณเคยนับถือ ทว่าธรรมชาติยังคงความสมบูรณ์และงดงามอย่างน่าอัศจรรย์
วังการีเล่าว่า เธอสามารถวักน้ำจากลำธารขึ้นมาดื่มได้โดยตรง เธอชอบใช้ใบไม้ช้อนไข่กบที่ลอยเป็นแพ และเมื่อลองใช้นิ้วเขี่ยไข่กบ ลูกอ๊อดก็จะว่ายออกจากไข่ ภาพที่เห็นนี้ติดตรึงใจเธอมาตลอดชีวิต วังการีเชื่อว่า ธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวเธอเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รักอิสรเสรีและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
ความโชคดีอีกอย่างคือ ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวแม้แต่คนเดียวที่อ่านออกเขียนได้ แต่วังการีกลับได้รับการศึกษาที่ดีมาก เธอเรียนจบปริญญาตรีและโทด้านชีววิทยาจากสหรัฐอเมริกา และปรญิ ญาเอกด้านกายวิภาคสัตว์ (Veterinary Anatomy) จากมหาวิทยาลัยจีเซน (University of Giessen) ประเทศเยอรมนี ในปี 1967
หลังเรียนจบ วังการีทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคสัตว์ มหาวิทยาลัยไนโรบี และเข้าพิธีแต่งงานกับ เอ็มวังกี มาทาอี (Mwangi Mathai) เอ็มวังกีเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาเหมือนเธอ และมุ่งมั่นที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน
ในการเลือกตั้งปี 1974 เอ็มวังกีชูนโยบายการสร้างงานเพื่อดึงคะแนนเสียงจากชาวเคนยาจำนวนมหาศาลที่กำลังตกงาน แต่เมื่อได้ชัยชนะเขากลับไม่ได้สนใจที่จะรักษาสัญญาแม้แต่น้อย ในขณะที่วังการีซึ่งช่วยสามีหาเสียงมาโดยตลอดพยายามมองหาวิธีที่จะรักษาสัญญา
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง วังการีได้เดินทางไปเก็บตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดวัวในชนบท เธอพบว่าวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ผอมโซอย่างน่าใจหาย ไม่นานนักเธอก็รู้ว่าสาเหตุเกิดจากการเสียสมดุลของธรรมชาติ ชาวบ้าน (ซึ่งได้รับการผลักดันจากรัฐบาลและผู้ปกครองในยุคอาณานิคม) พากันตัดต้นไม้โดยไม่วางแผนเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างชาและกาแฟ ทำให้สัตว์ขาดแคลนทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหาร และผู้คนขาดแหล่งอาหารและน้ำตามธรรมชาติ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เคนยาจะกลายเป็นประเทศที่แห้งแล้ง และประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้วังการีจึงเปิดบริษัทเพื่อสร้างงานให้คนจน และรณรงค์การปลูกต้นไม้ไปพร้อมๆ กัน ทว่าบริษัทของเธอต้องประสบปัญหามากมายจนต้องปิดตัวลงในที่สุด อย่างไรก็ดี ในปี 1977 วังการีจับมือกับสภาสตรีแห่งชาติเคนยาจัดทำโครงการ Save the Land Harambee หรือโครงการ “หนึ่งคน…หนึ่งต้น” และใช้วันสิ่งแวดล้อมโลก คือ วันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1977 เป็นวันเริ่มต้นโครงการ
ในวันนั้น วังการีเดินนำประชาชนหลายร้อยคนจากสนามบินนานาชาติเคนยัตตาไปยังสวนสาธารณะกามูกุนจี (Kamukunji) ซึ่งอยู่นอกเมืองหลวงเพื่อปลูกต้นไม้ 7 ต้นเป็นสัญลักษณ์ ต้นไม้เจ็ดต้นนี้เปรียบได้กับ เข็มขัดสีเขียว (Green Belt) เส้นแรก และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของ เดอะกรีนเบลท์มูฟเมนต์ (The Green Belt Movement) กลุ่มคนที่ทำงานเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวในเคนยา
ระยะแรก วังการีรณรงค์ให้หญิงชาวบ้านเก็บเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นมาเพาะ เมื่อได้เป็นต้นอ่อน เธอจะจ่ายเงินให้ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย คือราวๆ 4 เซ็นต์ต่อต้นไม้หนึ่งต้น แต่ก็เป็นโครงการที่ผู้หญิงในชนบททุกคนให้ความสนใจ หลังจากนั้นคนที่ต้องการปลูกต้นไม้ก็สามารถรับพันธุ์ไม้ไปปลูกได้ฟรี ในเวลาต่อมาเดอะกรีนเบลท์ฯ ได้จัดตั้งกลุ่มการศึกษาขนาดย่อมในหลายๆ พื้นที่ เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านในเรื่องที่เกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้ สิทธิในการจัดการกับทรัพยากร และความรู้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ
ในขณะที่วังการีเริ่มมีชื่อเสียงจากงานที่ทำ เอ็มวังกีกลับทำเรื่องฟ้องหย่า เขากล่าวหาว่า “วังการีหัวแข็งและดื้อเกินไป” คดีหย่าดำเนินไปอย่างอื้อฉาว หลังหย่าเขาส่งจดหมายบอกให้เธอเลิกใช้นามสกุลของเขา วังการีจึงเติมตัว “เอ” ในนามสกุลเพิ่มอีกตัวหนึ่งจาก Mathai เป็น Maathai
ปี 1989 เมื่อรัฐบาลพยายามเปลี่ยนสวนสาธารณะอูฮูรู (Uhuru) ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวเพียงแห่งเดียวใจกลางกรุงไนโรบีให้กลายเป็นตึกระฟ้าขนาด 60 ชั้น วังการีและเพื่อนจึงเดินหน้าคัดค้านการก่อสร้างอย่างเต็มตัว พวกเขาต้องปะทะกับกองกำลังทหารและตำรวจหลายครั้ง อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันจากผู้สนับสนุนจำนวนนับล้าน และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลจำใจต้องยกเลิกโครงการนี้ในที่สุด
หลังเหตุการณ์นั้น รัฐบาลก็หมายหัววังการีว่าเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและทำทุกวิถีทางเพื่อยุติบทบาทของเธอ แต่วังการีไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว เธอใช้ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างประชาธิปไตย และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองในปี 1992 คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปี 1998 และ…ฯลฯ วังการีต้องเผชิญกับการข่มขู่ การปรักปรำ การคุมขัง และการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมหลายครั้ง จนเธอพูดอย่างติดตลกว่า คงเป็น “โชค” เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ทำให้เธอรักษาชีวิตไว้ได้
โดยทั่วไป ถ้าอุปสรรคไม่ทำให้คนท้อจนต้องถอนตัวก็จะทำให้คนคนนั้นแข็งแกร่งขึ้น วังการีเป็นคนประเภทหลัง ดังนั้นเมื่อโดนรัฐบาลรังแกหนักเข้า จากที่ไม่เคยคิดทำงานการเมืองเลย เธอก็หันมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และลงสมัครรับเลือกตั้ง
หลังจากต่อสู้ทางการเมืองมานานกว่า 10 ปี ในปี 2003 เธอลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค National Rainbow Coalition ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพรรคเล็กๆ ฝ่ายค้าน โดยมี เอ็มวาอี กีบากี (Mwai Kibaki) เป็นหัวหน้าพรรค วังการีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 98 เปอร์เซ็นต์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจนถึงปี 2005
ด้วยผลงานด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่น ทำให้วังการีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2004 และเธอเป็นผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
ส่วนรางวัลที่ไม่ต้องมีสถาบันไหนมอบให้ แต่ วังการี มาทาอี เป็นเจ้าของอย่างเต็มภาคภูมิก็คือ การเป็น “แรงบันดาลใจ” อันยิ่งใหญ่ของคนรุ่นหลังที่พยายามปกป้องผืนป่าและสันติภาพของมนุษย์
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ ke.usembassy.gov