ไหลตาย

ไหลตาย เพราะผีแม่หม้าย หรือโรคร้ายกันแน่ ?

ทำไมส่วนมากชายอีสานถึง ไหลตาย

เคยสงสัยกันบ้างมั้ยคะ เวลาที่มีข่าวชายไทยไหลตาย ส่วนใหญ่มักเป็นภาคอีสาน แล้วภาวะ ไหลตาย น่ากลัวมากเลยนะคะ เพราะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เป็นสาเหตุเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ

โรคไหลตายกับความเชื่อ

ขวัญผวา ชายหนุ่มภาคอีสานไหลตาย ชาวบ้านเชื่อผีแม่หม้ายพาตัวไป แห่ชายแต่งหญิง ผูกผ้าแดงหน้าบ้าน หวังช่วยไล่ผี

ทุกคนคงจะเคยอ่านข่าวทำนองนี้มาก่อน ชาวบ้านในแถบอีสานเชื่อว่า การไหลตายเกิดเพราะชายคนนั้นเป็นที่หมายปองของ ผีแม่หม้าย และส่วนมากพอเกิดการไหลตายก็จะหวาดกลัว และนำไปสู่การแก้เคล็ดแบบโบราณคือ ให้ผู้ชายในบ้านแต่งเป็นหญิง และนำผ้าแดงผูกหน้าบ้าน เพื่อที่จะไล่ผี

โรคไหลตาย (Sudden Unexplained Nocturnal Death syndrome; SUNDS)

คือ กลุ่มอาการที่มีการเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือโครงสร้างหัวใจผิดปกติ

  • สาเหตุทางพันธุกรรม (Genetic factors)

ศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง ภาคศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในต่างประเทศพบการกลายพันธุ์ในลักษณะที่พบน้อยหรือไม่พบเลย การศึกษากรณีในประเทศไทยพบยีนกลายพันธุ์ในลักษณะดังกล่าวเพียง 7-8% เท่านั้น

  • สาเหตุที่ไม่ใช่ส่วนของพันธุกรรม (Environmental factors)

บางครั้งโรคไหลตายมักไม่มีอาการอะไรเลย แต่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรค ไหลตาย

ไหลตาย

อะไรที่ทำให้เสี่ยงไหลตายได้บ้าง

  1. มีประวัติบุคคลในครอบครัวที่อายุน้อยเสียชีวิตเฉียบพลัน
  2. ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งมีผลต่อการเต้นของหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เสียชีวิต
  3. จากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนจนเกิดการสะสม และเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  4. ภาวะขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอนมากกว่าปกติ เมื่อหลับแล้วมักเกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิต

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เป็นโรคไหลตาย

  • มีไข้สูง 
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ
  • ยาบางชนิด ดังนั้นผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะไหลตาย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องได้รับยาบางชนิดเช่น ยานอนหลับ หรือยาที่มีผลต่อแร่ธาตุในร่างกาย

สัญญานเตือนของโรคไหลตาย

โดยปกติการไหลตาย ถึงจะเสียชีวิตไปโดยไม่มีอาการใด ๆ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการ แล้วมาพบแพทย์จนตรวจเจอว่าเป็นโรค ไหลตาย อาการที่พบมีดังนี้

  • ใจสั่น
  • วูบ เป็นลม หมดสติไปชั่วขณะ
  • เวียนศีรษะ
  • ชัก
  • หายใจลำบาก มีอาการกำเริบระหว่างนอนหลับอาจมีเสียงหายใจครืดคราดคล้ายละเมอ
  • เจ็บหน้าอก
  • เคยตรวจพบว่ามีหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง

หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุการผิดปกติดังกล่าว

นอนกรนก็เสี่ยงไหลตาย

อาการนอนกรนชนิดรุนแรง หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการสะดุ้งเฮือกและตื่นขึ้นมาระหว่างนอนหลับ เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักทุกคืนเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือไหลตายได้

ทดสอบการหายใจระหว่างนอน

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคไหลตาย เบื้องต้นทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อาจพิจารณาร่วมกับการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อตรวจดูหัวใจว่าปกติหรือไม่

นอกจากนั้นในรายที่สงสัยว่ามีภาวะคุณสมบัติทางไฟฟ้าของเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจผิดปกติ หรือที่เรียกว่า Brugada syndrome ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรงแบบสั่นพลิ้ว จากหัวใจห้องล่าง แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจโดยการใส่สายเข้าไปตรวจภายในหัวใจ (EP study) หรือตรวจยีน เพื่อดูการกลายพันธุ์ในสารพันธุกรรม

โรคไหลตายรักษาได้มั้ย?

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไหลตาย แต่หากพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะให้รักษาตามอาการแบบประคับประคอง คือ

1. การฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ สำหรับผู้ที่มีอาการโรคไหลตายแล้ว เช่น ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นแล้วต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา แพทย์จะแนะนำให้ใส่เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (Implantable Cardioverter Defibrillator – ICD) โดยฝังเครื่องลงไปใต้ผิวหนัง แล้วใส่สายไปในหัวใจ เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องนี้จะตรวจการหยุดเต้นของหัวใจ แล้วปล่อยกระแสไฟช็อตเพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานโดยอัตโนมัติ

2. การจี้หัวใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดี โดยในปัจจุบัน จะใช้การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation – RFA) กับคนไข้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation) จากโรคนี้

สรุปก็คือโรคไหลตายเป็นโรคที่มีการเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจภาวะหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการไหลตายคือกลุ่มอาการที่เรียกว่า Brugada syndrome ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติในห้องหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง และเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบว่าคนที่เป็นโรคนี้เสียชีวิตไปขณะหลับ โดยที่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใด ๆ เตือนมาก่อน และโรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ที่มา

  • โรงพยาบาลพระราม 9
  • จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
  • NK SLEEPCARE
  • รพ.พญาไท

บทความที่น่าสนใจ

ต่อมหมวกไตล้า ผลจาก “เครียด” เรื้อรัง

ฉี่แบบนี้ สัญญาณ โรคไต

ป่วย ไข้เลือดออก ต้องลดไข้แบบนี้เลย

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมที่พบมากขึ้นในสังคม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.