อาการข้อไหล่ติด

รู้จัก อาการข้อไหล่ติด พร้อมทางแก้ไข โดยผู้เชี่ยวชาญ

รู้จัก อาการข้อไหล่ติด พร้อมทางแก้ไข โดยผู้เชี่ยวชาญ

อาการข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) คืออะไร อาการที่ว่านี้ สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่เกิดได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบบ่อยในวัยสูงอายุ

เป็นภาวะที่ทำให้มีอาการปวดไหล่ ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ปกติดังเดิม มีอาการติดขัด หากปล่อยไว้นานอาจไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้ และอาจพัฒนากลายเป็นหัวไหล่ติดแข็ง และขยับไม่ได้ถาวร

นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา อธิบายว่า

สาเหตุเกิดจากการอักเสบและการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ เกิดเป็นพังผืด อาจเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น อุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการหันหรือเอื้อมหยิบของเร็วๆ แบบผิดท่า การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การใช้งานข้อไหล่ซ้ำ ๆ ระยะเวลานาน อาทิการนั่งพิมพ์งาน หรือท่าทางต่างๆ การบาดเจ็บต่างๆ หรืออาจเคยเกิดอุบัติเหตุที่ข้อไหล่เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อไหล่ หรือแม้แต่ผู้มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ไทรอยด์

อาการภาวะข้อไหล่ติด เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะปวด อาการจะเริ่มปวด และค่อย ๆ ปวดเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง แม้เวลากลางคืนเมื่อขยับไปโดนหัวไหล่ข้างที่ปวดก็จะเกิดอาการปวดมากจนรบกวนเวลานอน ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในร่างกายไม่เป็นปกติ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
  2. ระยะข้อติด เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ติดขัดมากขึ้น แม้ขยับเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร และการติดกระดุมเสื้อผ้า หรือการสวมเสื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
  3. ระยะฟื้นตัว อาการข้อไหล่ติดจะสามารถฟื้นตัวได้เอง อาการจะค่อยๆดีขึ้น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี  พบว่าจะยังมีอาการข้อติดหลงเหลือ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ส่งผลให้การใช้งานไม่เหมือนปกติแต่เดิม

สังเกตอาการที่ควรรีบมาพบแพทย์

  • ปวดไหล่
  • ขยับแขนไม่ได้
  • ยกแขนไม่ขึ้น
  • นอนก็ปวด เมื่อทับแขนด้านที่ปวด
  • เอื้อมแขนหยิบของด้านหลัง ไขว้แขนไม่ได้ เอื้อมหยิบของที่สูงไม่ได้
  • ยกแขนขึ้นสวมเสื้อลำบาก
  • ปวดร้าวลงแขน
  • หิ้วของหนักลำบาก

การรักษาภาวะข้อไหล่ติดแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี

1. การให้ยาเพื่อลดปวด โดยมีทั้งรูปแบบการทานยา และการฉีดยาลดปวด

2. การทำกายภาพบำบัด ด้วยทีมกายภาพบำบัดผู้ชำนาญการ โดยต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ

3. การผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีส่องกล้อง Minimally Invasive Surgery โดยหากมีอาการปวดมากไม่สามารถใช้แขนดำเนินชีวิตได้ปกติ และใช้การรักษาวิธีข้างต้นไม่ได้ผล การผ่าตัดแบบแผลเล็กช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อีกครั้ง โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้แขน และเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ปกติ โดยแพทย์จะใช้การส่องกล้องข้อไหล่ โดยเจาะรูที่ข้อไหล่ 3-4 รู ขนาดของรูละ 0.5 – 1 ซม. เพื่อใส่เครื่องมือการส่องกล้องเข้าไปโดยกล้องจะถ่ายภาพภายในข้อไหล่โชว์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และทำการผ่าตัด ซ่อมแซม ตกแต่งเยื่อหุ้มข้อด้วยเทคนิคแบบแผลเล็กเจ็บน้อย ช่วยลดการบอบช้ำของเนื้อเยื่อ และเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็วได้กว่าการผ่าตัดแบบเปิด

ภาวะข้อไหล่ติดสามารถรักษาได้หากรีบเข้ามาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยยิ่งเกิดกับผู้สูงอายุด้วยแล้ว ลูกหลานอาจควรช่วยสังเกตอาการและรีบพามาพบแพทย์ เพราะส่วนใหญ่จะปล่อยให้เรื้อรัง โดยเมื่อเป็นมากแล้วถึงยอมมาพบแพทย์ หากมาพบแพทย์เร็วก็จะยิ่งส่งผลให้ลดการเจ็บปวด การบอบช้ำของกล้ามเนื้อโดยรอบที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะข้อไหล่ติด และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น โดยชีวิตไม่ติดขัดจากข้อไหล่ติดอีกต่อไป

ข้อมูลจาก : โพสต์ ทูเดย์ / นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา

บทความอื่นที่น่าสนใจ

Home Isolation คืออะไร และเมื่อติดโควิดต้องทำอย่างไร

แจกสูตร! หลากวิธีใช้มะนาวรักษาสุขภาพ

ลดความอ้วน ไม่ใช้ยา ทำตามด่วน แค่คุม 2 อย่าง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.