หมด ปัญหาความจำเสื่อม กับ 6 เคล็ดลับพิชิตความจำดี – ชีวจิต

ทำอย่างไรให้หมด ปัญหาความจำเสื่อม กับ  6 เคล็ดลับพิชิตความจำดี

ทุกคนเคยสังเกตไหมว่า ปัญหาความจำเสื่อม เริ่มมีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งความจำที่ดีต้องอาสัยการทำงานของสมอง โดยแต่ละวันเราใช้สมองไปกับการเรียน การท่องจำหนังสือ การทำงาน หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจอะไรที่หนัก ๆ ทำให้ขมวดคิ้วอยู่ตลอดหลายชั่วโมงต่อวัน โดยกลไกการทำงานของสมองเราก็จะทำงานหนักขึ้น แล้วเคยไหม เวลาที่เรากำลังจะพูดหรือจะทำอะไรบางอย่าง แต่เรากลับลืมไปง่าย ๆ เสียอย่างนั้น หรือบางทีจำได้แต่อยู่ดี ๆ แป๊บ ๆ ก็ลืม  บางคนจะมองว่าอาจจะขำ ๆ แหละ แต่หารู้ไม่ว่านี่อาจเป็นจุดกำเนิดของโรคสมองเสื่อม

ความจำเสื่อมคืออะไร?

ความจำเสื่อม คือ ภาวะที่สมองเริ่มมีความบกพร่องต่อความทรงจำ  แม้จะไม่ได้มีอันตรายเท่ากับโรคร้ายอื่น ๆ แต่กลับส่งผลกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง อธิบายไว้ว่า

“ความเครียดทำให้ความจำเสื่อม เพราะความเครียดทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้หลอดลมขยาย ทำให้หัวใจบีบตัว ทำให้หัวใจเต้นแรง ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง และทำให้กลไกหลายระบบในร่างกายเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อส่วนต่าง ๆ ของสมองทั้งหมด”

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีความบกพร่องต่อสมองและความจำ วันนี้เราจึงนำเอาข้อสังเกตอาการเหล่านี้มาฝากค่ะ

1.สูญเสียความจำ  เช่น ลืมการสนทนา ลืมเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

2.ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยได้ไม่เหมือนเดิม หรืออาจจะทำได้แต่ยาก

3.ตัดสินใจได้อย่างไม่เหมาะสม เช่น เปิดพัดลมแรงทั้งที่มีอากาศเย็น

4.สับสนวันเวลาและสถานที่ เช่น หลงวัน เวลา บอกที่อยู่ตนเองไม่ได้

5.มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำศัพท์ง่าย  ๆ ใช้คำผิดความหมาย

6.มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เช่น บวกลบคูณหารไม่ได้ คำนวณผิดพลาด

7.เก็บสิ่งของผิดที่ผิดทาง เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น เก็บนาฬิกาในโถน้ำตาล

8.มีอารมณ์แปรปรวน

9.บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นคนหวาดกลัวง่ายกว่าเดิม หรือช่างสงสัยมากขึ้น

10.เก็บตัว เซื่องซึม ไม่กระตือรือร้น อยู่นิ่ง ๆ ไม่ออกสังคม

หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

นอกจากนี้เรายังมีความลับเกี่ยวกับการมีความจำที่ดีได้มาฝากกันค่ะ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้

ดร.โจเอล ซาลินาส นักประสาทวิทยา โรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แนะนำกลยุทธ์ช่วยเพิ่มความจำ กับ 6 เคล็ดลับ ดังนี้ค่ะ

6  TIPS  พิชิตความจำ

1. เก็บสิ่งของให้เข้าที่เป็นระเบียบ    หมั่นจัดของต่าง ๆ ไว้ในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ง่ายหรือเดินผ่านเป็นประจำ

2. การแยกย่อยงาน  จัดการทีละขั้นตอน แยกออกให้เป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อให้ง่ายและจำได้ดีขึ้น

3. ลองทำสิ่งเดิมซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพราะการทำซ้ำจะเพิ่มโอกาสในการบันทึกข้อมูลและดึงข้อมูลได้ภายหลัง อาจจะออกเสียงดัง ๆ เวลาที่อ่านหรือคิด

4. หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำอยู่เสมอ   ทำให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเรียนรู้และช่วยกระตุ้นจิตใจให้เกิดการจดจำ ทำสมองและจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ

5. เข้าสังคมเป็นประจำ  กระตุ้นความจำได้ดี  การวิจัยพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นประจำจะช่วยกระตุ้นจิตใจให้เกิดการจดจำ

6. ตั้งเตือนความจำด้วยด้วยตนเอง  เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่นิยมแปะโน้ตไว้ตามจุดต่าง ๆ เช่น ไว้หน้ากระจก  ในห้องน้ำหรือที่ประตูเพื่อเตือนความจำ แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีติดตัวตลอด เราก็สามารถตั้งเตือนไว้ในโทรศัพท์มือถือได้อีกวิธีหนึ่ง

นอกจากนี้เรายังมีสุดยอดอาหารช่วยเพิ่มความจำมาฝากอีกด้วยค่ะ

  1. ปลา  โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
  2. ผลไม้ตระกูลเบอรรี่ เช่น สตรอเบอร์รี เชอร์รี
  3. ไข่ ช่วยพัฒนาและบำรุงสมองได้เป็นอย่างดี
  4. ผักโขม โดยเฉพาะผักโขมที่ปลูกแบบออร์แกนิก ไม่มีสารเคมีตกค้าง
  5. ธัญพืช เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา เมล็ดแฟลกซ์
  6. พืชตระกูลถั่ว เช่น  อัลมอนด์ ถั่วลิสง แมคคาเมีย
  7. ช็อคโกแลต ช่วยกระตุ้นสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยระบบหมุนเวียนเลือด
  8. แครอท  จะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานอย่างสดชื่นแบบเร่งด่วน กินแครอทแบบสด ๆ อย่าง 1 ครั้งต่อสัปดาห์
  9. แอปเปิล  หากดื่มน้ำแอปเปิ้ลวันละประมาณ 2 แก้ว หรือกินแอปเปิ้ลวันละ 2-3 ลูก จะช่วยในการจดจำ และเพิ่มประสิทธิภาพความจำของสมอง
  10. แปะก๊วย  พืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า อาการหลง ๆ ลืม ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://cheewajit.com/healthy-body/217750.html)

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะมีสุขภาพความจำที่ดีได้ ก็ต้องอาศัยการออกกำลังกาย บำรุงสมองด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ กินให้ครบทั้ง 5 หมู่ การกำจัดความเครียด ความกังวล หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการทำลายสมอง ล้วนส่งผลทั้งสิ้นต่อปัญหาความจำ มาพิชิตความจำที่ดี ทำได้ทุกวัยกันดีกว่าค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก :  หนังสือนิตยสารชีวจิต   526   Depression Guideline

กรมสุขภาพจิต

………………………………………………………………

เรียบเรียงเนื้อหา : ลลิตา ศรีหาบุญมา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เช็กสูงวัยใกล้ตัวมีอาการ “ความจำเสื่อม” หรือไม่?

7 ตัวการทำลายสมอง ความจำเสื่อม ก่อนวัย

รู้ยัง ? ผู้สูงอายุ ไม่ได้ ความจำเสื่อม ทุกคน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.