ประโยชน์ของพริก เป็นยาอายุวัฒนะ ยืดอายุ ลดความเสี่ยงหัวใจ และโรคมะเร็ง
ข่าวดีของคนชอบกินเผ็ด เมื่อมีการศึกษา ประโยชน์ของพริก โดยศึกษาจากคนในประเทศสหรัฐ จีน อิหร่าน และอิตาลี รวมกว่า 570,000 คน พบว่าการกินพริกช่วยลดความเสี่ยงการตายจากโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และช่วยให้อายุยืนขึ้นได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับคนไม่กินพริก
ประโยชน์ของพริก
เพิ่มภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
การวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าในพริกมีสารต้านอนุมูลอิสระ และยังสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนั้นแล้วในพริกซึ่งรวมถึงพริกป่น อุดมด้วยวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา และวิตามินซีซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีคุณประโยชน์ทั้งในการป้องกันโรคและการบำรุงผิวพรรณ
คุณรู้กันหรือไม่ว่า ในพริกเขียวเม็ดอวบ ๆ มีวิตามินซีมากกว่าส้มถึง 2 เท่า ถ้าเป็นพริกหวานเม็ดสุกแดง วิตามินซีเพิ่มเป็น 3 เท่า และยังเป็นแหล่งเบต้าแคโรทีนชั้นดี ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อว่าเป็นตัวก่อมะเร็ง และช่วยชะลอความแก่ได้อย่างดีอีกด้วย
ต้านอนุมูลอิสระ
วิตามินเอในพริกไม่เพียงช่วยบำรุงสายตา แต่ยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากความเครียด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
พริกช่วยลดระดับคอลเลสเตอรอลในเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าการกินพริกแดงช่วยลดการเกิดโรคดังกล่าวได้ถึง 13%
มีงานวิจัยทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงรับประทานพริกขี้หนู 5 กรัม ร่วมกับรับประทานอาหารปกติเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่รับประทานพริก ซึ่งจากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานพริกมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) คงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่รับประทานพริกเลย มีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น จึงสรุปได้ว่าการรับประทานพริกช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้คงที่และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า สารแคปไซซินมีสรรพคุณช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ในขณะที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นได้ ทำให้เรามีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลงอีกด้วย
ป้องกันลำไส้อักเสบ
จากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences พบว่า เมื่อสมองตอบสนองต่อความเผ็ด จะหลั่งสารอะแนนดาไมด์ (anandamide) ซึ่งมีคุณสมบัติลดการอักเสบของลำไส้ได้
ช่วยให้เจริญอาหาร
โดยกระตุ้นให้น้ำลายในปากออกมามากเอนไซม์ที่ออกมาพร้อมน้ำลายจะช่วยย่อยสลายแป้งในปาก กลายเป็นน้ำตาล ทำให้รู้สึกหวาน รสชาติอาหารอร่อยขึ้น
ช่วยย่อยอาหาร
เพราะช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยดีขึ้น นอกจากนี้สารสกัดจากพริกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งเอนไซม์บางชนิด ทำให้เกิดการบีบตัวและคลายตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ดีขึ้น ปัจจุบันจึงมีการนำสารสกัดจากพริกไปผสมในยาชนิดต่างๆ เช่น ยาธาตุ ยาเจริญอาหาร ยาขับลม และยาแก้ปวดท้อง
ช่วยลดอาการเจ็บปวดเฉพาะที่
ทุกวันนี้มียาขี้ผึ้งทาถูนวด แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก บางตำรับผสมสารจากพริก เช่น น้ำมันมวย น้ำมันบาล์ม เนื่องจากว่าสาร แคปไซซิน ซึ่งเป็นสารที่สร้างความเผ็ดในพริกนั้น มีความเผ็ด และร้อนแรงอยู่ ความร้อนนี้เองที่ไปช่วยคลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้
จมูกโล่ง หายใจสะดวก
จะสังเกตได้ว่าเวลาเรารับประทานพริกเข้าไปสักพักจะมีอาการน้ำมูก น้ำตาไหล นั่นก็เป็นเพราะรสเผ็ดๆ รวมทั้งสารก่อความร้อนในพริกจะไปช่วยลดปริมาณน้ำมูก และสิ่งกีดขวางในทางเดินระบบหายใจ ทำให้จมูกโล่ง ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
แถมยังบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะที่เหนียวข้น ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งหอบหืด ภูมิแพ้ ไซนัส และหลอดลมอักเสบ เราขอแนะนำให้รับประทานพริกเป็นประจำเลย แต่ก็ระวังอย่ารับประทานเผ็ดมากเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารตามมาได้
กินเผ็ด เกินไป ซ้ำเติมให้ยิ่งป่วยหนัก
อาหารไทยมี “พริก” เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่เจอในหลายเมนู ทำให้อาหารมีรสจัดจ้าน และคนไทยบางส่วนคุ้นเคยกับการรับประทานอาหารรสจัดเป็นอย่างดี ขณะที่อาหารประเภทนี้ยังส่งผลเสียบางอย่างด้านสุขภาพ โดยเฉพาะที่กินเผ็ดขนาดที่ว่า สั่งยำพริก 10 เม็ด 100 เม็ด แแม้ว่าพริกจะมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ช่วยป้องกันโรคต่างๆ อย่างที่บอกไปแล้ว แต่ถ้ามากเกินไปก็เกิดข้อเสียได้ มาดูกันดีกว่าว่าการกินเผ็ดจัดๆ นั้นจะส่งผลต่อโรคอะไรบ้าง
การ กินเผ็ด มากนั้นเบื้องต้นเลยคือจะทำให้ในช่องปากและทางเดินอาหารเกิดอาการแสบร้อน จึงมักรู้สึกแสบร้อนหน้าอกและในปาก นอกจากนั้นยังไปกระตุ้นให้บางโรครุนแรงมากขึ้น
กระเพาะอาหารอักเสบ
การกินเผ็ดจัดๆ สะสมมานานทำให้เยื่อเมือกบุในกระเพาะอาหารอักเสบ บวม แดง จนเกิดเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบและกลายเป็นโรคเรื้อรัง นอกจากนั้นการกินเผ็ดจัดๆ จะยิ่งสร้างกรดที่กัดเยื่อบุกระเพาะอาหาร ยิ่งทำให้แสบท้องทันทีที่กินอาหารเผ็ด
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ผนังลำไส้ใหญ่มีการอักเส อาหารรสเผ็ดจะยิ่งกระตุ้นให้อาการรุนแรงมากขึ้นจนมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วงและหากเรื้อรังอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ได้
กรดไหลย้อน
พริกมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหารจะยิ่งเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และยิ่งทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารจนเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน หากเป็นเรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารในอนาคต
กินเผ็ด ก่อประโยชน์
- เคี้ยวให้ละเอียด และไม่ทานเร็วเกินไป เพราะว่าอาหารรสเผ็ดนั้นจะช่วยให้ทานได้มาก และอิ่มช้า
- ควรเริ่มบริโภคแต่น้อยๆ หลังอาการของโรคต่างๆ หายดีแล้ว
ข้อมูล
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด
- โรงพยาบาลเปาโล
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- สมุนไพรดูแลผิวหน้าร้อน ร้อนนี้ผิวไม่ไหม้ ไม่แสบ
- สมุนไพรบำรุงปอด รีบกินก่อน ป้องกันโรคร้ายถามหา
- ลูกยอ สมุนไพรพื้นบ้านของดี ช่วยบำรุงร่างกาย ลดปอดอักเสบ
ติดตามชีวจิตได้ที่