รู้จักกับการ ผ่าตัดลดน้ำหนัก อีกหนึ่งวิธีรักษาโรคอ้วนที่ได้ผล
วันนี้ผู้เขียนจะพามาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งวิธีรักษาโรคอ้วนด้วยการ ผ่าตัดลดน้ำหนัก ค่ะ เหมาะสำหรับคนที่ทำทุกวิถีทางแล้วไม่ได้ผล และความอ้วนนำโรคพ่วงมากมายจนมีปัญหาสุขภาพมากมาย ฝากไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนะคะ
ว่ากันด้วย “โรคอ้วน” ก่อน
นาวาโท นพ.คมเดช ธนวชิระสิน ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้องโรคอ้วนและเมตาโบลิค โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่า “ความอ้วนของคนบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะสมดุลของระบบเผาผลาญผิดปกติ ที่มาจากความเครียดและสาเหตุอื่น ๆ และส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เช่น ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) กระตุ้นความหิวหลั่งออกมามากผิดปกติ หรือฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากระตุ้นอาการอยากหวานมากเกินไป จนตามมาซึ่งผลของ ‘ภาวะโรคอ้วน’ ที่ควบคุมไม่ได้ และที่อาจแย่กว่านั้น ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้หลายคนโทษตัวเองว่า ความอ้วน คือตราบาป (stigma) ทางจิตใจ จนเกิดผลเสียมากมายตามมา”
“วิธีการผ่าตัดลดน้ำหนัก” จึงถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดความอ้วนที่ควบคุมไม่ได้ อย่างได้ผล
ผ่าตัดลดน้ำหนักทำอย่างไรบ้าง
“การผ่าตัดลดน้ำหนักที่แพทย์สากลยอมรับมีอยู่ 2 วิธี” คุณหมอคมเดช เอ่ย “วิธีแรกคือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ (Restrictive procedure) เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด แนวทางของวิธีการนี้คือ การส่องกล้องเพื่อตัดกระเพาะออกบางส่วน (Laparoscopic sleeve gastrectomy) จนทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กลง และทำให้เราทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งเป็นการปรับสมดุลการกินและความหิวอย่างได้ผล จนทำให้การลดน้ำหนักประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ”
สำหรับโปรแกรมผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร ด้วยเทคโนโลยี 4K “อีกวิธีที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การผ่าตัดเพื่อลดการดูดซึมอาหาร (Mal-absorptive procedure) ซึ่งเป็นการทำบายพาส (bypass) อาหาร ให้ไปเริ่มต้นการดูดซึมที่ทางเดินอาหารส่วนล่างเลย เพื่อให้อาหารที่ทานเข้าไปไม่ผ่านบริเวณที่มีการดูดซึมอาหารมาก เช่น การผ่าตัดแกสสตริกบายพาส (Roux-en-Y gastric bypass) ซึ่งจะลดขนาดกระเพาะควบคู่กับการบายพาสอาหาร ซึ่งช่วยให้ความอยากอาหารมากผิดปกติ ลดลงตามไปด้วย”
สรุปง่ายๆ คือ การผ่าตัดทั้ง 2 วิธีนี้ จะทำให้จุดกำเนิดฮอร์โมนความหิวอย่าง “กระเพาะอาหาร” มีขนาดที่เล็กลง จึงลดการหลั่งฮอร์โมนเกรลินไปด้วย ทำให้ลดความอยากอาหาร และลดปริมาณอาหารที่ทานเข้าไปด้วยนั่นเอง
(ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพระรามเก้า)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 อันตราย ที่ตามมากับ โรคอ้วนลงพุง หากปล่อยทิ้งไว้
ผู้เชี่ยวชาญแนะ กินเร็ว เสี่ยงเป็นโรคอ้วน
รู้หรือไม่ โรคอ้วนลงพุงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของ สว.อย่างมาก?