สมุนไพรแก้ลมพิษ

สูตรแก้ลมพิษ ด้วยสมุนไพร ทำได้ หายคัน

สูตรแก้ลมพิษ ด้วยสมุนไพรไทย

สูตรแก้ลมพิษ ด้วยสมุนไพรไทย เรียกได้ว่าเป็นของดีที่ทุกคนควรรู้ โดยเฉพาะในช่วงที่มลพิษทางอากาศของเราเยอะมาก จนเป็นลมพิษกันได้ง่ายๆ และบ่อยกว่าเมื่อก่อน ซึ่งสมุนไพรไทยที่จะใช้แก้ลมพิษก็เป็นของหาง่าย ที่แอดว่าหาได้ในตลาด เผลอๆ บางคนก็มีติดบ้านด้วยซ้ำ

ลมพิษ คือ

ลมพิษ เป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นแดง นูน ไม่มีขุย มีขนาดแตกต่างกันแล้วแต่อาการของแต่ละบุคคล  ผื่นคันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายตามร่างกาย แขน ขา และใบหน้า ซึ่งผื่นคันที่ขึ้นตามร่างกายนั้นจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นแดงก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ผื่นคันก็สามารถขึ้นตามร่างกายที่อื่นได้เรื่อย ๆ 

ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าผู้ป่วยบางรายอาจจะมีริมฝีปากบวม (Angioedema) บางรายก็อาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก บางรายก็มีอาการรุนแรง เช่น หอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ และบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

จากการศึกษาพบว่า ในผู้ใหญ่ประมาณ 25% จะเคยมีอาการของลมพิษอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แต่จะมีเพียงประมาณ 3% เท่านั้นที่เป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง และประมาณ 35% ของลมพิษมักมีสาเหตุมาจากสาเหตุทางกายภาพ

ส่วนการศึกษาของนักศึกษาแพทย์โรงพยาบาลศิริราชจำนวน 428 คน พบว่า 51.6% เคยเป็นลมพิษมาก่อน, 19.6% เคยเป็นแองจิโออีดีมา (Angioedema ซึ่งเป็นภาวะการบวมของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยมีลักษณะกดไม่บุ๋ม บวมนูนคล้ายลมพิษ แต่ขนาดใหญ่และมีอาการรุนแรงกว่า มักพบบริเวณดวงตา ริมฝีปาก มือ เท้า ซึ่งเป็นอาการของการแพ้บางอย่าง) และพบร่วมกันใน 13.6%

ในกลุ่มที่เป็นลมพิษจะแบ่งเป็นลมพิษชนิดเฉียบพลัน 93.2% และลมพิษเรื้อรัง 5.4% ส่วนข้อมูลจากผู้ป่วยนอกหน่วยตรวจผิวหนังโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.2550 ที่มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 71,053 คน ในจำนวนนี้ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นลมพิษ 2,104 คน หรือคิดเป็น 2.96%

ลมพิษ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ลมพิษเฉียบพลัน มีลักษณะผื่นลมพิษเป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มัก ได้แก่ อาหาร ยา หรือการติดเชื้อ
  2. ลมพิษเรื้อรัง มีลักษณะผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน การปฏิกิริยาของผิวหนังกับสภาพอากาศ เป็นต้น

อาการลมพิษ

สาเหตุการเกิดลมพิษ

สาเหตุส่วนใหญ่ของลมพิษจะเกิดจากอาการแพ้ มีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ บางครั้งอาจเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายตัวเอง และในบางรายพบว่าการเป็นลมพิษอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคไทรอยด์ หรือลูปัส (Lupus) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่รู้จักกันว่า โรคพุ่มพวง  โดยสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดลมพิษ มีดังนี้ 

  1.  อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
  2.  ยา ปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นลมพิษ เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด
  3.  การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ
  4.  โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอย์
  5.  อิทธิพลทางกายภาพ หรือผลจากปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น แสงแดด การออกกำลังกาย เป็นต้น
  6.  การแพ้สารที่สัมผัส เช่น การแพ้ยา ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด
  7.  มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกาย

ทั้งนี้ผู้ป่วยลมพิษจึงควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด  ซึ่งหากพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดลมพิษและหลีกเลี่ยงหรือรักษาสาเหตุได้ จะทำให้โรคลมพิษสงบลงหรือหายขาดได้

ลมพิษรักษาอย่างไร

ลมพิษ ถือได้ว่าเป็นโรคเงียบที่ร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้เข้ารับการรักษา เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษาอาการลมพิษไว้เบื้องต้น ดังนี้ (แต่ทางที่ดีที่สุด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกที่ควร)

  1. พยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ และควรหลีกเลี่ยง เช่น ถ้าแพ้ยาหรืออาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ให้หยุดยาหรือเลิกกินอาหารชนิดนั้น ๆ
  2. การให้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด หลายกลุ่ม มีทั้งออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว ทั้งแบบกินแล้วง่วงและไม่ง่วงนอน การที่จะใช้ยาตัวใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และการตอบสนองของผู้ป่วย เพราะจะมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกันไป บางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางรายแพทย์อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาแก้แพ้ในกลุ่มอื่นหรือใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อควบคุมอาการ
  3. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง อย่าให้ขาดยาและควรพกยาติดตัวไว้เสมอ เมื่อเกิดอาการจะได้ใช้ได้ทันที
  4. ไม่แกะหรือเกาที่ผิวหนัง เนื่องจากอาจจะทำให้ผิวหนังอักเสบได้ ให้ใช้วิธีการลูบแขนแทน
  5. เมื่อมีอาการคันอาจใช้คาลาไมน์โลชั่น  ทาบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ เพื่อช่วยลดอาการคัน (แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยทำให้ผื่นหาย) นอกจากนั้นสามารถใช้วิธีประคบด้วยน้ำเย็น แต่ห้ามใช้ในลมพิษที่เกิดจากความเย็น เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้เพิ่มขึ้นได้

วิธีบรรเทาอาการคันจากลมพิษ

ปัญหาหนึ่งของลมพิษที่ทำให้ทรมาก็คืออาการคัน ที่ยิ่งเกา ยิ่งคัน ถูกอากาศเย็นๆ ก็ยิ่งคัน เมื่อเกามากๆ เข้าก็ทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็น แอดเลยมีวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการคันจากลมพิษ ที่แม้ไม่ทำให้หายคันในทันที แต่เชื่อเถอะว่าคันน้อยลงแน่นอน

  1. เลี่ยงสารที่จะก่อให้เกิดอาการระคาย เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น ฝุ่น อาหารบางชนิด เป็นต้น
  2. ใช้ยาต้านฮีสตามีน (สารที่ก่อให้เกิดการแพ้และอักเสบ) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ “ยาแก้แพ้” นั่นเอง ควรเลือกแบบที่เป็นชนิดไม่ง่วง เพื่อลดการเกิดผลข้างเคียง แต่หากกินยาตอนกลางคืน จะเลือกแบบทำให้นอนหลับก็ได้นะ เพื่อเป็นการพักผ่อนไปในตัว
  3. ทำผิวให้ชุ่มชื้น ทาโลชั่น ออย์ทาตัว เพื่อลดความแห้งตึงซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคัน และต้องเลือกผลิตภัณฑ์ชนิดที่ไม่มีน้ำหอม ไม่มีแอลกอฮอล์ด้วยนะ เพื่อป้องกันการแพ้และระคายเคือง เพราะในช่วงลมพิษ เป็นช่วงที่ผิวบอบบางที่สุดเลย
  4. ห้ามแกะ เกา ผิว เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบได้

สูตรแก้ลมพิษ ด้วยสมุนไพร

สูตรแก้ลมพิษ

สำหรับสูตรสมุนไพรเพื่อรักษาอาการลมพิษ มีด้วยกัน 3 สูตร โดยส่วนผสมหลัก ที่คล้ายกันของทั้ง 3 สูตร คือเหล้าขาว แอดเล่าจากประสบการณ์ที่เคยเป็นลมพิษบ่อยๆ เลยว่า กลิ่นเขารุนแรงใช้ได้เลย แต่อยากหาย ก็ต้องยอมใช้น้ำหอมกลิ่นเหล้าขาวอาเนอะ

  • สูตรที่ 1 ใบพลู ใช้ใบพลูตำให้ละเอียด ผสมเข้ากับเหล้าขาว และเอาไปโปะตามบริเวณที่ขึ้นผื่นลมพิษ บางทีก็ใช้การขยี้ใบพลูกับผื่นเลย
  • สูตรที่ 2 หัวข่าแก่ เลือกหัวข่าแก่ๆ มาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาว ทาลงไปที่ผื่นลมพิษ
  • สูตรที่ 3 ใบเสลดพังพอน ใช้ตัวใบ หรือลำตัว มาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วทาไปที่ผื่นลมพิษเช่นเดียวกัน

แอดแถมให้อีกวิธี คือการอยู่กระโจม อบไอน้ำ ความร้อนจากไอน้ำจะช่วยให้ร่างกายขับพิษออกมาได้เร็วขึ้น แม้จะร้อน แต่ก็หายไวนะ

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก :

  • หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี.
  • เอกสารอ้างอิง  หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ)
  • นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 442
  • นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วังรัตนโสภณ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบภูมิคุ้มกัน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รวม สมุนไพรฤทธิ์ร้อน รับมือช่วงอากาศเปลี่ยน

5 สมุนไพร ฟื้นฟูระบบย่อย

7 สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.