นอนไม่หลับ นอนหลับยาก เพราะอาหารการกิน
อาการ นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรืออาจเป็น โรคนอนไม่หลับ อาจเกิดขึ้นเพราะอาหารการกินในแต่ละวันของเราได้ด้วย วันนี้ผู้เขียนจะขออ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ นอนถูกวิธี สุขภาพดีตลอดชีวิต โดย นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ สำนักพิมพ์ AMARIN Health
ผลจากการกินยาบางชนิด
ยาบางชนิดส่งผลให้อวัยวะบางส่วนทำงานขณะเรานอนหลับอยู่ เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยารักษาโรคความดันโลหิต ทำให้เรานอนไม่หลับ
ผลจากกาเฟอีน
กาเฟอีนมีอยู่ในเครื่องดื่มหลายประเภท เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ชา ชาเขียว เครื่องดื่มเกกือแร่ เครื่องดื่มชูกำลัง โดยสถาบันการนอนหลับแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเกินวันละ 1 แก้ว (ความจุ 200 มิลลิลิตร) และควรดื่มก่อน 14.00 น. เพราะตับต้องใช้เวลาขับกาเฟอีนออกจากร่างกายประมาณ 8 ชั่วโมง หากดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหลัง 14.00 น. ไปแล้ว ร่างกายจะขับกาเฟอีนออกไม่ทัน ส่งผลต่อการนอน
ทั้งนี้มีการตรวจสารพันธุกรรม (CYP1A2) พบว่า ตับของมนุษย์มีความสามารถขับกาเฟอีนออกจากร่างกายได้ 2 แบบ คือเร็วและช้า ดังนั้นเราสามารถรู้ได้โดยการตรวจพันธุกรรม (Genetic Test) ว่าถ้าเราเป็นมนุษย์ที่มีตับขจัดกาเฟอีนได้เร็ว เราก็สามารถรับประทานกาแฟได้จนถึงช่วงเย็นๆค่ำๆ แต่ถ้าชี้ว่าเรามีพันธุกรรมชนิดตับขจัดกาเฟอีนออกไปได้ช้า ข้อแนะนำคือไม่ควรรับประทานกาแฟเกินวันละ 1 แก้ว และไม่ควรทานหลัง 12.00 น.
ผลจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
หลายคนใช้วิธีดื่มเหล้า ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ เพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เรามึนงง เมื่อมึนงงจึงเข้าสู่ภาวะหลับง่ายขึ้น แต่นานไปแอลกอฮอล์จะไม่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ตรงกันข้าม จะทำให้เสพติดและมีปัญหาการนอนหลับแทน เพราะแอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ผนังที่คอจึงหย่อนคล้อย ทำให้นอนกรนและออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ
ผลจากการสูบบุหรี่
ผลงานวิจัยระบุว่า การสูบบุหรี่ 1 มวนทำให้เราหลับลึกได้น้อยลงไป 1-2 นาที เมื่อเทียบปัญหาการนอนหลับระหว่างผู้สูบบุหรี่กับผู้ไม่สูบบุหรี่ พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มักมีปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หลับไม่ลึก มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 1 เท่า สาเหตุมาจากนิโคตินมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง จึงขัดขวางร่างกายไม่ให้เข้าสู่ช่วงหลับลึกและทำให้นอนหลับยากนั่นเอง
ปัจจัยเกี่ยวกับอาหารการกินเหล่านี้มีผลลดทอนประสิทธิภาพการนอนหลับทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงหรือบริโภคตามคำแนะนำอย่างเหมาะสม
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิตามินและแร่ธาตุ แก้อาการนอนไม่หลับ