แนะเทคนิคบำรุง ต่อมในร่างกาย 7 ต่อม เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและพิชิตโรคร้าย
ขอแนะนำเทคนิคบำรุงอวัยวะและ 7 ต่อมในร่างกาย ที่มีความสำคัญต่อภูมิชีวิตหรือระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับผู้อ่านที่ติดตามกันมายาวนานและเหนียวแน่น คงทราบว่า ชีวจิต ให้ความสำคัญกับภูมิชีวิต หรืออิมมูนซิสเต็ม (Immune System) เป็นอย่างมาก
ปักษ์นี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกอวัยวะและต่อมทั้ง 7 ที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิชีวิตขึ้นมา โดยจะขอแต่งตั้งให้เป็น อัศวินผู้กล้า และจะพาไปทำความรู้จักกับพวกเขาทีละนาย รวมถึงวิธีกิน นอน ปฏิบัติตน เพื่อ บำรุงกองกำลัง ของอัศวินเหล่านี้ให้แข็งแรง สำหรับทำหน้าที่สร้างภูมิชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้น
7 อัศวินแกร่ง ผู้สร้างภูมิชีวิต
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต อธิบาย การทำงานของต่อมหรืออวัยวะทั้ง 7 ที่สร้างภูมิชีวิต ไว้ในหนังสือ เรื่องของภูมิชีวิต สำนักพิมพ์อมรินทร์ สรุปความได้ดังนี้
- อัศวิน 1 ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์
ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ (Tonsils/Adenoids) คือต่อมที่อยู่ในช่องปาก ตรงส่วนต่อกับลำคอ แม้จะฟังดูไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่อาจารย์สาทิสได้ระบุเพิ่มเติมในหนังสือ เรื่องของภูมิชีวิต สำนักพิมพ์อมรินทร์ ไว้ว่า “เป็นต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมีเซลล์น้ำเหลืองอยู่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของภูมิชีวิต” ซึ่งถือว่าเป็นด่านแรกๆ ของระบบร่างกายที่คอยดักจับเชื้อโรคที่บริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน
- อัศวิน 2 ต่อมไทมัส
ต่อมไทมัส (Thymus) เป็นต่อมก้อนใหญ่ขนาดประมาณสองเท่าของหัวแม่มือ อยู่กึ่งกลางกระดูกหน้าอก สมัยก่อนเราเข้าใจผิดกันว่า ต่อมไทมัสมีความสำคัญเฉพาะตอนที่เราเกิดมาและเจริญเติบโตเต็มที่แล้วเท่านั้น
แต่บัดนี้เรารู้ว่าหน้าที่ของไทมัสมีมากกว่าเดิมคือ ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายโดยจะขับฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin) ออกมา ทำหน้าที่ผลิตและสร้างความสมบูรณ์ของระบบภูมิชีวิตในร่างกายทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางของระบบน้ำเหลืองทั้งหมดอีกด้วย
- อัศวิน 3 ต่อมน้ำเหลือง
ต่อมน้ำเหลือง (Lymph Node) เป็นต่อมที่มีระบบเป็นของตัวเอง เพราะหมายถึงต่อม และท่อหรือหลอดน้ำเหลืองทั่วร่างกาย และระบบนี้ทั้งระบบก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิชีวิตเช่นกัน
ซึ่งต่อมนี้มีอยู่หลายตำแหน่งในร่างกาย ได้แก่ คอ ใต้รักแร้ ช่องท้อง ขาหนีบ เป็นต้น ต่อมน้ำเหลืองมีทั่วตัวก็จริง แต่ก็ไม่สามารถทำงานเป็นเอกเทศ ต้องทำงานร่วมกับต่อมต่างๆ
ทำหน้าที่ลำเลียงเม็ดเลือดขาวเข้าสู่กระดูก นำบรรดาของเหลวที่ซึมอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง และยังดูดซึมและขนส่งกรดไขมันจากระบบย่อยอาหารอีกด้วย
- อัศวิน 4 ม้าม
ม้าม (Spleen) เปรียบเหมือนกับต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ อยู่บริเวณช่องท้องด้านบนข้างซ้ายของร่างกาย มีหน้าที่สำหรับเก็บเลือดแดง สร้างเลือดแดงที่เป็นกองหนุน และเป็นตัวขนส่งเม็ดเลือดขาวออกไปต่อสู้เหล่าเชื้อโรคร้าย
- อัศวิน 5 ไขกระดูก
ไขกระดูก (Bone Marrow) กระดูกท่อนยาวทุกท่อนจะมีโพรงตรงกลาง โพรงกระดูกนี้เป็นส่วนหลักของระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) สร้างเม็ดเลือดขาวหลายชนิดให้กับร่างกาย และไขกระดูกในกระดูกชิ้นใหญ่ยังสามารถผลิตเม็ดเลือดแดงใหม่ๆ ให้ร่างกายได้อีกด้วย
- อัศวิน 6 ไส้ติ่ง
ไส้ติ่ง (Appendix) ไม่ใช่เป็นของไร้ประโยชน์อย่างที่หลายคนเข้าใจ เดี่ยวนี้ไม่มีใครตัดไส้ติ่งเป็นว่าเล่นอย่างแต่ก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิชีวิตเช่นเดียวกับต่อมอื่นๆ
นอกจากนี้งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าไส้ติ่งมีหน้าที่สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในระบบการย่อยอาหารของคนเรา และยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ถูกเชื้อโรคอหิวาต์หรือเชื้อโรคบิดเล่นงาน
แต่อย่างไรก็ตามหากมีการติดเชื้อจนมีอาการไส้ติ่งอักเสบ ก็จำเป็นต้องผ่าตัดออกอย่างทันท่วงที เพราะอาจถึงแก่ชีวิตได้
- อัศวิน 7 เพเยอร์สแพทช์
เพเยอร์สแพทช์ (Peyer’s Patches) คือ ต่อมน้ำเหลืองเล็กๆ หลายต่อมในช่องท้องของเรา ถือได้ว่าเป็นเซ็นเซอร์ของลำไส้ ซึ่งจะทำหน้าที่การเหนี่ยวนำและสร้างเกราะคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคที่มาจู่โจมบริเวณลำไส้เล็ก
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 403
บทความอื่นที่น่าสนใจ
บอกต่อวิธี เดินลดอ้วน สำหรับวัยกลางคน
เจาะลึกระบบต่างๆ ที่ทำให้เรา อ้วน
บอกต่อวิธีชะลอวัย 1. เร่งเมแทบอลิซึม 2. เร่งขับพิษ เพื่อสุขภาพดี