ไขข้อข้องใจ เกี่ยวกับ สูติ-นรีเวช ที่ผู้หญิงมักเข้าใจผิด

สูติ-นรีเวช เรื่องใดบ้างที่ผู้หญิงมักเข้าใจผิด และสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร

สูติ-นรีเวช คือเรื่องเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ซึ่งในบทความนี้ เรามีข้อมูลดีๆ จาก พญ. ชัญวลี ศรีสุโข มาบอกเล่า 6 ความเชื่อที่ผิดทางสูติ-นรีเวช มาบอกต่อ

คุณหมอชัญวลี เผยว่า นิตยสารทางการแพทย์ของอเมริกาฉบับหนึ่ง ตีพิมพ์บทความแนะนำว่า ผู้หญิงเราควรมีหมอสูติฯ สักหนึ่งคนที่รู้จัก และเป็นหมอประจำตัว เพราะหมอสูตินั้นสามารถดูแลผู้หญิงคนหนึ่ง ได้ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิด วัยรุ่น วัยท้อง วัยทอง จนถึงวัยชราทีเดียว ฟังแล้วพลอยเห็นความสำคัญของหมอสูติขึ้นมาบ้าง และเห็นด้วยว่า ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงเราควรรู้จักหมอสูติสักคน หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าเมื่อมีอาการผิดปกติภายใน จะไปหาหมอสูติคนไหน จากประสบการณ์ในการเป็นสูติแพทย์ พบว่ามีหลายสิ่งที่ผู้หญิงเราเข้าใจผิด ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ในบางรายกว่าจะมาหาหมอก็สายเกินแก้แล้ว”

6 ความเชื่อที่ผิดทางสูติ-นรีเวช

1. หากเราคุมกำเนิดดี เกิดประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนที่ไม่มาเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์

นี่เป็นความเชื่อที่ผิด สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของประจำเดือนไม่มาคือการตั้งครรภ์ ไม่ว่าคุณกำลังคุมกำเนิดด้วยวิธีใด เช่น ใช้การนับวัน, มีเพศสัมพันธ์ในวันปลอดภัย, รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด, ฝังยาคุมกำเนิด, สวมห่วงอนามัย, ใส่ถุงยางอนามัย, หลั่งนอกฯลฯ คุณสามารถพลาดตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณควรจะทำเมื่อประจำเดือนขาดคือตรวจน้ำปัสสาวะหาการตั้งครรภ์ หากไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของประจำเดือนไม่มา หากพลาดตั้งครรภ์ก็ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆค่ะ

2. ประจำเดือนมาน้อยถือว่าไม่ดี เลือดไม่ถ่ายเท อาจทำให้ผิวพรรณไม่สวยงามผุดผ่อง ทั้งยังเป็นโรคมะเร็งได้

นี่เป็นความเชื่อที่ผิด ประจำเดือนเป็นเลือดดีไม่ใช่เลือดเสีย ดังนั้นไม่ว่าจะมาน้อยมามาก ก็ไม่เกี่ยวกับผิวพรรณผุดผ่องแต่อย่างใด ทั้งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของประจำเดือนมาน้อยคือ การคุมกำเนิด(ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด) และระบบฮอร์โมนไม่ปกติเช่น กลุ่มอาการของโรครังไข่หนา(Polycystic ovarian disease)ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการ หน้ามัน, ขนดก, อ้วน, และมีประจำเดือนมาน้อย ซึ่งควรต้องพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ประจำเดือนมาน้อยไม่ค่อยเกี่ยวกับมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์

3. ประจำเดือนมามากเป็นเรื่องดี เลือดถ่ายเท ทำให้ผิวพรรณสวยงามผุดผ่อง ไม่ปวดหัว ไม่ปวดหลังจากการที่มีเลือดอั้น

นี่เป็นความเชื่อที่ผิด ดังที่กล่าวแล้วว่าประจำเดือนเป็นเลือดดีไม่ใช่เลือดเสีย การมีประจำเดือนมาก มีความจำกัดความคือ มีประจำเดือนมานานเกิน7วัน วันหนึ่งใช้ผ้าอนามัยเป็น 10 ผืน ประจำเดือนมามากทำให้เสียเลือด ในบางรายตกเลือดจนความดันโลหิตตก เกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งสาเหตุประจำเดือนมามาก ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้องอกและมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ ดังนั้นเมื่อมีประจำเดือนมามาก ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องดี ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนจะสายเกินแก้

สูติ-นรีเวช

4. การมีตกขาว ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

นี่คือความเชื่อที่ผิด ตกขาวนั้นเป็นการทำงานของต่อมมูกของช่องคลอด, ต่อมมูกของปากมดลูก , ต่อมน้ำหล่อลื่นบาร์โธลีน(Bartholin’s gland) และต่อมมูกข้างๆรูปัสสาวะ(Vestibular gland) ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน ดังนั้นผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัยที่มีประจำเดือนต้องมีตกขาว ซึ่งมีลักษณะเป็นมูกใส ไหลออกมา2ช่วงของรอบเดือน คือหนึ่ง ก่อนรอบเดือนจะมา1-2วัน สองช่วงไข่ตก คือประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ตกขาวที่ถือว่าผิดปกติ จะต้องพบแพทย์คือ

– ตกขาวในเด็กหญิงที่ไม่เข้าสู่วัยรุ่น ยังไม่มีประจำเดือน

– ตกขาวในหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว

– ตกขาวมีจำนวนมากกว่าปกติ เช่นมาทั้งเดือน เป็นมากจนเปียกชั้นในตลอดเวลา

– ตกขาวมีสี เช่นสีครีม สีเหลือง สีเขียว ฯลฯ

– ตกขาวมีกลิ่น เช่นกลิ่นเปรี้ยว กลิ่นเค็ม กลิ่นฉุน กลิ่นเน่าฯลฯ

– ตกขาวเป็นมูกปนเลือด

– ตกขาวร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่นมีไข้ ปวดท้อง คลำก้อนได้ที่ท้องน้อย น้ำหนักลด

5. มดลูกต่ำ หรือมดลูกหย่อนทำให้มีลูกยาก

นี่คือความเชื่อที่ผิด ผู้หญิงหลายคนยังไม่มีลูกเลย มาพบแพทย์เพื่ออยากให้ตรวจดูว่ามดลูกอยู่ต่ำหรือไม่ เมื่อถามเหตุผล เหตุผลมักจะเป็นว่าเพราะมีลูกยาก อยากมีลูก สิ่งที่ถูกคือ มดลูกต่ำหรือหย่อนไม่ค่อยเกิดกับคนที่ยังไม่มีลูก มดลูกต่ำหรือหย่อนน่าจะทำให้มีลูกง่ายด้วยซ้ำ เพราะปากมดลูกเคลื่อนตัวลงมารับอสุจิ ทำให้รับอสุจิได้ง่ายขึ้น ทั้งคนที่มีภาวะนี้ มักจะเคยคลอดลูกมาแล้วหลายคน มดลูกต่ำหรือหย่อนจึงไม่เกี่ยวข้องกับการมีลูกยาก

6. ผายลมออกทางช่องคลอดแสดงว่าช่องคลอดหย่อนต้องทำรีแพร์

นี่คือความเชื่อที่ผิด ความเชื่อที่ถูกคือการผายลมทางช่องคลอด พบเจอได้ตั้งแต่ในคนสาวๆยังไม่ผ่านเพศสัมพันธ์ จนถึงผ่านเพศสัมพันธ์แล้ว มักจะเป็นเมื่อมีกิจกรรม เช่นเล่นโยคะ, ขมิบช่องคลอดอย่างแรง, ยกตัวขึ้นสูง, มีเพศสัมพันธ์ในท่าที่ทำให้ลมถูกดันเข้าไปภายในฯลฯ จะผายลมออกจากช่องคลอดได้กล้ามเนื้อช่องคลอดต้องแข็งแรงดีจึงสามารถดูดลมเข้าช่องคลอด และดันลมออกมาได้ การผายลมทางช่องคลอดจึงไม่เกี่ยวกับความจำเป็นต้องเย็บซ่อมทำสาวที่เรียกว่ารีแพร์แต่ประการใดค่ะ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.