ออกซิเจน VS ซีพีอาร์ จำเป็นต่อผู้ป่วย หัวใจวาย แค่ไหน
คุณพ่ออายุ 64 เป็นโรคหัวใจ เข้าโรงพยาบาลกลางดึก หมอบอกว่าเป็น หัวใจวาย (Heart Attack) ต้องทำบอลลูนสามเส้นฉุกเฉิน ตอนนี้กลับมาอยู่บ้านแล้ว แต่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่บ้าง ให้ย้ายมานอนชั้นล่าง พยายามเตรียมความพร้อมที่บ้าน ตัวเองฝึกทำ CPR ตามที่คุณหมอสันต์สอนในยูทูบ จนมั่นใจแล้วว่าทำได้ หนูคิดว่าจะไปหาซื้อออกซิเจนมาใช้เวลาฉุกเฉินขณะนำส่งโรงพยาบาล จะได้มีออกซิเจนให้ท่านได้ นอกจากนี้แล้วหนูควรจะเตรียมอะไรอีกไหมคะ
คุณหมอสันต์ตอบ
พูดถึงออกซิเจน คนทั่วไปมองว่าออกซิเจนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางการแพทย์ ชนิดที่ถ้าไม่มีก็จะถือเอาเป็นเหตุฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์หรือโรงพยาบาลได้
สมัยก่อนผมทำงานให้ฝรั่ง มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อริชาร์ดเป็นหมอและเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ก่อนมามีอาชีพหมอ ริชาร์ดมีอาชีพเป็นสัปเหร่อหากินอยู่แถวเมืองดัลลัส เขาเล่าว่าตอนนั้นประมาณปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นยุคที่สำนักงานสัปเหร่อ (Funeral House) ยังประกอบธุรกิจรถฉุกเฉินส่งผู้ป่วยหนักอยู่ แต่ก็กำลังเสียพื้นที่ให้ระบบรถฉุกเฉินของเทศบาล ซึ่งออกรถมาทำธุรกิจเดียวกันทำให้ธุรกิจนี้สาละวันเตี้ยลงๆ
ริชาร์ดเล่าว่า ณ จุดก่อนจะเจ๊งไม่มีเงินซื้อแม้แต่ออกซิเจนที่ใช้นำส่งคนไข้ เวลานำส่งผู้ป่วยหนักต้องเอาหน้ากากออกซิเจนทำทีครอบจมูกผู้ป่วยไว้ ตั้งถังออกซิเจนต่อสาย แล้วให้พนักงานคนหนึ่งนั่งเฝ้าผู้ป่วยอยู่ข้างหลัง ชวนญาติผู้ป่วยมานั่งข้างหน้าข้างคนขับ ให้พนักงานที่นั่งข้างหลังทำเสียงซื่อ…อ…อ ทำทีเป็นว่า
มีออกซิเจนไหลอยู่พอให้ญาติได้ยิน เพราะที่จริงแล้วมีแต่ถังเปล่า
จะไม่หลอกว่ามีออกซิเจนก็ไม่ได้ เพราะญาติผู้ป่วยถือว่าออกซิเจนสำคัญเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย ความเชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่ตอนโน้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วออกซิเจนไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับการที่ผู้ป่วยหนักโรคหัวใจจะรอดหรือไม่รอดเลย เว้นเสียแต่จะเป็นผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนเป็นทุน เช่น เป็นโรคทางเดินลมหายใจอุดกั้นอยู่ก่อนเท่านั้น
ไม่นานมานี้มีการทำวิจัยขนาดใหญ่งานหนึ่งที่สวีเดน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ งานวิจัยนี้ทำกับผู้ป่วยที่หัวใจวาย (Heart Attack) ที่เข้ามารักษาในระบบโรงพยาบาล 35 แห่งที่สวีเดน จำนวน 6,243 คน นับตั้งแต่เคลื่อนย้ายจากบ้านมาเลย โดยวัดออกซิเจนที่ปลายเล็บ แล้วเลือกคนที่ได้ออกซิเจนปลายเล็บ (O2 Sat) สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งก็คือคนไข้เกือบทั้งหมด) มาจับฉลากแบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ใช้ออกซิเจนผ่านหน้ากากครอบปากและจมูกตลอดแบบมาตรฐานทุกวันนี้
กลุ่มที่สองไม่ให้ออกซิเจนเลย ไม่ว่าจะอาการหนักหรือพะงาบหรือหัวใจหยุดเต้นก็ไม่ให้ออกซิเจน แล้วดูผลว่ากลุ่มไหนจะเสียชีวิตมากกว่ากัน ปรากฏว่าตายเท่ากัน แม้แต่ผลเลือด เช่น ความเป็นกรดด่างของเลือดก็ไม่ต่างกัน และเมื่อตามดูไปนานหนึ่งปีผลต่างๆ ก็ยังไม่ต่างกันอยู่นั่นเอง จึงสรุปจากงานวิจัยนี้ได้ว่า สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่มีโรคอื่นที่ทำให้ขาดออกซิเจนอยู่ก่อนแล้ว ออกซิเจนเป็นเพียงประเพณีนิยมในการรักษาเท่านั้นหามีประโยชน์อะไรมากไปกว่าการอยู่เปล่าๆ ไม่