มะเร็งผิวหนัง ภัยร้ายคร่าชีวิต
เชื่อว่าหลายคนคงได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ ไข่มุก ซุปตาร์ ด้วยโรคมะเร็งผิวหนังกันแล้ว แม้โรคนี้จะพบไม่บ่อย และข่าวคราวการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ก็แทบไม่ค่อยได้เห็น แต่เราก็อยากให้หลายๆ คนทราบข้อมูลเกี่ยวกับ โรคมะเร็งผิวหนัง เอาไว้ เพื่อสังเกตร่างกายของตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวดาราตลกดังเสียชีวิต
ข้อหยิบยกเนื้อข่าวจาก thairath.com
ระบุว่า
หลังจากที่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายมานาน และเพิ่งจะขอรับบริจาคเงินจากแฟนๆ เพื่อไปทำคีโมครั้งสุดท้าย และเก็บไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในการรักษาตัว แต่กลับเจออาการแทรกซ้อนจนต้องพักการทำคีโมเอาไว้ก่อน แต่ด้วยกำลังใจที่ยังดี ทำให้ ไข่มุก ซุปตาร์ หรือ พิพัฒน์ ผึ้งทรัพย์ นางโชว์และดาวตลกชื่อดัง ยังมีหวังและกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้าย รักษาตัวเองให้หาย และกลับมาทำงานที่ตัวเองรักอีกครั้ง
แต่เพราะถูกโรคร้ายรุมเร้ามานาน บวกกับมีอาการแทรกซ้อน จึงทำให้ ไข่มุก ซุปตาร์ ได้เสียชีวิตลงแล้วในวันนี้ และในวันพรุ่งนี้ (11 ธันวาคม) เวลา 17.00 น. จะมีการรดน้ำศพที่วัดหนามแดง เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ และทางบันเทิงไทยรัฐออนไลน์ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของไข่มุกด้วยนะคะ
การจากไปของดาราตลกคนดังสร้างความอาลัยแก่ญาติๆ เพื่อนๆ และแฟนๆ และเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงภัยร้ายของมะเร็ง(ที่แม้จะพบได้ไม่บ่อย)นี้ เราจึงนำข้อมูลจาก ฐานข้อมูลออนไลน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาให้อ่านกันค่ะ
รู้จักโรคมะเร็งผิวหนัง
ปัจจุบันนี้พบโรคมะเร็งผิวหนังได้บ่อยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งผิวหนังมีดังนี้
- โรคทางพันธุกรรมบางโรค
- คนผิวขาว หรือคนเผือก
- แสงแดด
- สารเคมี เช่น สารหนู (Arsenic)
- ไวรัสหูด (human papilloma virus) บางชนิด
- แผลเรื้อรัง
- การได้รังสีรักษา
- ภาวะภูมิต้านทานต่ำ
- การสูบบุหรี่
โดยมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยในคนไทย มี 3 ชนิดคือ Basal Cell Carcinoma, Squamous Cell Carcinoma และ Malignant Melanoma
Basal Cell Carcinoma
พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ลักษณะเป็นตุ่มผิวเรียบ ขอบจะมันวาว บางครั้งขอบอาจมีขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย และอาจมีหลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่ผิว ในคนไทยตุ่มมักมีสีดำหรือสีน้ำตาลปะปนมากน้อยแตกต่างกัน บางรายอาจมีแผลแตกตรงกลางรอยโรค ขยายกว้างออกช้า ๆ ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือศีรษะและลำคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จมูก ลักษณะเด่นของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลหรือดำ ล้อมรอบด้วยขอบมันวาว ยกและม้วนเข้า
Squamous Cell Carcinoma
พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ระยะเริ่มจะเป็นก้อนขนาดเล็ก สีผิวปกติหรือแดงเล็กน้อย แข็ง ขอบเขตไม่ชัดเจน ผิวมักจะขรุขระ และอาจมีขุยร่วมด้วย ต่อมารอยโรคจะกว้างออกและลึกลงไปเรื่อย ๆ จนผิวแตกออกเป็นแผล มีสะเก็ด เลือดออก และมีกลิ่นเหม็น มักพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ แขน และหน้าอก มะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน มีผิวขรุขระ และมีขุย มักแตกออกเป็นแผล
Malignant Melanoma
พบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ผู้ป่วยมักอยู่ในอายุระหว่าง 50 – 70 ปี มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดที่ตำแหน่งใดบนร่างกายก็ได้ อาจพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำหรือไม่ก็ได้ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีดำเข้ม แต่ก็พบมีหลายสีได้ ตั้งแต่สีดำ แดง ชมพู น้ำตาล เทา โดยสีของมะเร็งผิวหนังจะกระจายบนก้อนไม่สม่ำเสมอกัน ในคนไทยมักพบมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ถึงร้อยละ 50 มะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักเกิดบนตำแหน่งที่เป็นไฝเดิม แล้วมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป หรือเป็นไฝที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยไฝเหล่านี้จะมีลักษณะขอบเขตไม่ชัดเจน มีสีไม่สม่ำเสมอ มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา
อ้างอิง : บทความ มะเร็งผิวหนัง โดย ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 สารอาหารป้องกันมะเร็ง ช่วยร่างกายแข็งแรง
วิตามินธรรมชาติ ป้องกันมะเร็ง ทุกอวัยวะ
เคล็ดลับความงาม เพื่อผิวสวย สู้แดด