โกโก้

เปิดโลก โกโก้ กับ เท้ม – จิรัฎฐ์ วิจิตรายศภักดิ์

โกโก้ เครื่องดื่มเพื่อกาย ใจ เลือกปรุงรสที่ใช่ ฮีลลิ่งไลฟ์คนดื่ม

ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือคนชรา เราต่างชื่นชอบในการดื่ม โกโก้ แต่เคยรู้กันบ้างมั้ยว่า เครื่องดื่มชนิดนี้ ดีอย่างไร และถ้าปรุงให้ถูกวิธี นี่ก็คือผลงานชิ้นโบว์แดงจากธรรมชาติที่ให้เราได้ประโยชน์เต็ม ๆ

วันนี้ เราได้พูดคุยกับชายผู้รู้ลึกรู้จริงเรื่องโกโก้ และอาจนับได้ว่าเขาคือเบอร์หนึ่งของแวดวงโกโก้ในประเทศไทย คุณเท้ม-จิรัฎฐ์ วิจิตรายศภักดิ์ เจ้าของร้าน Kokomary ซึ่งมีพระเอกเป็นคาเคา หรือโกโก้ หรือช็อกโกแลต สร้างประสบการณ์ให้กับการดื่มช็อกโกแลตจะต้องเปลี่ยนไป ด้วยพิธีกรรม วิธีการปรุง และการเชื่อมโยงกับเสียงเพลง ที่บอกเลยว่า โกโก้ ของชายคนนี้ จะเขย่าโลกของคุณ

โกโก้

อยากจะเรียกให้ถูก ต้องเรียก โกโก้ หรือ คาเคา กันแน่

คุณเท้มอธิบายว่า “ให้ลองทำความเข้าใจว่า โกโก้หรือคาเคา คือชื่อเรียกของผลผลิตหรือตัวต้นไม้นั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้นโกโก้ ต้นคาเคา เราอาจจะไม่เรียกต้นช็อกโกแลต แต่เรียกเป็นผลโกโก้ ผลคาเคา เป็นเหมือนวัตถุดิบ ยังเป็น raw materials

“แต่พอเป็นคำว่าช็อกโกแลต คือเริ่มตั้งแต่เอาลูกโกโก้ หมักโกโก้ การตาก การคั่ว การบด พวกนี้ยังเรียกโกโก้ได้หมดเลย เพราะยังไม่ได้ใส่ส่วนผสมอื่นเข้าไปในโกโก้

“ในโกโก้ประกอบไปด้วย solids กับ butter ในเมล็ด ซึ่งเวลาโม่ออกมามันก็จะเป็นเหมือนของเหลวเลย มันถูกคั้นออกมาในอุณหภูมิที่อุ่นนิดนึง แต่ก็ยังไม่มีอะไรผสมเข้าไปแปลกใหม่ ขณะที่การทำช็อกโกแลต จะต้องใส่น้ำตาล หรือปรุงรสชาติเพิ่ม บางทีเราก็จะได้เจอช็อกโกแลตรสนั้นรสนี้ เรียกได้ว่า พอเป็นช็อกโกแลตคือการปรุงเพิ่มเข้าไป ใส่อย่างอื่นเพิ่มเข้าไป เพื่อทำให้เป็นช็อกโกแลตบาร์เป็นต้น

“ทีนี้มันจะมีเรื่องของชื่อโกโก้กับคาเคา ที่ทำให้เอ๊ะว่ามันคืออันเดียวกันรึเปล่า ถ้าเอาตามข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่มีคนพิมพ์ไว้ เขาก็จะมองว่า คาเคาเป็นวัตถุดิบที่ดิบมาก ๆ แต่พอเป็นโกโก้จะผ่านกระบวนการในช่วงของการคั่วหรือการแปรรูปที่ยังไม่ได้ใส่อย่างอื่นด้วยอุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้น เขาเลยมองว่าพออุณหภูมิความร้อนที่สูงเกิน สมมติเกินร้อยองศา มันจะทำให้สูญเสียประโยชน์บางอย่างไปได้ ตัวโมเลกุลมันเปลี่ยนสภาพ สารบางอย่างพอโดนความร้อนแล้วมันกลายเป็นตัวอื่น ซึ่งมันจะเป็นการเปลี่ยนคุณประโยชน์ของสารชนิดนั้นไป

“สมมติโกโก้มี 10-20 สาร อาจจะเปลี่ยนไป 1 อย่าง เช่น พูดถึง antioxidant ที่โกโก้มี เขาก็จะพูดกันว่าสารต้านอนุมูลอิสระ ถ้าเอามาเทียบกับตัวที่ไม่คั่วกับคั่ว ตอนไม่ผ่านความร้อนจะมีค่า antioxidant ที่สูงกว่า 

“แต่ตัวชื่อแรกของเขาเลยคือ Theobroma cacao เป็นชื่อต้นคาเคาที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อไว้ ซึ่งพอย้อนกลับไปจะไม่มีใครเรียกโกโก้หรอก เขาก็จะเรียกกันคาเคา หรือช็อกโกแลตไปเลย มันเลยพูดยากเรื่องข้อมูลที่ถูกที่สุด เราอาจจะมองไว้แบบนี้เลยก็ได้ว่า โกโก้ คือการแปรรูปด้วยความร้อนที่สูงกว่า เขาอาจจะพูดแบบนั้นกัน จะเรียกว่าคาเคาหรือโกโก้ก็คืออันเดียวกันเหมือนกัน

“บางทียุโรป เขาขายโกโก้พาวเดอร์ กับคาเคาพาวเดอร์ ปรากฎว่าการใช้คำว่าคาเคาขายดีกว่า เพราะมันดูแพงดูดั้งเดิมกว่า มันเป็นเรื่องการตลาดด้วย ไม่มีผิดไม่มีถูก”

โกโก้

กว่าจะได้โกโก้สักแก้ว

“พอเก็บเกี่ยวผลโกโก้ ข้างในก็จะเป็นเนื้อเหมือนผลไม้ คล้าย ๆ มังคุด น้อยหน่า แต่ว่ามันจะขึ้นเป็นพวง ๆ พอผ่าออกมาเสร็จขั้นตอนแรกคือเอาไปหมัก(บ่ม) คล้ายทำกับกาแฟ หมักหนึ่งอาทิตย์ด้วยลังไม้ ให้เกิดการ fermentation ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ

“เราเลยจะเห็นว่า ตอนหมักโกโก้จะมีใบตองมาคลุม เป็นหนึ่งในเทคนิกในการสร้างจุลินทรีย์ในท้องถิ่น อากาศ ใบไม้ มีผลต่อรสชาติด้วย มันเลยทำให้โกโก้ในแต่ละจังหวัดรสชาติไม่เหมือนกัน ระหว่างหมักอาจมีการพลิก หรือคลุกให้อุณหภูมิทั่วถึงกัน และมีการวัดค่า ph พอครบ 7-10 วัน ก็จะเอาออกมาตากที่โรงตาก ตากแดด 7-10 วัน เพื่อให้แห้งและไล่ความเป็นกรดให้ค่อย ๆ ระเหยออก ขั้นตอนนี้ก็มีผลต่อรสชาติ เช่น ถ้าในช่วงหน้าฝน แดดน้อย กรดก็อาจจะคายช้า ทำให้โกโก้ในล็อตหน้าฝนอาจจะมีความเป็นผลไม้หรือความเปรี้ยวสูงกว่าช่วงหน้าร้อน

“แต่ละคนก็จะมีเทคนิกที่ต่างกันช่วงหน้าฝน เช่น ทำโรงปิดและใช้ลมใช้อากาศช่วย พอตากเสร็จได้เมล็ดแห้งแล้วก็ต้องเอาไปคั่ว ถ้าทำเยอะ ๆ ก็เอาเมล็ดแห้งใส่กระสอบสต็อกไว้ ร้านขายโกโก้หรือแม้แต่เราเอง ก็สามารถเอาเมล็ดแห้งมาคั่วได้เองถ้าเราอยากทำ 

“ในช่วงคั่วก็เป็นอีกขั้นตอนที่ในยุคปัจจุบันสายคาเฟ่ หรือวงการช็อกโกแลต ก็จะมีเรื่อง test note เช่น ช็อกโกแลตตัวนี้รสผลไม้ รสแอปเปิ้ล ซึ่งไม่ได้มีการใส่เพิ่ม แต่มันเป็นเรื่องของเทคนิค เหมือนเวลาเรากินกาแฟแล้วได้รสเชอร์รี่ เบอร์รี่ กลิ่นนั้นกลิ่นนี้ เขาก็จะเล่นเรื่องการคั่ว แต่ยุคโบราณเขาจะคั่วกันง่าย ๆ คือคั่วกระทะ ทำด้วยมือ คั่วเสร็จก็เอามาโม่ เป็นหินโม่ ปันจจุบันก็จะมีเครื่องมือแล้ว หมุนไปตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 3 วัน ยุคโบราณก็จะใช้ครกหิน เรียกว่า มาตาเต้(Matate) ของแมกซิโก จะได้ออกมาเป็นคาเคาเพส(Cacao Paste) เป็นของเหลวและไขมันโกโก้(เนยขาวๆ ในโกโก้มีเป็น50%)  พอเป็นน้ำเหลว ๆ แล้วก็เทใส่กล่อง ถ้าเป็นของแมกซิโก ชาวบ้านเขาก็จะเอาใบตองห่อปิดไว้ แล้วพอมันเย็นตัวก็จะกลับมาเป็นก้อน

“ผงโกโก้พอมันเป็นของเหลวหลังโม่เสร็จ เขาเอาไปเข้าเครื่องไฮโดรลิก เหมือนเป็นการบีบแยกระหว่างเนยกับของเหลวออก เขาก็จะได้เนยโกโก้ออกมาเป็นสีขาว ๆ เลย ซึ่งผงโกโก้มันเกิดมาจากนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขามองเห็นว่าเนยของโกโก้มันมีประโยชน์มากในทางด้านยาและทรีตเมนท์ เขาก็เลยสกัดโกโก้เอาเนยส่งขายบริษัทยา เขาเลยหาทางจัดการกับกาก เปรี้ยว ๆ แข็ง ๆ แห้ง ๆ ที่เหลืออยู่ เขาเลยลองปั่นจากกากกลายเป็นผงและใส่แอลคาไลน์ปรับความด่างให้หายเปรี้ยวจากการหมัก ความเปรี้ยวจะหายไป รสชาติจะขมเฝื่อนขึ้น ส่วนเรื่องกลิ่นไม่แน่ใจว่าเขาใส่อะไรเพิ่มไปบ้างในขั้นตอนการทำในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ประโยชน์ตรงผงก็จะมี แต่น้อยมาก น่าจะไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะสารต่าง ๆ อยู่ในเนยหมดเลย 

“ตอนนี้บางแบรนด์ในบ้านเราเขาก็ทำผงโกโก้แบบ natural process ไม่ได้ใส่สารแอลคาไลน์อะไรลงไป แค่สกัดเนยออก แล้วเอามาปั่นเป็นผง ทำให้ยังได้กลิ่นที่ดีอยู่ สำหรับของบางที่ อย่างที่ของเชียงรายที่ผมใช้อยู่ เขาทำรสชาติดี เพราะตัวดั้งเดิมดี พอออกมาเป็นผงเลยออกมาเพอร์เฟ็ค

“อยู่ที่ฤดูกาลด้วย อย่างช่วงหน้าฝนเราก็จะหารสชาติยากแล้ว เพราะจะติดเปรี้ยว เราก็ต้องยอมรับความเป็นธรรมชาติที่มอบให้เรา อันนี้คือขั้นตอน ทีนี้ก้อนนั้นที่เราได้มาจะเอาไปทำอะไรต่อก็แล้วแต่ เอาไปทำไอศกรีม จะไปทำเครื่องดื่ม จะไปทำช็อกโกแลต คือจะเบสจากก้อนโกโก้ 

“สารอาหารในก้อนนั้นจะไปกระทบกับสารเคมีในสมองด้วย ที่เราจะเคยได้ยินว่า กินแล้วอารมณ์ดี ผ่อนคลาย มันเป็นพื้นฐานเลยว่า มันช่วยไปหลั่งโดพามีน พวกสารแห่งความสุข ทำให้มันอยู่ในส่วนของการฮีลใจ ทำคู่กัน พอดื่มแล้วเราคิดดี เรามีเจตนา มีเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งเราอยู่กับปัจจุบัน เช่น ตื่นเช้ามาดื่มโกโก้ ตั้งว่า ‘วันนี้จะตั้งใจออกไปให้พลังงานที่ดีกับทุกคน!!’ มันก็เป็นการดื่มโกโก้คู่กับการฝึกปฏิบัติทางด้านจิตใจ หรือแม้กระทั่งการทำสมาธิ การฝึกโยคะ มันก็เป็นการทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจ อยู่กับความรู้สึก เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ กับการเคลื่อนไหว หรือการทำโกโก้กับการทำเสียงบำบัด คลื่นเสียงบำบัด หรือ sound healing (เสียงบำบัด) มันก็เอามาเชื่อมโยงกัน เพราะสารในโกโก้ที่พูดไปมันช่วย

“นอกจากมีความสุขผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยให้โฟกัส ช่วยให้จดจ่อ ทางเราก็เลยมีการใช้ประโยชน์จาก effect ของโกโก้ แล้วหากิจกรรมเข้ามาทำร่วมกันให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ดื่มโกโก้เฉย ๆ มันจะได้แค่เรื่องสุขภาพ ถ้ากินประจำ แต่ถ้าเป็นเรื่องการทำงานกับจิตใจ เรามองว่ากิจกรรมต่าง ๆ พวกนี้สามารถเอามาร่วมกันได้หมดเลย จัดดอกไม้ หรืออะไรก็ได้ เรามองว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจเรา”

โกโก้

โกโก้ คือตัวเปิด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ร่างกายเปิดรับสิ่งต่าง ๆ

“เวลาหาข้อมูลจะเจอว่า คาเคาคือ heart medicine มันช่วยไปเปิดใจเรา มันทำให้รู้สึกอย่างนั้น เพราะช่วยในการสูบฉีดเลือด เวลากินเข้าไปแล้วมัน activate กับร่างกาย มันจะรู้สึกเลยว่า ใจเราเปิด พอเรารู้สึกผ่อนคลาย กล่องความรู้สึกข้างในใจจะถูกเปิด ทางเราเลยจะมีกิจกรรมให้ล้อมวงกัน ระบายสิ่งที่อยู่ในใจแต่ไม่ได้แสดงออก ชวนมาร้องเพลง ปลดปล่อยทั้งอารมณ์ดีและไม่ดี ภายในวงนี้จะปลอดภัย สามารถร้องไห้ได้โดยไม่ต้องอายใคร”

และสำหรับคนที่ถามว่าในโกโก้มีคาเฟอีนมั้ย จะดีรึเปล่าถ้าดื่มทุกวัน คุณเท้มตอบว่า “มีแต่น้อยมาก ประมาณ 0.03% ไม่ได้มีผลต่อใจสั่น จริง ๆ แล้วใจที่รู้สึกว่าเต้น มันมาจากตัวแมกนีเซียมที่มันเข้าไปสูบฉีดกระตุ้น แต่ว่ามันจะมีข้อที่น่าสนใจ คือโกโก้มันจะเข้าไปทำงานในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับบางคนต้องคอยดูดี ๆ เช่น เรื่องไมเกรน คุณหมอแนะนำให้กินไปลดไมเกรน แต่บางครั้งกินเข้าไปก็ไปกระตุ้นก็มี ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป”

ปรุงโกโก้นั้นสนุก อร่อย และดี 

“อย่างในงานบ้านและสวน ผมจะมีการเตรียมโกโก้ไว้สองรสชาติที่ต่างกัน จะให้ชิมก่อน โกโก้จะเป็นแบบ 100% เพราะเราไม่สนับสนุนให้กินน้ำตาลเยอะ นอกจากก้อนโกโก้ก็จะมีนม มีดอกเกลือ แล้วก็จะพูดถึงการสนับสนุนชุมชน เช่น ดอกเกลือจากสมุทรสงคราม อบเชย หรือตัวให้ความหวานก็อาจจะเป็นอินทผลัม หรือน้ำผึ้ง คนจะได้ไม่ต้องกลับไปซื้อน้ำตาลทรายฟอก หรือบางคนไม่ชอบน้ำตาลก็ใช้หญ้าหวานได้ หรืออะไรก็ได้ที่ตัวเองรู้สึกสบายใจ 

“มองไว้ว่า จะแบ่งเป็นสองหม้อ เป็นนม(พืช) กับเป็นน้ำ เพราะบางทีคนก็ชงกับน้ำง่าย ๆ เพราะไม่ชอบนม หรือบางทีนมมันแน่นเกิน จะได้เป็นทางเลือกที่ชัดเจน การปรุงจะสาธิตสองสามแบบเลยคืออุปกรณ์ จะเป็นไม้พิเศษที่เป็นอุปกรณ์ดั้งเดิมของแมกซิโก หรือพวกอุปกรณ์แบบที่หาได้ตามบ้าน ตามออนไลน์ บางทีใช้ช้อน แรงคนมันไม่พอที่จะคน เพราะพอมันเป็นก้อนแล้วมวลมันหนากว่า เลยเอาพวกนี้มาใช้ทุ่นแรงเรา อาจจะเสิร์ฟสองหม้อพร้อม ๆ กัน ให้ลองชิม และอาจจะมีเครื่องปรุงนิดหน่อยให้เผื่อคนอยากเติม เช่น ไซรัปอินทผลัม พริกคาเยน อันนี้จะเป็นส่วนผสมแบบมายัน พริกไทยดำก็ใส่ได้ อบเชยจะเป็นแบบ triple cinnamon เป็นสามสายพันธุ์ผสมกัน กลิ่นก็จะฟุ้งกว่า แล้วก็จะมีพวกดอกไม้โรยหน้าให้ด้วย

“ให้คนได้ลองมีส่วนร่วมในแก้วของตัวเอง ให้ลองเทสรสชาติเอง บางคนจะรู้สึกว่าชงกับน้ำแล้วกินยาก แต่บางคนอาจจะชอบแบบน้ำ เพราะกินแล้วสบายดี โดยช่วงนี้ก็จะทำไปคุยไปได้เลย พวกของที่เตรียมไว้ให้ เช่น เกลือ จะเป็นแค่ทางเลือกไม่ได้จำเป็น วันนั้นอาจจะเตรียมชาสมุนไพรที่เบลนด์ดอกไม้แบบต่าง ๆ ให้เหมือนเราปรุงยาเลย ว่าชอบกลิ่นของเครื่องเทศอะไร พร้อมพูดคุยแนะนำหน้างานได้เลย”

ทำไมโกโก้ถึงเป็นเครื่องดื่มที่ถูกนำมาอยู่ในพิธีกรรม

“ล่าสุดเท่าที่นักโบราณคดีไปพบหม้อโกโก้ที่เอกวาดอร์ พบอายุโกโก้ที่มันแห้งเหลืออยู่ในนั้น 5000 ปีแล้ว ในข้อมูลเขาดื่มกินกันเป็นยา เรียกว่าโกโก้คือ medicine เลย ใน ceremony หรือ spiritual part เป็น heart medicine หรือยาของหัวใจ ซึ่งมันน่าสนใจเพราะในยุคก่อนมันไม่มีหมอมาบอกหรอกว่าในโกโก้มันมีสารอะไรแต่เขาเรียนรู้ เขารู้สึกว่าโกโก้เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะว่ากินเข้าไปแล้วเขาหายป่วยจากหลาย ๆ โรค เขาจึงเรียกโกโก้ว่าเป็นยาครอบจักรวาล 

“ต้นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้ เอกวาดอร์ เปรู ข้อมูลส่วนใหญ่จะพูดถึงว่ามาจากชนเผ่ามายันกับแอซเท็ก ต้องลองไปค้นหาดูถึงจะรู้ เพราะช่วงของอเมริกาใต้เขาไม่มีการจดบันทึก ไม่มีภาษาเขียน ก็เลยไม่มีข้อมูลตอนนั้นเลย มีแต่ของโบราณที่เจอหม้อ เจอวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่ว่ามายันกับแอซเท็กเป็น civilization ที่ยิ่งใหญ่มากในยุคนึง แล้วก็มีการจดบันทึก และภาพเขียนบันทึก แล้วเหมือนเขายกระดับมันขึ้นมา เพราะก่อนหน้านั้นคนในชุมชนดื่มกินกันเป็นปกติ เหมือนปาร์ตี้ ดื่มโกโก้เพื่อเฉลิมฉลอง เพราะพออยู่ร่วมกับธรรมชาติก็จะมีพิธีกรรมที่เคารพต่อผืนป่า น้ำ ธรรมชาติ หรืออยู่ในหลาย ๆ การเฉลิมฉลอง แต่พอมาอยู่ในช่วงมายันกับแอซเท็ก ที่นั่นเขาไม่ปลูกโกโก้กัน มันเป็นอเมริกากลาง มันปลูกไม่ได้ มันเป็นพืชของทางใต้ ยุคนั้นเขามีโกโก้อย่างจำกัด แล้วพอเขาเป็นอณาจักรที่ใหญ่ที่สุด อาณาจักรที่เหลือก็จะเป็นเหมือนทาสบริวาร ที่นี้ทางอเมริกาใต้เป็นชาวอินคา เขาก็เลยต้องเอาเมล็ดโกโก้มาเป็นเครื่องราชบรรณาการให้กับชาวมายันกับแอซเท็ก ดังนั้นในอาณาจักรใหญ่นั้น โกโก้ก็เลยจะไม่ได้ถูกใช้กับคนทั่วไป สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ในงานแต่งงาน งานวันเกิด เขาก็จะใช้โกโก้ในการเฉลิมฉลอง และจะใช้เมล็ดโกโก้เป็นเงิน ใช้แทนเครื่องแลกเปลี่ยน มันก็เลยดูเหมือนเป็นพิธีกรรมจริงจัง เชื่อมต่อกับเทพเจ้า เพราะคำว่า Theobroma cacao เป็นคำที่มาจากคำว่า ‘food of god’ เพราะความพิเศษของพืชนี้ทำให้คนในยุคนั้นเชื่อว่า พอกินเข้าไปแล้วมันจะทำให้เขาเกิดการตื่นรู้ทางจิตวิญญาน พอพูดถึงเรื่องนั้น เขาก็เลยรู้สึกว่าพืชนี้พิเศษมาก พระเจ้าเป็นคนประทานให้ สีของโกโก้มันเป็นสีที่พิเศษมาก มันเป็นสีที่ออกแดงเข้ม เหมือนสีของเลือดเนื้อของเรา เขาก็จะมีความเชื่อแบบนี้ ว่าเทพพระเจ้าส่งพืชชนิดนี้มาให้พวกเรา พิธีนี้ก็เลยถูกทำขึ้นเหมือนเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าของเขา ซึ่งก็คือธรรมชาติ ก็คล้ายกับปลูกจิตสำนึกให้เรารักโลกนั่นแหละ ให้ดูแลต้นน้ำ เคารพต่อผืนดินศักดิ์สิทธิ์ เพราะเขาต้องใช้พื้นดินเพาะปลูก โกโก้มันเลยเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการกตัญญู จิตสำนึก เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ตัวเองและคนรอบ ๆ ปัจจุบันในพิธีการเลยมีการทำกิจกรรมอื่น ๆ คล้าย ๆ self reflection การเชื่อมโยงกับจิตใจ ความรู้สึกของตัวเองทั้งบวกและลบด้วย 

แนวทางฮีลลิ่งตัวเอง

ก่อนจากกัน คุณเท้มกล่าวทิ้งท้ายว่า “นอกจากดื่มแล้ว เราสามารถจะทำกิจกรรมเรื่องของการทำสมาธิ หรือความคิดสร้างสรรค์ เช่น นั่งอ่านหนังสือใต้ต้นไม้ มันก็จะเป็นการเชื่อมต่อและผ่อนคลายจากธรรมชาติ ได้อยู่กับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน และรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สำหรับผม โกโก้มันทำให้สงบได้เร็วขึ้น มีสมาธิ และเข้าสู่ meditation state ได้ง่ายขึ้นครับ”

Cacao DIY at Home ปรุงรสที่ใช่ ฮีลลิ่งไลฟ์คนดื่ม

ดื่มโกโก้ (Cocoa) อย่างไรให้ดีสุขภาพ? นิตยสารชีวจิต x Amarin Academy ชวนเหล่า Cocoa Lover เรียนรู้วัฒนธรรมโบราณ และศาสตร์การบำบัดฟื้นฟูด้วยโกโก้ ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ เอกลักษณ์ของโกโก้ แต่ละแหล่ง ลงลึกถึงประโยชน์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดย คุณเท้ม – จิรัฎฐ์ วิจิตรายศภักดิ์ เจ้าของร้าน Kokomary พร้อมด้วยคุณเก๋ – วาสนา พลายเล็ก บรรณาธิการบริหาร นิตยสารชีวจิต

พร้อมสร้างประสบการณ์การดื่ม และค้นหารสชาติที่ใช่ กับ Workshop ปรุงรสชาติโกโก้ในแบบเฉพาะคุณ!!!

ลงทะเบียนล่วงหน้า >> https://amarinfair.com/event/bs-midyear-2024/activity/435/

ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

รับจำนวนจำกัด เพียง 15 ท่าน เท่านั้น

แล้วพบกันที่งานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2024
วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2024
เวลา 14.00 – 15.00 น.
ณ เวที กินดีอยู่ดี Hall 104 (Relax zone) ไบเทค บางนา

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

7 อโรมาเทอราปี กลิ่นบำบัด ผ่อนคลายสมอง ลดซึมเศร้า

รู้หรือไม่? แค่สูดดม กลิ่นช่วยลดเครียด สู้กับมะเร็งได้

ลดกลิ่นตัว ด้วย 5 สมุนไพรไทย

เมื่อเราลองใช้ เสียงเพลงบำบัด กายสบาย ใจสงบ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.