จากข้อมูลของ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2565 พบสถิติ มะเร็งรังไข่ เป็นอันดับ 7 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย แต่อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่มีอาการแค่ปวดท้อง ซึ่งอาจทำให้สาวๆ หลายคนละเลย และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ลุกลามไปมากแล้ว วันนี้แอดจึงนำ ประสบการณ์สุขภาพ ของผู้ที่เคยเป็นมะเร็งรังไข่มาบอกเล่า พร้อมทั้งวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น ที่บอกว่า อาการไม่ธรรมดาแล้ว ไปหาหมอเถอะ
นึกว่าแค่ปวดท้อง ที่แท้ มะเร็งรังไข่
โดยประสบการณ์สุขภาพที่นำมาเล่าในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์จากลูกสาว ที่ต้องดูแลคุณแม่ที่เป็นมะเร็งรังไข่ เรามาดูอาการ แต่ละอย่างไปด้วยกันดีกว่าค่ะ ว่าอาการตรงไหนบ้าง ที่เราควรต้องระวัง หรือเอ๊ะ! เมื่อเกินขึ้นกับตัวเอง
เมื่อปวดท้อง ไม่ใช่แค่ปวดท้อง
“ประมาณสองปีที่แล้ว คุณแม่ปวดท้องบ่อยๆ แน่นและอึดอัดท้องมากๆ คล้ายกับอาการของผู้ที่มีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะค่ะ ทั้งๆ ที่คุณแม่รู้สึกเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ได้ แต่ท้องน้อยกลับโตขึ้นๆ และมีอาการซึมเศร้า
“หลังจากนั้นอาการแย่ลงเรื่อยๆ ค่ะ คุณแม่ไม่ค่อยมีแรง เป็นไข้หนาวๆร้อนๆ แต่ท่านคิดว่าความผิดปกตินี้เป็นอาการจากภาวะหมดประจำเดือน คงไม่เป็นอะไรมาก แต่เพราะสภาพร่างกายคุณแม่แย่สุดๆ จึงพาท่านไปโรงพยาบาล และตรวจพบมะเร็งรังไข่ระยะที่ 1C คือ เซลล์มะเร็งอยู่ในรังไข่ทั้งสองข้าง และกระจายมาที่บริเวณผิวรังไข่ข้างซ้ายค่ะ”
เผชิญกับอาการป่วยที่ไม่เป็นมิตร
ระหว่างที่ตรวจพบและรอการรักษา คุณแม่ก็อาการเพิ่มขึ้นคือ ปวดหลังแทบเดินไม่ไหวและถ่ายปัสสาวะทุก 30 นาที เพราะก้อนมะเร็งไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ สำหรับกระบวนการรักษา จะเป็นการผ่าตัดร่วมกับการทำเคมีบำบัด โดยผลข้างเคียงจากการรักษาคือ ทำให้คุณแม่ซูบผอมลงไป เพราะเสียเลือด มีอาการน้ำหนักลด ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ขับถ่ายไม่ปกิ และกินอาหารไม่ได้
8 อาการเสี่ยง มะเร็งรังไข่ เป็นแล้วรีบไปหาหมอ
สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ว่าชนิดใดก็ตามรอดชีวิต คือการรู้ตัวและไปหาหมอแต่เนิ่นๆ ซึ่งเราจะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง โดยแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุขโข สูติ . นรีแพทย์และหัวหน้าแผนกสูติกรรม โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร ได้แนะนำวิธีสังเกตอาการของมะเร็งรังไข่ไว้ในหนังสือชุดโรคภัยใกล้ตัว ต้านมะเร็งรังไข่ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ไว้คือ
- เบื่ออาหารหรืออิ่มเร็ว เพราะมะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่ในรังไข่ ไปกดทับกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือมะเร็งรังไข่ผลิตน้ำออกมาในช่องท้อง
- ปวดท้องน้อย ท้องอืด จุกเสียด หรือปวดทั่วท้องเป็นประจำ
- ท้องโตขึ้น ท้องน้อยนูนขึ้น ลักษณะคล้ายคนท้องหรือมีพุง แม้ว่าจะกินน้อย เพราะมะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ในรังไข่ หรือมะเร็งรังไข่ผลิตน้ำออกมาในช่องท้อง
- ปัสสาวะผิดปกติ มีอาการแสบขัดบ่อยครั้ง และรู้สึกปัสสาวะไม่สุด เพราะก้อนมะเร็งรังไข่ไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
- ปวดหลังมาก ในบางคนอาจจะเดินหรือนั่งไม่ไหว เพราะมะเร็งรังไข่ไปรบกวนการทำงานของเส้นประสาทบริเวณหลัง
- ท้องผูกเรื้อรัง ขับถ่ายไม่สะดวก จนทำให้ตัวร้อนคล้ายเป็นไข้ เพราะมะเร็งรังไข่กดทับลำไส้ใหญ่หรือกระจายไปยังลำไส้ใหญ่
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะกะปริบกะปรอย หรือมาครั้งละมาก ๆ เป็นเวลานาน เพราะมะเร็งรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเพศไปรบกวนการทำงานของรังไข่
- มีอาการอ่อนเพลีย ในกรณีที่เป็นมะเร็งรังไข่นานมาก ๆ และยังทำให้ตัวชีด หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บในอก ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ แล้วแต่พื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วย
ทั้งนี้คุณหมอได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายโดยละเอียด หากพบอาการผิดปกติควร
ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เพราะการตรวจพบมะเร็งรังไข่แต่เนิ่น ๆ และเข้ารับการรักษาในทันที จะช่วยให้ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปี หลังเข้ารับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์
ประเภท ของมะเร็งรังไข่
1. มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Ovarian Epithelial Carcinoma) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด โดยจะเกิดที่เยื่อบุผิวรังไข่ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ56 – 60 ปีและเริ่มรักษาช้า เพราะอาจไม่ได้สังเกตอาการ จึงทำให้โอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีเพียงร้อยละ 20
2. มะเร็งฟองไข่ (Germ Cell Tumor) เกิดจากฟองไข่ พบร้อยละ 6 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 16 – 20 ปี เป็นมะเร็งที่โตเร็ว ผู้ป่วยจึงสังเกตอาการได้ง่าย และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด จึงทำให้โอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีร้อยละ 60 – 85
3. มะเร็งเนื้อเยื่อรังไข่ (Sex Cord-Stromal Tumor) พบร้อยละ 8 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมดส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ40 – 70 ปี โดยสามารถตรวจเจอได้แม้ในระยะเริ่มต้น และมะเร็งจะไม่ค่อยกระจายไปไหน จึงรักษาได้โดยการผ่าตัด โอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีร้อยละ 70 – 90
ชีวจิตขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้คุณแม่ของคุณเอ๋ยฟื้นตัวในเร็ววัน และต้องบอกว่าคนไข้โชคดีเหลือเกินที่ตรวจพบมะเร็งรังไข่ก่อนที่จะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ
ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 356
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เคล็ดลับง่ายๆ ดูแลลำไส้ ช่วยห่างไกลจาก โรคมะเร็งลำไส้
เครียด ซึมเศร้า ก่อโรคมะเร็ง จริงหรือ?
ติดตามชีวจิตได้ที่