ประสบการณ์สุขภาพ รู้ทันจิต & ฟิตร่างกาย หาย ซึมเศร้า 100%
จากสถิติอันน่ากลัวของโรค ซึมเศร้า ที่ประมาณกันว่า ในคนไทยทุกๆ 100 คนจะมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ถึง 3 คน และกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25 – 44 ปี ยิ่งในปัจจุบันที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป จึงมีแนวโน้มว่าคนที่อายุน้อยลงก็จะยิ่งเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นด้วย
ชีวจิต จึงมี ประสบการณ์ของผู้ที่เคยประสบพบเจอกับโรคซึมเศร้า พร้อมทางออกในหลากหลายมิติมานำเสนอ ค่ะ
ประสบการณ์ที่ 1 : แม่ตาย เกือบตายตามแม่ แก้ได้ด้วยธรรมะและกัลยาณมิตร
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนสมัยที่ คุณน้ำ (นามสมมติ) อายุ 32 ปี ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย สำหรับหลายๆ คนคงเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข เพราะความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่สำหรับคุณน้ำกลับเป็นช่วงเวลาที่แสนระทมทุกข์และได้เปลี่ยนชีวิตเธอไปอีกหลายปีต่อมา
“ครอบครัวเรามีกันสองคนแม่ลูก ฐานะค่อนข้างยากจน แต่แม่ทำขนมไทยเก่ง ก็เลยมีอาชีพทำขนมขาย ส่งเราเรียนมาจนใกล้จะจบอยู่แล้ว แม่ก็ล้มป่วยเป็นมะเร็ง ช่วงนั้นแม่ก็ห่วงเรามาก แต่พยายามเข้มแข็งไม่แสดงออก ช่วงนั้นเครียดเรื่องแม่มาก กลัวแม่จะจากเราไป การเรียนปีสุดท้ายก็หนัก ทั้งยังต้องเดินทาง
ไป – กลับกรุงเทพฯกับฉะเชิงเทรา เพื่อคอยพาแม่ไปรักษาตัว ความเครียดทับถมอยู่เป็นปี แม่ก็อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดแม่ก็จากไปอย่างสงบก่อนเรารับปริญญาไม่นาน”
หลังจากแม่จากไปแล้ว คุณน้ำยังทำใจไม่ได้ ในหัวได้แต่คิดวนเวียนอยู่กับเรื่องของแม่ เธอโทษตัวเองว่าเธอไม่สามารถดูแลแม่ได้ดีพอ ทำให้ความเครียดที่ลากยาวมาจนจบการศึกษาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
“เราไม่เคยปล่อยวางความคิดเรื่องแม่เลย ในใจเจ็บปวดตลอดเวลา จนมีอาการปวดหัวบ้าง ปวดกล้ามเนื้อบ้าง คิดช้า พูดช้า ทำทุกอย่างช้าลงรู้สึกเศร้า ท้อแท้ ซึม ร้องไห้คิดถึงแม่ และนอนทั้งวัน ทำการทำงานไม่ได้ ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับทำงาน ไม่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยของร่างกาย รู้สึกว่าตัวเองช่างไร้ค่า”
ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้ในที่สุดคุณน้ำตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกินยาสารพัดชนิดเข้าไปหลายสิบเม็ด
“ตอนนั้นในใจคิดแต่ว่า มันทรมานเหลือเกินอยากไปอยู่กับแม่ คิดถึงแม่ จึงกวาดยาทุกชนิดที่มีอยู่ในบ้านกินจนหมด โชคดีที่ญาติมาเห็น เพราะเขาก็คอยเฝ้าระวังเราอยู่ เลยพาไปส่งโรงพยาบาล ล้างท้องจึงรอดชีวิตมาได้”
ต่อมาคุณน้ำมีโอกาสรู้จักกับกัลยาณมิตรซึ่งได้ชักชวนเธอให้เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม แต่ระหว่างนั้นอาการของเธอก็ยังกำเริบอยู่เป็นระยะๆ
“ช่วงนั้นรู้สึกว่ามีกำลังใจมากขึ้น ได้ฟังธรรมะจากหลวงพ่อและพระในวัดที่ท่านเมตตาเรา ก็รู้สึกเข้าใจเรื่องการพลัดพรากมากขึ้น คือทำใจเรื่องแม่ได้มากขึ้น แต่ยังมีอาการทางร่างกาย คือ ซึม นอนทั้งวัน ใจสั่น มือสั่นจนทำของตกแตกเหมือนเดิมพี่ๆ ที่วัดจึงตัดสินใจพาเราไปรักษาให้อาการหายขาด”
คุณน้ำเข้าแอดมิตในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและรักษาตัวอยู่ราว 2 – 3 เดือน หลังจากได้รับยาและทำกิจกรรมบำบัด รวมถึงกัลยาณมิตรทุกคนต่างก็แวะเวียนกันไปเยี่ยมเธอไม่ขาด ทำให้ปัจจุบันคุณน้ำหายเป็นปกติ สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา และมีอนาคตที่สดใสรออยู่
ประสบการณ์ที่ 2 : สติมา ปัญญาเกิด
ความเจริญก้าวหน้าด้านการงานเป็นสิ่งที่ทุกคนถวิลหา ยิ่งใครประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งมีหน้ามีตาในสังคม ทว่าชีวิตของ คุณฝน อายุ 24 ปี ได้พิสูจน์แล้วว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“หากมองย้อนไป เรากดดันมาตั้งแต่เรื่องการเรียน เพราะต้องแบกรับความคาดหวังของคนอ่นื มาตลอด คนรอบข้างคาดหวังกับเราเยอะมาก เรียนวิศวะจบแล้วต้องเป็นวิศวกรสิ ทุกคนคิดอย่างนั้น แต่ในที่สุดเราก็ตัดสินใจเข้าทำงานที่บริษัทไอทีชั้นนำแห่งหนึ่ง ไปทำเป็นเอเจนซี่ ตอนนั้นรู้ตัวว่าการทำงานเอเจนซี่ต้องอยู่ท่ามกลางความท้าทายสูง แต่มีข้อดีตรงที่งานจะไม่มีคำว่าน่าเบื่อ เพราะมีความท้าทายตลอดเวลา ทุกวันจะมีปัญหาให้เรียนรู้และแก้ไขตลอด
“ตอนนั้นเข้าไปทำในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบมาก คือ Account Manager งานต้องเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ก็กดดันตัวเองอีก จนบางทีคิดว่า ทำไมเราทำได้แค่นี้ ทำไมไม่มีคนช่วย ทำเองหมดทุกอย่าง อย่างทำสไลด์ก็ต้องสวย ต้องยอมรับว่าเราขึ้นเร็ว ซึ่งก็ทำให้แรงกดดันจากคนรอบข้างสูงตามไปด้วย”
คุณฝนยอมรับว่าตอนนั้นเธอเข้าขั้นบ้างานมาก ชีวิตมีแต่งาน เกิดมาเพื่องานความกดดันก็มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเหมือนเครื่องยนต์ที่น็อก
“เมื่อเครียดและกดดันจนถึงจุดหนึ่ง อาการเราแย่มาก มีอาการเบลอ หลงๆ ลืมๆ เริ่มทำงานพลาด ก็ยิ่งเครียดใหญ่ ที่น่ากลัวคือ เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นตามผิวหนัง ช่วงนั้นพันมือไปทำงานมือแตก นิ้วแตก เลือดไหล เท้าก็แตก รู้สึกกดดันหนักๆ เข้าก็มีอาการร้องไห้เกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ร้องไห้ได้ทุกที่เลย คือเรามองว่าเราไม่มีค่า ทำอะไรก็พลาดไปหมด กลับจากที่ทำงานถึงบ้านก็นอนร้องไห้ งานไม่เสร็จก็ลุกขึ้นมาทำงานจนเสร็จ แล้วก็นอนร้องไห้จนหลับไป”
ในที่สุดคุณฝนก็ตัดสินใจโทร.ปรึกษาเพื่อนถึงปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเธออยู่ในขณะนั้น
“สิ่งที่ดีที่สุดเลยคือโทร.หาเพื่อน การหายจากโรคซึมเศร้าครั้งนี้ จะว่าผ่านมาได้เพราะเพื่อนก็ได้เพราะเพื่อนรับฟังเราทุกอย่าง ให้กำลังใจ ช่วยคิดโดยที่เพื่อนไม่ตัดสินเรา ซึ่งการฟังในลักษณะนี้ช่วย
ให้อาการเราดีขึ้นมากๆ พอได้ระบายทุกอย่าง ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาก
“หลังจากคุยกับเพื่อน ในที่สุดก็ตัดสินใจไปหาหมอ แล้วเราก็ได้สติจากคำพูดของหมอ คือหมอชวนเราคิดตามเพื่อหาสาเหตุให้ได้ หมอให้เราคิดว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร ถามไปถามมาก็ได้คำตอบว่า ปัญหาเกิดจากความคาดหวังของเราเองจากนั้นหมอก็ลองให้เราคิดตามต่อไปว่า แล้วถ้าสมมติว่ามีมีดอยู่ในมือเราล่ะ เราจะกำไหม เราก็ตอบไปว่า ถ้ากำเราก็เจ็บ หมอจึงบอกว่า ดังนั้นอะไรที่ทำให้เราเจ็บ เราก็ปล่อยสิ่งนั้นไปเสีย”
คุณฝนกลับมาตั้งสติที่บ้านและดำเนินการปลดล็อกตัวเอง
“พอเรามีสติเราจะเห็นอะไรชัดขึ้น ก็ให้คำตอบกับตัวเองได้ว่า ปัญหาในที่ทำงานที่ทำให้เราเกิดอาการเหล่านี้คือ เรามีทัศนคติและจริตในการทำงานไม่ตรงกับทีมในที่ทำงาน เราจะจมอยู่อย่างนี้ไม่ได้ แต่เราไม่โกรธใคร กลับรู้สึกขอบคุณ แถมยังได้เขียนไดอะรี่ขอบคุณทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้นไว้ด้วย
หลังจากนั้นก็ตัดสินใจแจ้งหัวหน้างานว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า ขอลาออกเพื่อมาตั้งหลัก”เมื่อเข้าใจตัวเองดีขึ้นก็จัดการกับอาการซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ประสบการณ์ที่ 3 : รู้ตัวไว เข้าใจเร็ว แก้ได้ง่ายนิดเดียว
เรื่องราวของ คุณโบนัส อายุ 28 ปี ที่จะได้อ่านต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าควรฟัง เพราะหากรู้ตัวเร็วก็สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
“ตอนนั้นผมอายุแค่ 20 ปี ที่รู้ตัวว่าเริ่มมีอาการ สาเหตุเกิดจากการเรียนที่มีเนื้อหาหนัก เครียด จนเกิดภาวะซึมเศร้า ที่รู้ตัวเพราะสังเกตตัวเองพบว่า เป็นช่วงที่ไม่ค่อยอยากทำอะไร รู้สึกเบื่อๆ เรียนก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่อยากไปเรียนเลย”
นอกจากความเป็นคนช่างสังเกตจะทำให้มองเห็นความผิดปกติของตัวเองได้แล้ว คุณโบนัสยังบอกคนรอบข้างด้วยว่า เขาคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเข้าแล้ว เพื่อให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจพฤติกรรมที่อาจแปลกไปของเขา เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขอย่างถูกต้อง นอกจากนี้เขายังหาความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าเพื่อให้เกิด
ความเข้าใจโรคนี้มากขึ้นด้วย
“เราก็หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็ไม่ลังเลที่จะไปพบฝ่ายจิตแพทย์ของมหาวิทยาลัย เข้าไปคุยเลย และก็ได้คำแนะนำว่า การทำสมาธิช่วยได้การออกกำลังกายช่วยได้ จึงเริ่มกลับมาออกกำลังกายด้วยการตีแบด เพราะเป็นกีฬาที่ชอบอยู่แล้ว ทำให้เรามีแรงกระตุ้น พยายามทำให้ได้ทุกวัน หมอแนะนำว่า ตอนที่ออกกำลังกายสารเอนดอร์ฟินจะหลั่ง ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ผมเลยตีแบดวันละ 1 ชั่วโมง”
ส่วนเรื่องการจัดการกับความเครียด ความฟุ้งซ่านคุณโบนัสแก้ไขโดยการนั่งสมาธิ
“ช่วงนั้นมีเพื่อนในคณะชวนเข้าชมรมพัฒนาศักยภาพ มีการพัฒนาศักยภาพทั้งภายในและภายนอกโดยการฝึกสมาธิ ซึ่งช่วยปรับอารมณ์เราได้ ใช้วิธีทำสมาธิแบบอานาปานสติ กายคตาสติ กำหนดสติไปตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย แต่อยู่ภายใต้การแนะนำของอาจารย์อย่างใกล้ชิด ก็ทำอย่างต่อเนื่องจนอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และหายเป็นปกติภายใน 2 – 3 เดือน”
คุณโบนัสย้ำว่า การนั่งสมาธิมีประโยชน์ในการดูแลอารมณ์ และเยียวยาความเครียดได้ หากหมั่นทำเป็นประจำจะเป็นการสร้างเกราะป้องกันโรคซึมเศร้าได้อย่างดีเยี่ยม โดยปัจจุบันคุณโบนัสยังนั่งสมาธิอยู่เป็นประจำ
ประสบการณ์ที่ 4 : บวชสงบใจ หายซึมเศร้า
เมื่อสองปีที่แล้ว คุณบอส อายุ 25 ปี เครียดเรื่องโปรเจ็กต์การเรียนจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
“ตอนน้นั เร่มิ สังเกตตัวเองพบว่า อะไรที่เราเคยทำแล้วเอ็นจอยเรากลับไม่เอ็นจอยกับสิ่งนั้นอีกแล้ว ทำอะไรก็ไม่สนุกเท่าเดิม เช่นเคยชอบเคยสนุกกับการเล่นเกมก็ไม่สนุก นอนเยอะ ไม่ลุกออกจากเตียง ตอนกลางวันรู้สึกเหนื่อยเพลีย ปวดหัว การเรียนดร็อปลง ความจำไม่ค่อยดีเหมือนเดิม สอบแค่ 15 นาทีก็ออกจากห้อง เพราะรู้ตัวว่าทำไม่ได้ ไม่มีสมาธิ ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร เอาแต่นอน
“จากตอนแรกที่เราคิดแค่ว่าเราเครียด นานวันเข้าก็ชักจะเอะใจแล้วว่า นี่คงไม่ได้เป็นความเครียดตามปกติ ก็เริ่มหาข้อมูลพบว่า อาการที่เราเป็นตรงกับโรคซึมเศร้า
“เราปรึกษาเพื่อนด้วย ซึ่งเพื่อนก็แนะนำให้รู้จักกับเพื่อนที่เรียนจิตวิทยา ก็ได้ไปปรึกษาเขา ปรึกษากันอยู่ 1 – 2 เดือน เขาก็แนะนำให้ไปหาหมอ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสารเคมีในสมองด้วยก็กินยาไปก่อน ตอนแรกไม่รู้สึกอะไร แต่พอกินมาอย่างต่อเนื่องก็เห็นผล สามารถปรับสารเคมีในสมองให้ดีขึ้น ลงตัวขึ้น”
แต่ปัญหาโรคซึมเศร้าที่ดูเหมือนจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นของคุณบอสกลับสวิงไปสู่อีกหนึ่งปัญหา
“ตอนนั้นเราก็คิดว่าหมอรักษาเราจนหายดีแล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวเองแฮ็ปปี้มาก แต่กลับกลายเป็นว่า นั่นคืออาการมาเนียที่จะมีความรู้สึกแฮ็ปปี้เกินเหตุ ชอบเข้าสังคม มีความคิดที่เป็นอุดมการณ์เกินตัว ตอนนั้นเราไม่รู้ คิดว่าเราเพิ่งหายก็เลยลั้นลาเป็นปกติ ไปเข้าค่ายก็ไปแสดงความมั่นใจในตัวเองสูง อีโก้เยอะมีความคิดแบบพลุ่งพล่าน กลายเป็นทะเลาะกับคนอื่นไปทั่ว
“ครอบครัวและเพื่อนๆ ก็เห็นตรงกันว่าเราควรเดินทางกลับไปพักที่บ้านต่างจังหวัดก่อน ระหว่างนั้นก็รักษาตัวอย่างต่อเนื่องหมอให้ยาต่ออีก หมอสรุปว่า เรามีอาการของโรคไบโพลาร์ ซึ่งจะมีอาการซึมเศร้าและมาเนียวนเป็นลูปสลับกันไป แต่หายได้”
ระหว่างนั้นคุณบอสตัดสินใจบวช และช่วงเวลานี้เองที่ทำให้คุณบอสหายเป็นปกติ
“เรามาหายจากโรคพวกนี้จริงๆ ตอนไปบวช เพราะได้อยู่กับตัวเอง มีเวลาจัดระเบียบความคิดของตัวเองจริงๆ ได้คิดว่าคนเราเมื่อป่วยเป็นโรคนี้จะพึ่งยาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับทัศนคติด้วย ตอนบวชได้มาทบทวนตัวเองว่า เพราะทัศนคตินี่เองที่ทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าเพราะที่ผ่านมาเราเป็นเพอร์เฟ็กชั่นิสต์ ออกแนวเป็นคนมองโลกในแง่ลบ มองทุกอย่างแบบ Worst Case ไว้ก่อน ไม่มองอะไรในแง่ดีแล้วเอามาชั่งน้ำหนักเฉลี่ย เราตึงเกินไป เมื่อความคิดเป็นระเบียบมีเหตุผล ทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น ปรับตัวปรับใจได้ดีขึ้น ความเครียด ความกดดันก็ลดลงครับ”
ชีวจิต หวังว่า 4 ประสบการณ์นี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจโรคซึมเศร้าในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดกับตัวคุณเองและคนที่คุณรัก
ข้อมูลจาก คอลัมน์ประสบการณ์สุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 465
บทความน่าสนใจอื่นๆ
วิธีป้องกันโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ทำง่ายๆ แค่ลูกหลานร่วมมือ
แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
เคล็ดลับหยุดนิสัยโทษตัวเอง ก่อนป่วยซึมเศร้า