สาเหตุและ วิธีป้องกัน ทารกตายในครรภ์
คำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับวิธีป้องกัน ทารกตายในครรภ์ ในอดีต หัตถการทำลายเด็ก มีบันทึกในประวัติศาสตร์การแพทย์เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เป็นหัตถการที่น่ากลัว ฟังดูโหดร้าย แต่ทำเพื่อช่วยชีวิตแม่ โดยการทำลายเด็กที่ตายในท้องกรณีแม่คลอดยาก ไม่สามารถจะคลอดได้ มีการประดิษฐ์เครื่องมือนี้หลายสิบอย่าง แต่ที่นิยมใช้คือ Cranioclast
เครื่องมือเจาะบีบกะโหลกทารก ให้กะโหลกเด็กแตก สมองไหลออกมา เพื่อลดขนาดศีรษะเด็ก จะได้คลอดออกมาทางช่องคลอดได้ ในสมัย 50 ปีก่อน หลายโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองไทยยังมีเครื่องมือนี้ แต่ปัจจุบันการผ่าตัดคลอดสามารถทำได้โดยปลอดภัยในคุณแม่ที่คลอดเองไม่ได้ ทำให้เครื่องมือนี้ได้เป็น ตำนานทางการแพทย์ที่บรรจุอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ไปเรียบร้อยแล้ว
แม้หัตถการทำลายเด็กจะฟังดุโหดร้าย แต่มีบันทึกเรื่องที่โศกเศร้าอย่างไม่อาจลืมเลือนในประวัติศาสตร์ของการมีเครื่องมือนี้แต่ไม่ยอมใช้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1818 เจ้าหญิงชาล็อตต์ (Princess Charlotte) พระราชธิดาองค์เดียวในพระเจ้าจอร์จที่ 4 (King George IV) ทรงพระครรภ์พระราชโอรสในพระครรภ์ของเจ้าหญิงอยู่ในลำดับที่จะสืบสันตติวงศ์สหราชอาณาจักร เมื่อทรงเจ็บพระครรภ์คลอด สูติแพทย์เซอร์ริชาร์ด ครอฟท์ (Sir Richard Croft) เป็นผู้ถวายการดูแล ทรงคลอดยาก เจ็บพระครรภ์สองวันสองคืนจนพระราชโอรสสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์
แต่เซอร์ริชาร์ด ครอฟท์ ไม่ได้เลือกใช้เครื่องมือหัตถการทำลายเด็กหรือคีมช่วยคลอดแต่อย่างใด คงปล่อยให้พระองค์ทรงพยายามคลอด พระราชโอรสหนักถึง 9 ปอนด์ ต่อมาเกิดรกค้าง แม้ช่วยทำคลอด
แต่เจ้าหญิงทรงเสียพระโลหิต อ่อนแออย่างมาก แม้จะให้เจ้าหญิงเสวยไวน์หวาน (Port Wine) ในปริมาณที่มากมาย แต่พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในวันรุ่งขึ้น เรื่องนี้ส่งผลให้สูติแพทย์เซอร์ริชาร์ด ครอฟท์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิอย่างรุนแรง นำมาซึ่งอัตวินิบาตกรรมยิงตัวตาย
ปัจจุบันเมื่อมี ทารกตายในครรภ์ หากมารดาไม่มีภาวะเชิงกรานแคบสามารถคลอดได้ แพทย์มักให้คลอดเองตามธรรมชาติ แต่ใช้ยาต่างๆ เข้าช่วยเพื่อไม่ให้มารดาเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แต่หากมารดามีภาวะเชิงกรานแคบ ศีรษะทารกไม่เป็นสัดส่วนกับช่องเชิงกราน หรือมารดาอาจจะเกิดอันตรายจากการคลอดล่าช้าแพทย์อาจจะผ่าตัดคลอด
เล่าถึงเครื่องมือ Cranioclast ที่เป็นตำนานของหัตถการทำลายเด็กในอดีตเมื่อมีทารกตายในครรภ์และไม่สามารถคลอดเองได้ค่ะ
ขออนุญาตเล่าความรู้เพิ่มเติมเรื่องทารกตายในครรภ์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทารกตายในครรภ์ (Stillbirth) มีคำจำกัดความว่า ทารกอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ หรือน้ำหนักเกิน 500 กรัมหรือวัดความยาวทารกจากศีรษะถึงส้นเท้าเท่ากับหรือเกิน 25 เซนติเมตร (องค์การอนามัยโลกถือเอาทารกอายุครรภ์เกิน 28สัปดาห์เป็นต้นไป) ที่ไม่มีสัญญาณชีพ เช่น ไม่มีหัวใจเต้น ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการหายใจ ไม่มีกล้ามเนื้อกระตุก เมื่อคลอดออกมา
อัตราทารกตายในครรภ์ในปัจจุบันพบประมาณร้อยละ 1.5 ของหญิงตั้งครรภ์ ในประเทศไทยมีการคลอดปีละ 700,000 คน จึงมีทารกตายในครรภ์ประมาณ 10,000 รายต่อปี
ในสามสิบห้าปีที่ผ่านมา อัตราทารกตายในครรภ์ได้ลดลงประมาณ 2 – 3 เท่า เชื่อว่าเพราะการฝากครรภ์ที่ดี ความก้าวหน้าทางการแพทย์การพัฒนาปรับปรุงการฝากครรภ์ และความรู้ในการดูแลตนเองของมารดา อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือร้อยละ 50 ของทารกตายในครรภ์เกิดหลังตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ และที่สำคัญคือ ส่วนหนึ่งของการเสียชีวิตในช่วงอายุครรภ์นี้เสียชีวิตเมื่อครบกำหนดคลอด หากคลอดก็รอดชีวิตแล้ว คืออายุครรภ์เกิน 38 สัปดาห์ ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ เศร้าโศกอย่างรุนแรงของผู้เป็นพ่อแม่และคนในครอบครัว