จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย จากคนไร้บ้านสู่มหาเศรษฐีพันล้าน
คนส่วนใหญ่เมื่อล้มเหลวมักรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้กำลังใจ และละทิ้งความฝันไว้กลางทางแต่ไม่ใช่ จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย (John Paul Jones DeJoria) ผู้เปลี่ยนความผิดหวังให้กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่
กว่าจะเป็นมหาเศรษฐี
จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1944 ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่ออายุได้ 2 ปี พ่อกับแม่ก็แยกทางกัน จอห์นเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการขายบัตรอวยพรวันคริสต์มาสและหนังสือพิมพ์เมื่อเขาอายุได้เพียง 9 ปี ต่อมาจอห์นและพี่ชายถูกส่งไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะแม่ของพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงดูลูกทั้งสองคนได้
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายในปี ค.ศ. 1962 เขาเข้าร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังปลดประจำการ เขาประกอบอาชีพมากมายหลายอย่างตั้งแต่เป็นภารโรงไปจนถึงคนขายประกัน
ต่อมาจอห์นได้ทำงานในบริษัทเรดเคนแลบอราทอรีส์ (Redken Laboratories) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านผลิตภัณฑ์สำหรับร้านทำผมในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เขาถูกไล่ออกเพราะเห็นแย้งกับนโยบายของบริษัท หลังจากนั้นจอห์นจึงมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม อย่างพอลมิทเชลซิสเต็มส์ (Paul Mitchell Systems) ร่วมกับ พอล มิทเชล เพื่อนช่างทำผมของเขา
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จอห์นหย่าร้างกับภรรยาคนที่ 2 และออกจากบ้านมาอาศัยกินนอนบนรถ จอห์นต้องจำกัดการใช้เงินของตนเองวันละไม่เกิน 2 ดอลลาร์ อีกทั้งยังเก็บขวดและกระป๋องไปขายเพื่อประทังชีวิต อาศัยอาบน้ำในสวนสาธารณะ หลังจากที่จอห์นต้องอยู่อย่างคนไร้บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เขาก็ได้พบกับ โจแอนนา เพ็ทเท็ท นักแสดงชาวอังกฤษ ให้ที่พักกับจอห์นเป็นระยะเวลา 2 เดือน จนกระทั่งเขาเริ่มตั้งตัวได้
จอห์นและมิทเชลมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ทั้งคู่เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อนำสินค้าไปเสนอ พร้อมสาธิตผลิตภัณฑ์ให้เจ้าของร้านดูโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังรับรองกับเจ้าของร้านต่าง ๆ ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถทำเงินได้อย่างแน่นอน ถ้าหากขายไม่ได้ เจ้าของร้านสามารถนำสินค้ามาแลกเงินคืนได้ทั้งหมด วิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์เช่นนี้นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการดูแลเส้นผม ทำให้บริษัทพอลมิทเชลซิสเต็มส์กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้นจอห์นยังถือหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย เช่น สโมกกี้เมาน์เทนไบซันฟาร์ม (Smokey Mountain Bison Farm) ทัชสโตนแนเชอรัลแก๊ส (Touchstone Natural Gas) เป็นต้น
“ความสำเร็จที่ไม่แบ่งปัน เท่ากับความล้มเหลว”
จอห์นนับเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีใจบุญที่อุทิศตนเพื่อสังคมผ่านการสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ มากมาย นอกจากนั้นจอห์นยังได้ริเริ่มวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า วัฒนธรรมแห่งการให้ หรือ Culture of Giving ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรภายในองค์กรของเขา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 โรงเรียนเสริมความงามพอลมิทเชลได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระดมทุนช่วยเหลืองานการกุศลทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยรวบรวมเงินบริจาคตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ได้มากกว่า 15,200,000 ล้านดอลลาร์
ด้วยปรัชญาการดำเนินชีวิตของจอห์นที่ว่า “ความสำเร็จที่ไม่แบ่งปันเท่ากับความล้มเหลว” ทำให้เขาได้รับยกย่องให้เป็นมหาเศรษฐีต้นแบบผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงานและการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม
ที่มา นิตยสาร Secret
ภาพ parade.com