ผมร่วง บอกปัญหาสุขภาพได้ ถ้าสังเกตให้ดี
ผมร่วง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน จนดูเหมือนว่าการที่ผมร่วงคือเรื่องปกติ แต่ในความจริงแล้ว บางครั้งก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพได้เช่นกันหากว่าในช่วงนั้นผมร่วงมากกว่าปกติ
ในปกติแล้วคนเราจะมีผมหลุดร่วงประมาณ 120 – 160 เส้น แต่หากสังเกตดูแล้วว่า ผมหลุดร่วงมากกว่านั้น รวมไปถึงหนังศีรษะคัน แสบ แดง มีสะเก็ด หรือมีแผลพุพอง ถือว่าผิดปกติ ต้องพบแพทย์
ส่วนสาเหตุของผมหลุดร่วงมากกว่าปกตินั้นก็มีหลายประการเลยค่ะ ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งบอกปัญหาสุขภาพได้
โรคภัยไข้เจ็บ
- ต่อมไทรอยด์ มักเป็นต้นตอของการเจ็บป่วยที่ทำให้ผมหลุดร่วง เนื่องจากต่อมไทรอยด์เสียสมดุลในการทำงาน
- ภาวะแพ้ภูมิอวัยวะภายใน จึงทำให้เกิดภาวะต่อต้านรากผม ซึ่งอาจเป็นเฉพาะที่ หรือทั่วร่างกาย
- โรคผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยโรคที่มีการอักเสบรบกวนการเติบโตของเส้นผม รวมถึงติดเชื้อ เช่นเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ของหนังศีรษะ
ยา อาหารเสริม วิตามินบางชนิด
ยาบางชนิดมีผลต่อการหลุดร่วงของเส้นผม เช่น ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินสังเคราะห์ ยารักษาโรคมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคไขข้อเสื่อม ไขข้ออักเสบ ยาลดความเครียด ยาลดความดันบางชนิด นอกจากนั้นการได้รับวิตามินบางชนิดที่มากเกินกว่าร่างกายต้องการ จะมีผลระงับการเจริญเติบโตของรากผม ทำให้ผมหลุดร่วง แต่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อหยุดยา หรือวิตามินชนิดนั้นๆ
ความเครียดสะสม
ความเครียดในที่นี้ หมายรวมถึงความเครียดทางกาย ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย และอาการบาดเจ็บต่างๆ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม การย้อม ยืด ดัด จัดแต่งทรงผม และการมัดรวบผม นอกจากนั้นยังรวมความเครียดทางจิตใจ ที่เป็นความวิตกกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดผมร่วงเรื้อรัง รวมไปถึงพฤติกรรมบางอย่างเช่น ดึงถอนผม นอกจากจะปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะแล้ว ยังต้องปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วย
ภาวะโภชนาการบกพร่อง
เกิดขึ้นในรายที่น้ำหนักลดในช่วงระยะเวลาอันรวดเร็ว หรือภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ซึ่งผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก นอกจากจะทำให้ผมร่วงแล้ว ยังทำให้อ่อนเพลีย เล็บเปราะบาง อีกด้วย
พันธุกรรม
เป็นเรื่องปกติเลยที่ว่ากรรมพันธุ์ส่งผลให้ผมเส้นเล็กลง บางลง โดยเกิดขึ้นจากฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) เป็นตัวการหลักที่ทำให้เส้นผมที่งอกใหม่เล็กลง จนไม่สามารถปกปิดหนังศีรษะได้เหมือนเดิม ซึ่งหากเริ่มเกิดปัญหา ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อรับคำแนะนำและรักษาในระยะยาว
ข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
6 สาเหตุ ทำให้ ” ผมร่วง ” รู้แล้วแก้ไขได้ตรงจุด ช่วยได้
ผงชูรส กินไม่ดีจริงหรือ และทำให้ผมร่วงได้จริงไหม
แพทย์ผิวหนังแนะ 5 วิธีดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วง Work From Home