เลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ

รู้จัก เลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บร้ายแรงจนเสียชีวิต ที่เกิดได้กับทุกคน

รู้จัก เลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกวัย

ได้มีโอกาสอ่านข่าวเศร้าเกี่ยวกับเด็กชายชาวไต้หวัน ที่ถูกทุ่มระหว่างฝีกซ้อมยูโด จนเลือดออกในสมอง และโคม่าอยู่นานกว่า 70 วันจนเสียชีวิต ซึ่งอาการเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียอยู่บ่อยครั้ง วันนี้เราจึงควรมาทำความรู้จัก รวมถึงวิธีปฐมพยาบาล ที่ถูกต้อง กันดีกว่าค่ะ

 

ตามรอยข่าว

เรามาดูรายละเอียดข่าวกันสักนิดค่ะ โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างฝึกซ้อมยูโดของเด็กชายวัย 7 ขวบ ที่มีการอัดคลิปเอาไว้ โดยครอบครัวระบุว่าน้องถูกทุ่มมากกว่า 27 ครั้ง อีกทั้งระหว่างการฝึกน้องมีการร้องว่า ““ขาของผม” “หัวของผม” รวมถึง “ไม่เอาแล้ว” จนน้องอ่อนแรงเกินกว่าจะลุกขึ้นใหม่ได้ แต่ผู้ฝึกสอนยังคงสั่งให้ลุก และจับทุ่มอีกหลายครั้ง จนอาเจียน และหมดสติ แต่ผู้ฝึกสอนกลับบอกว่านี่เป็นการแกล้งสลบ และเมื่อส่งโรงพยาบาล แพทย์ระบุว่า น้องมีอาการเลือดออกในสมองอย่างรุนแรง

 

อาการเลือดออกในสมอง

อาการของเลือดออกในสมอง ค่อนข้างมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความรุนแรง บริเวณที่บาดเจ็บ และจำนวนเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายค่ะ

  1. ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน
  2. มีอาการชักอย่างเฉียบพลัน โดยไม่เคยมีประวัติโรคลมชักมาก่อน
  3. คลื่นไส้ หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  4. แขนหรือขาอ่อนแรง เฉียบพลัน
  5. สูญเสียการทรงตัวและการประสานงานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
  6. ตาพร่ามัว การตอบสนองของรูม่านตาไม่เท่ากัน
  7. พูดสื่อสารไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด มีปัญหาในการเขียนหรืออ่านหนังสือ
  8. กลืนลำบาก ลิ้นรับรสชาติผิดแปลกไปจากปกติ
  9. เวียนศีรษะ
  10. ความดันโลหิตสูงขึ้น
  11. อาการปวดคล้ายเข็มทิ่มหรือชา
  12. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดเล็กมีปัญหา เช่น มีอาการมือสั่น
  13. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สับสน เพ้อ ไม่ตอบสนอง มีการตื่นตัวน้อยลง เซื่องซึม
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ อาการส่วนใหญ่ เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในทันที หรือภายหลังเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนก็ได้เช่นเดียวกัน
เลือดออกในสมอง

สาเหตุของเลือดออกในสมอง

สำหรับสาเหตุของการเลือดออกในสมอง มีได้หลายอย่างเลยค่ะ ทั้งจากอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ

  1. อุบัติเหตุที่มีการกระแทกที่ศีรษะ 
  2. ความดันโลหิตสูง
  3. หลอดเลือดโป่งพอง
  4. หลอดเลือดสมองผิดปกติ

 

การปฐมพยาบาล

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น หากผู้ป่วยหมดสติ หรือชักเกร็ง ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งคว่ำ ให้ศีรษะคว่ำลงกับพื้น เพื่อป้องกันการสำลัก และห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากผู้ป่วย เพราะอาจทำให้หลุดลงคอ หรือเกิดการสำลัก และบาดเจ็บมากขึ้น

หลังจากนั้นจะต้องรีบแจ้ง 191 หรือ 1669 ซึ่งเป็นหมายเลขฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหากผู้ป่วยถึงมือหมอได้ไว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น

 

ข้อมูล BBC, ไทยรัฐ, Post Today, โรงพยาบาลกรุงเทพ, คู่มือความรู้ภาคประชาชน เรื่องเลือดออกในสมอง โดย ผศ.นท. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ดูแลหลอดเลือดด้วยอาหาร TLC
ไขมันในเลือดสูง ตัวการสารพัดโรค
อัปเดทการรักษา โรคฮีโมฟีเลีย โรคเลือดหยุดยาก ในประเทศไทย

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.