ทางออกของการแก้ ปัญหา ทำงานไม่ได้เรื่อง
แม้ว่าสถานการณ์ในครอบครัว คนเรามักเป็นส่วนหนึ่งของ ปัญหา การถอนตัวออกจากสถานการณ์มักให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะที่แท้แล้วทุกครอบครัวมีความรักเป็นพื้นฐาน “ขอเพียงรักกัน เรื่องร้ายก็กลายเป็นดีได้เสมอ”
แต่ในบางสถานการณ์ การถอนตัวออกมาเท่ากับหนีปัญหามากกว่าที่จะตีความเป็นอย่างอื่นได้ การหนีปัญหาทำให้คนอื่นเสียหายและทำให้ตัวเองเสียหาย เช่น ความเครียดในที่ทำงาน
องค์กรทุกแห่งมีเป้าหมายขององค์กรเป็นพื้นฐาน มีทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายหลัก เป้าหมายรอง ยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัด แต่น้อยแห่งที่จะมีความรักเป็นพื้นฐานร่วมด้วย ซึ่งหากองค์กรใด ๆ ไม่ได้มีความรักเป็นพื้นฐานด้วยแล้ว หากเราพบปัญหาหรือมีความเครียดในที่ทำงานแล้วเลือกถอนตัวออกจากสถานการณ์ ก็มักจะไม่มีใครในองค์กรที่รักคุณมากพอจะโอบอุ้มช่วยเหลือ มีแต่จะตัดเนื้อร้ายทิ้งไป
แล้วถ้าคุณทำแบบนี้ในทุกที่ทำงาน ในที่สุดคุณจะเป็นคนที่ไร้ค่า พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าคนอื่นเห็นคุณไม่เอาไหน ตัวเองก็จะเห็นตัวเองไม่เอาไหนด้วย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด ความรู้สึกแย่ ๆ ที่มีต่อตนเองเป็นความรู้สึกที่แย่มากกว่าความรู้สึกแย่ ๆ เองเสียอีก
เมื่อพบปัญหาหรือความเครียดในที่ทำงาน สิ่งที่ต้องทำคือ ไปคลายเครียดให้ได้ นั่นคือ ไปออกกำลังกายให้มาก น่าจะรู้สึกดีขึ้น
แน่นอนว่า กลับมาทุกอย่างย่อมต้องเหมือนเดิมด้วย หัวหน้างานคนเดิม เพื่อร่วมงานพวกเดิม ผู้ใต้บังคับบัญชากลุ่มเดิม ผู้บริหารสูงสุดชุดเดิม วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดเหมือนเดิม ถ้าไปคลายเครียดกลับมาแล้วยังไม่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาทั้งหมดมีหน้าตาดีขึ้นพอจะอยู่กันได้ ก็ถึงคราวลำบากแน่ ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีปัญหาอะไรที่คนเราจะเอาชนะก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เรียกว่า “no-win situation” ดังนั้นภายใต้ความเป็นจริงที่ว่าเราแก้ไขอะไรก็ไม่ได้ เราต้องเป็นคนที่แก้ไขตัวเองได้
ปัญหาข้อที่หนึ่ง คือ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าตัวเองเลือกได้ หมายถึงเลือกที่จะแก้ไขตนเองได้ แม้ว่าพ่อแม่ก็คนเดิม ภรรยาหรือสามีก็คนเดิม ลูก ๆ ก็คนเดิม องค์กรก็ที่เดิม แต่คนเราเลือกที่จะแก้ไขตนเองได้อย่างแน่นอน มีคำที่ติดปากว่า “หนีไปสู่เสรีภาพ” แปลว่า คนเราชอบขังตัวเองแล้วหาว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ที่แท้แล้วคนเราสามารถหนีไปสู่เสรีภาพได้ทุกคน ซึ่งมิได้แปลว่าให้ลาออก
ปัญหาข้อที่สอง คือ ไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถที่จะแก้ได้ ข้อนี้มักมาควบคู่กับไม่รู้ว่าจะให้แก้อะไร ความไม่รู้ว่าจะให้แก้อะไรมักมาจากการที่องค์กรหรือหัวหน้างานก็ประเมินเราไม่ได้เรื่องด้วย คือได้แต่ประเมินว่าเราทำงานไม่ดี แต่ก็ไม่ชี้ชัดว่าไม่ดีที่ตรงไหน ร้ายกว่านั้นคือ ประเมินเราอย่างไม่เป็นทางการในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เปรย ๆ ในโต๊ะกินข้าวว่าเราทำงานไม่ได้เรื่อง เป็นต้น ร้ายกาจที่สุดคือ ประเมินเราออกไมโครโฟนในที่ประชุม จะเห็นว่า การที่เราไม่รู้ว่าจะแก้อะไรที่ตรงไหน หลายครั้งไม่ใช่ความผิดของเรา เป็นความผิดของมันต่างหาก
ปัญหาที่สาม คือ รู้แล้วว่าเราได้หัวหน้าแบบไทย ๆ คือพูดอะไรก็ไม่ชัด ไม่ได้หมายถึงติดอ่างหรือพูดไม่ชัด แต่พูดไม่ชัดว่าเราทำงานไม่ได้มาตรฐานที่ตรงไหน และทั้งที่รู้แล้วเราก็ยังสวมบทลูกจ้างแบบไทย ๆ คือเจ้านายพูดอะไรก็ต้องใช่ครับท่านเอาไว้ก่อน ที่ทุกคนควรทำคือ เดินไปหาเจ้านายและขอเวลาทำความกระจ่างว่าเราบกพร่องตรงไหน และต้องการให้แก้ไขตรงไหน การทำเช่นนี้ได้แปลว่าเราต้องยอมรับผิดว่าเราไม่ได้เรื่องจริง ๆ ในตอนแรก อย่างน้อยก็ไม่ได้เรื่องในสายตาของเขา
ปัญหาที่สี่ คือ เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองเสียหายตรงไหน เช่น ทำงานไม่ครบถ้วน ทำงานไม่ละเอียด ทำงานไม่ลงลึก หลงลืมนั่นนี่บ่อยครั้ง ไม่ได้เรื่องมากมายก่ายกอง เรื่องก็จะกลับมาที่ตัวเราเองว่า ต้องการปรับปรุงตัวเอง หรือต้องการอยู่เป็นกาฝากในองค์กรไปวัน ๆ แล้วมาบ่นเครียด
จะเห็นว่าเรื่องวนกลับที่ข้อหนึ่ง นั่นคือ เราเลือกได้
ที่มา : บำบัดเครียด โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ
ภาพ : www.pexels.com
บทความน่าสนใจ
คลายเครียดจากการทำงานด้วยการเจริญสติ หนทางที่ปรับตนเองให้เป็นกุศล
พุทธมนต์ดับเครียด วิตกกังวล จิตตก ซึมเศร้า
ลมหายใจ จัดการความเครียด โดย ท่าน ส. ชิโนรส
แก้เครียดจากการทำงานด้วยธรรมะ บทความธรรมะดี ๆ จากพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
ทำไมไม่ควรหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เคล็ดลับความสำเร็จที่คุณทำได้ – Secret