มีข้อมูลจากหลายการศึกษา พบว่า ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งน้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ลดเสี่ยงโรคมะเร็ง ได้อย่างแน่นอน
โดยมะเร็งที่พบได้น้อยลงในผู้ที่ออกกำลังกาย ได้แก่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เต้านม ลำไส้ใหญ่ เยื่อบุมดลูก ไต หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เป็นต้น
เหตุผลหนึ่งที่การออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง นั่นเพราะการออกกำลังกายช่วยให้น้ำหนักตัวลด ป้องกันการอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็ง
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
คำแนะนำจาก American Cancer Society (ACS) เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ในผู้ป่วยมะเร็ง มีดังนี้
-พยายามอย่าอยู่เฉยๆ กลับมาใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติให้เร็วที่สุด หลังจากการ วินิจฉัยและการรักษามะเร็ง
-พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเริ่มต้นช้าๆ และพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ
-ควรออกกำลังกายด้วยความหนักระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือความหนักระดับสูงอย่างน้อย 75 นาที และพยายามออกกำลังกาย ติดต่อกันอย่างน้อย 10 นาที หลายๆ ครั้งต่อสัปดาห์
-ควรจะออกกำลังกายแบบมีแรงต้านและยืดเหยียด อย่างละ 2 วันต่อสัปดาห์
การออกกำลังกายลักษณะใดที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
–การฝึกหายใจ
ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนมีอาการหายใจไม่สะดวก การฝึกจะช่วยให้การหายใจเข้า – ออก ดีขึ้น และยังช่วยลดความเครียดความกังวล
-การยืดเหยียดเป็นประจำ
ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และพัฒนาบุคลิก เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อ เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากการรักษามะเร็ง เช่น หลังการฉายแสงอาจมีการเคลื่อนไหวของข้อจำกัด เพราะกล้ามเนื้อดึงรั้ง หรือหลังผ่าตัด อาจมีแผลเป็นดึงรั้ง
-การฝึกความสมดุล
โรคมะเร็งหรือการรักษามะเร็งอาจทำให้ความสามารถในการทรงตัวลดลง การฝึกการทรงตัว ช่วยให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และป้องกันการหกล้ม
-Aerobic exercise หรือที่เรียกกันว่า Cardio
เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจและปอด ทำให้อาการเหนื่อยง่ายลดน้อยลง เช่น การเดินความเร็วปานกลาง ครั้งละ 30 – 40 นาที 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการวิ่ง 75 นาทีต่อ สัปดาห์ เป็นต้น
-การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
ในระหว่างการรักษามะเร็ง กล้ามเนื้อมักจะลีบลง เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน โรคมะเร็งหรือการรักษาอาจทำให้ กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงได้ การฝึกนี้จะช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ทรงตัวได้ดีขึ้น ลดความอ่อนล้า ทำกิจวัตรต่างๆ ดีขึ้น และยังป้องกันกระดูกผุ ที่อาจเกิดจากการรักษามะเร็ง
ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งควรเสริมสร้างความ แข็งแรงทุกส่วนของร่างกาย 2 ครั้งต่อสัปดาห์