ปัญหาธรรม : เราควรวางใจอย่างไร? กรณีมีคนหยิบของในตู้ปันสุขไปจนหมด
“เวลานี้คนกำลังสนใจวิธีการให้โดยการตั้ง “ตู้ปันสุข” ให้คนที่สามารถแบ่งปันได้ นำอาหาร หรือของใช้จำเป็นมาใส่ไว้ในตู้ เพื่อให้คนที่ขาดแคลนมาหยิบไป แต่มีข่าวออกมาว่ามีคนตั้งใจมาโกยเอาของในตู้ปันสุขไปจนหมด ไม่เหลือให้คนอื่น เราควรวางใจอย่างไรกับเรื่องนี้
1. ในฐานะของผู้ที่ติดตั้งตู้
2. คนที่นำของมาบริจาคใส่ตู้
3. คนทั่วไปที่อ่านข่าวนี้”
พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ) แห่งวัดญาณเวศกวัน ได้ตอบปัญหาธรรมดังนี้
เราควรวางใจอย่างไร?
ในกรณีมีคนตั้งใจมาโกยเอาของในตู้ปันสุขไปจนหมด ไม่เหลือให้คนอื่น
ในฐานะ ผู้ติดตั้งตู้ปันสุข นั้น ก็ต้องชัดในเจตนาของตนเอง ถ้าตั้งเจตนาไว้ถูกต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์กังวลใจอะไร (เจตนาแบ่งปัน มีผู้มารับสิ่งที่แบ่งปัน)
ถ้าการตั้งตู้ปันสุขคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่มีกำลังทรัพยากรในการดำรงชีวิตมาก มีโอกาสได้เกื้อกูลแบ่งปันกับผู้ที่กำลังเผชิญความทุกข์ยากขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ตู้ปันสุขก็ได้ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นแล้ว แต่ในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามใด ๆ ก็ตามมักจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นได้เสมอ ฉะนั้นเจตนาดีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะผลที่ต้องการจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยถูกต้องเหมาะสม จึงต้องใคร่ครวญคิดค้นวิธีการด้วยปัญญา ซึ่งยังหมายรวมถึงความรู้เท่าทันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้เหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ด้วย
ในกรณีนี้ ผู้ตั้งตู้ปันสุขก็ต้องรู้เท่าทันว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ก็ต้องหาวิธีการป้องกันต่อไปเพื่อให้เจตนาหรือความตั้งใจดีนั้นสมประสงค์ เช่น หาวิธีการที่จะทำให้เกิดความละอายใจแก่ผู้ที่คิดจะมากอบโกย กักตุน ซึ่งแต่ละที่ก็อาจจะมีวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย สามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมและได้ผลดี
แต่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ติดตั้งตู้จะต้องรู้เท่าทันและวางท่าทีให้ถูกต้อง คือ รู้ทัน ป้องกัน ยอมรับผล ไม่ทุกข์ทนร้อนรนไปกับผลที่เกิดขึ้นจนเกิดความระย่อท้อถอยต่อการทำคุณความดีตามที่ตั้งใจไว้ และสามารถเลือกเฟ้นมุมมองหาประโยชน์สร้างกำลังใจให้ก้าวหน้าไปในทางที่ดีงามและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น คือ ทั้งเจตนาก็ดีงาม ปัญญาก็งอกเงยยิ่งขึ้น ด้วยคติธรรมว่า ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก
หิโต พหุนฺนํ ปฏิปชฺช โภเค
คนดีจัดการโภคทรัพย์ บำเพ็ญประโยชน์แก่ชนจำนวนมาก
ในฐานะ ผู้ที่นำของมาบริจาคก็พึงระลึกถึงหลักของการแบ่งปัน การให้การบริจาค ว่าเป็นวิธีการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยการสละวัตถุสิ่งของนั้นออกไป และเป็นการสละความยึดถือวัตถุสิ่งของนั้นว่าเป็นของตนด้วย ดังนั้นผู้บริจาค จึงต้องใคร่ครวญพิจารณาและวางท่าทีให้ถูกต้องเสียก่อนที่จะบริจาคเพื่อจะได้ไม่ร้อนใจในภายหลัง ถ้าทำได้อย่างนี้ แม้จะรับรู้ว่ามีบางคนมากอบโกยเอาไปอย่างเห็นแก่ตัว ก็ไม่อาจทำให้จิตใจหวั่นไหวเศร้าหมอง หรือ บั่นทอนความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อของตนลงไปได้ เพราะวัตถุสิ่งของที่บริจาคนั้นไม่ใช่ของตนตั้งแต่ที่ได้ใคร่ครวญและตัดสินใจสละออกไปแล้ว
ดังนั้น หลักการแบ่งปัน การให้ การบริจาค ที่มีผลมากมีประโยชน์มาก จะเกิดขึ้นกับผู้ให้และผู้รับได้ก็ด้วยการใคร่ครวญพิจารณาของผู้ให้ก่อนเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่ ๑. ผู้ให้มีเจตนาถูกต้อง คือ สละออกทั้งสิ่งของและความยึดถือว่าเป็นของตน ๒. วัตถุที่ให้นั้นเหมาะสมเป็นประโยชน์กับผู้รับ ๓. ผู้รับเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากวัตถุสิ่งของนั้น
ในกรณีของ“ตู้ปันสุข”นี้ ผู้บริจาคไม่สามารถกำหนดควบคุมผู้รับได้อย่างแน่ชัดถึงความเหมาะสม จึงควรวางใจให้กว้างขวางวางท่าทีให้ถูกต้อง รู้จักใฝ่หามุมมองที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจ สุขสบายใจ และได้แง่คิดมุมมองอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตของตนแม้เพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นความรู้สำหรับที่จะพัฒนาวิธีการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป เช่น เห็นว่าผู้ที่มากอบโกยนั้น ก็คงมีความทุกข์ไม่น้อย มีความขาดแคลนและหวาดกลัวต่อความอดอยาก การแบ่งปันวัตถุอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องเพิ่มเติมสำนึกสาธารณะ พัฒนาวินัยระดับสังคมด้วย จนเกิดแนวความคิดที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อคนกลุ่มนี้ต่อไปด้วย ตู้ปันสุขก็อาจจะพัฒนาไปสู่ ตู้ปันความรู้ ตู้ปันอาชีพฯลฯ
การวางท่าทีด้วยความรู้เข้าใจเช่นนี้ ผู้แบ่งปัน ผู้ให้ หรือผู้บริจาคเองก็ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนทั้งในระดับพฤติกรรม สังคม จิตใจ และปัญญา ไปพร้อมกับการเกื้อกูลพัฒนาเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งสามารถทำได้มากกว่าการบริจาควัตถุสิ่งของที่เป็นเบื้องต้นของการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
วิเจยฺยทานํ สุคตปฺปสตฺถํ
ให้ด้วยพิจารณา พระศาสดาทรงสรรเสริญ
ในฐานะ บุคคลทั่วไปที่ได้รับข้อมูลข่าวสารก็พึงตระหนักว่า เมื่อรับข้อมูลข่าวสารนี้มาแล้วรู้สึกอย่างไร? และเตือนตนเองว่า จะต้องไม่หยุดอยู่เพียงแค่ความรู้สึกพอใจไม่พอใจ และมุ่งแต่แสดงออกทางความรู้สึกของตนผ่านถ้อยคำออกไปหรือเพียงเพราะอยากมีส่วนร่วมด้วยการแสดงความคิดเห็นตามความรู้สึกไปตามกระแสสังคม แต่พึงเท่าทันต่อข้อเท็จจริงหรือความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ไหลไปตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ด้วยการใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความรู้สึกความคิดเห็นที่มาพร้อมกับข้อมูลข่าวสารนั้น เข้าถึงความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น เชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้ผู้คนมีพฤติกรรมอย่างนั้น คนที่มีพฤติกรรมอย่างนั้นมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร? และถ้าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จะต้องทำอย่างไร? ในฐานะผู้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเราจะพอทำอะไรได้บ้างไหม?
การเรียนรู้ฝึกหัดที่จะสังเกตความรู้สึกของตนนั้น เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในฐานะของผู้รับข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ไม่ใช่แค่รู้สึกเท่านั้นแต่ต้องเห็นคุณโทษของความรู้สึกนั้นด้วยว่ามีผลต่อความคิดและการกระทำของเราอย่างไร? ความคิดและการกระทำของเรานั้นมีคุณมีโทษต่อตนเองและสังคมอย่างไร? เมื่อสามารถเท่าทันต่อความรู้สึกและผลของมันได้แล้ว ก็พึงตั้งเจตนาให้ถูกต้องดีงามประกอบด้วยเมตตากรุณาและใช้ปัญญาแสวงหาความจริงให้ครบทุกแง่มุม ใคร่ครวญพิจารณาหาทางออกบอกทางแก้ แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีส่วนสร้างสรรค์โครงการนี้ แต่ก็จะไม่หวั่นไหวไปกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมจนไม่อาจหาญในการทำคุณงามความดี และถ้าหากเรามีกำลังความสามารถก็ช่วยกันคิดช่วยกันนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา พัฒนาสร้างสรรค์เหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งดีงามยิ่งขึ้นไป หรือ อย่างน้อยที่สุดก็เห็นอกเห็นใจทั้งต่อผู้ให้ที่ยังต้องฝึกหัดและผู้รับที่ยังต้องพัฒนา นี้เป็นฐานะที่ผู้รับข้อมูลข่าวสารพึงกระทำได้ตามกำลังความสามารถของตน
ทินฺนํ สุขผลํ โหติ
ของที่ให้แล้ว ชื่อว่าออกผลเป็นความสุขแล้ว
พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ)
วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
(กรณีมีคนหยิบของในตู้ปันสุขไปจนหมด)
บทความน่าสนใจ
“ตู้ปันสุข” ตู้แห่งการแบ่งปัน กระจายทั่วประเทศไทยครบแล้ว 77 จังหวัด
พระวัดราษฎร์ฯ ตัดเย็บหน้ากากอนามัยแจกญาติโยม ป้องกันโควิด-19