นายแพทย์

กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ นายแพทย์ ชนเผ่าม้ง นักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้

ความแตกต่างของชาติพันธุ์ ความยากจน สายเลือดความเป็นผู้นำ ผลักดันให้เขาสู้เพื่อเป็นต้นแบบของชนเผ่า เป้าหมายของเขาคือการศึกษาของชนชาวเขา วันนี้ กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ คือม้งคนแรกที่ใช้คำว่า “ นายแพทย์ ” นำหน้าชื่อ เขาคือแบบอย่างของคนซึ่งไม่เคยลืมชาติกำเนิดของตัวเอง และพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อแก้ปัญหาของชาวเขาจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

หมู่บ้านเล่าลือบนเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หล่อหลอมชีวิตผมด้วยวัฒนธรรมของชุมชนม้งตั้งแต่ปี 2510

ภาระของลูกคนโตถูกกำหนดมาพร้อมกับความหวังของพ่อแม่ที่เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ หน้าที่หลักของผมคือแบกข้าวโพด ปลูกขิง ปลูกผัก และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว

บังเอิญผมเกิดในยุคที่คอมมิวนิสต์เฟื่องฟู จึงมีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียนทหารของหมู่บ้าน และโชคดีที่ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากพลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ (อดีตแม่ทัพภาคที่ 3) ให้มีโอกาสเรียนจนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน

ขณะเป็นนักเรียน ด้วยความที่เป็นชาวเขา ผมจึงถูกเพื่อนบางคนแกล้ง ถูกเขกหัว เตะก้นบ่อยๆ

เมื่อจบชั้นมัธยมปลายในปี 2528 ผมสอบเอนทรานซ์เข้าคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้

จุดมุ่งหมายเดียวของผมคือกลับไปช่วยชาวเขา ผมคิดว่าวิชาชีพสาธารณสุขน่าจะทำประโยชน์แก่ชุมชนได้มากที่สุด เพราะชาวเขาเป็นชุมชนที่ขาดความรู้ และยังเชื่อกันว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องของไสยศาสตร์

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมไม่มีความกดดันและไม่เคยคิดที่จะปิดบังเรื่องของเชื้อชาติ ไม่เคยอายที่เป็นม้ง

ความกดดันมีเฉพาะเรื่องเรียน เพราะต้องเรียนให้จบโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าเล่าเรียนของน้องๆ นับว่าโชคดีที่ผมได้ทุนของ ”คุณอุดม กาญจนโหติ ศิษย์เก่านักเรียนพยาบาลศิริราช จึงได้เรียนจนจบ ผมต้องอดทนและอดออมเพราะไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศเนื่องจากต้องอยู่เวรดูคนไข้และทำรายงานเยอะมาก

ในที่สุดผมก็เป็นคนแรกของหมู่บ้านที่เรียนสำเร็จปริญญาตรี

จากนั้นได้รับราชการเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่ 2 ปี แต่ปัญหาทางการเงินเริ่มรุมเร้า เงินเดือน 3,000 บาทไม่พอที่จะส่งเสียน้องๆ 10 คนเรียนหนังสือได้ ผมจึงลาออกจากราชการมาค้าขาย ทำการเกษตรบ้าง ทำงานเอ็นจีโอให้องค์กรเอกชนบ้าง ชุมชนบ้าง พร้อมทั้งเปิดคลินิกเล็กๆ ช่วยเหลือชนเผ่าม้งที่เขาค้อ

ตอนหลังผมเริ่มเล็งเห็นว่าสายงานของพยาบาลไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มากเท่าที่ใจต้องการ ผมถามตัวเองว่า คนที่บ้านป่วย ทำไมเราช่วยไม่ได้ ทำไมต้องให้หมอคนอื่นมาช่วย ถ้ารักษาเองได้ ปัญหาก็จบ

เกือบสิบปีที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ในใจว่า หนึ่ง ต้องหาเงินส่งน้องๆ เรียนให้ได้ และสอง ต้องเรียนหมอให้ได้ ผมนั่งผิงไฟอ่านหนังสือท่ามกลางความหนาวเย็นจับขั้วหัวใจจนฟืนหมดไปหลายกอง

 

กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ
กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ นายแพทย์ผู้เป็นต้นแบบและอุทิศตนเพื่อชาวเขา

 

เมื่อน้องๆ เริ่มเรียนจบ ผมตัดสินใจเอนทรานซ์เข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทันที แม้ว่าอายุตอนนั้น 30 แล้ว ผมสอบเอนท์พร้อมกับเด็กที่จบมัธยมปลายถึงสองครั้ง แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

ผมไม่ท้อ พอปี 2542 ผมตัดสินใจสอบเข้าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปรากฏว่าผ่านข้อเขียนแต่ไม่ผ่านสัมภาษณ์ ผมก็ยังไม่ยอมแพ้ สอบอีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2544 ครั้งนี้ผมพยายามและตั้งใจมาก หากในใจก็ยังเตรียมรับกับความผิดหวังไว้

ผมบอกกับตัวเองว่า สอบ 10 ครั้งก็น่าจะสำเร็จสักครั้ง หากไม่ได้จริงๆ ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว

ในที่สุดหลังจากที่ได้พยายามสอบถึง 4 ครั้ง ผมก็ทำสำเร็จ

การกลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้งในวัย 34 ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผม เพราะผมเอาความขยันเข้าสู้ ปัญหาใหญ่อยู่ที่ค่าเล่าเรียน เพราะอย่างที่รู้กันว่ามหาวิทยาลัยเอกชนค่าเรียนแต่ละเทอมเกือบครึ่งแสน

แม้ผมจะมีเงินเก็บจากการทำงานที่ผ่านมาบ้าง แต่ก็ยังลำบากอยู่มาก ผมใช้ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาลไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขที่เคยศึกษาระดับปริญญาตรีมาแล้ว ญาติพี่น้องชาวม้งซึ่งลี้ภัยไปต่างประเทศสมัยสงครามอินโดจีนช่วยลงขันค่าเล่าเรียนให้ เพราะเห็นถึงความตั้งใจของเรา

หลังจากผ่านไปได้หนึ่งเทอม ผมเห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอาจเรียนไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงพ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น

ผมคิดว่าผมตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสังคม ถึงจะเป็นชนเผ่าม้ง แต่ผมถือบัตรประชาชนสัญชาติไทย ดังนั้นรัฐบาลน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

ผลคือ ท่านนายกฯส่งหนังสือไปยังทบวงมหาวิทยาลัยทางทบวงจึงส่งจดหมายกลับมาให้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตพิจารณา

หลังจากนั้นในปีที่ 2 เทอม 1 ผมจึงได้รับทุนการศึกษาจากท่านอธิการบดี ผมทำสัญญาว่าจะกลับไปรับใช้ท้องถิ่น ทำงานช่วยเหลือชาวเขา และช่วยเหลือสังคมจนสุดความสามารถ

ชีวิตนักเรียนแพทย์ 6 ปีเป็นชีวิตที่โหดมากๆ แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน การเรียนแพทย์ถ้าจะเรียนให้ได้ดีจะต้องมีเวลา แต่เวลาของผมใช้ไปในการทำงานหารายได้พิเศษ แม้จะได้ทุนแล้วแต่ผมยังต้องทำงานอยู่

ผมเคยทำงานด้วยเรียนด้วยติดต่อกัน 36 ชั่วโมง โดยไม่พัก ต้องอดตาหลับขับตานอนดูผู้ป่วยทั้งคืน เพราะสำนึกว่าเราเป็นด่านแรกที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วย ผมบอกกับตัวเองว่าไม่จบไม่ได้ เพราะหันหลังกลับไปยังมีอีกหลายชีวิตรอเราอยู่ ผมไม่เคยกลัวว่าจะเรียนไม่จบ เพราะเชื่อในความมุ่งมั่นและความพยายามของตัวเอง หนังสือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในห้องสมุดวิทยาลัย แพทย์ มีชื่อผมเป็นผู้ยืม เพราะผมไม่มีทุนพอที่จะซื้อหนังสือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการค้นคว้าหาข้อมูลเหมือนคนอื่นๆ

สิ่งที่ผมกังวลที่สุดคือการสอบใบประกอบวิชาชีพ แต่ผมก็สอบผ่านทั้งสามครั้ง

ปี 2549 ผมสำเร็จการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.00

เมษายน 2550 ผมได้เป็นนาย แพทย์ กันตพงศ์เล่าลือพงศ์ศิริ นายแพทย์ 4 กลุ่มภารกิจวิชาการเวชศาสตร์สารเสพติด ศูนย์บำบัดยาเสพติด จังหวัดเชียงใหม่อย่างเต็มตัว ผมเลือกบรรจุที่เชียงใหม่ เพราะที่นี่คือศูนย์กลางของชาวเขา และปัญหายาเสพติดของชาวเขามีไม่น้อยกว่าสังคมเมือง

ชาวเขามักจะชวนกันมารักษากับผมที่ศูนย์ แม้จะไม่ใช่ปัญหายาเสพติด บางคนมาจากจังหวัดที่อยู่ห่างออกไปถึง 200 – 300 กิโลเมตร เพียงเพราะอยากถามผมว่าโรคที่เป็นอยู่จะหายไหม หรืออาการอย่างนั้นจะมีโอกาสรอดหรือไม่ คนไข้บางรายมี แพทย์ ดูแลให้คำปรึกษาอยู่แล้วแต่พวกเขาก็ยังต้องการความเห็นจากผม คงเพราะเป็นชาวเขาเหมือนกัน

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ทุนทรัพย์ หรืออายุที่ล่วงพ้นวัยวันนี้ความฝันของกันตพงศ์ ชาวเขาเผ่าม้งเป็นจริงในที่สุด เขาได้รับปริญญาตรีแพทยศาสตรบัณฑิตขณะอายุ 40 ปีพอดี

 

ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงประไพพรรณ ศุภจัตุรัส รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

กันตพงศ์เป็นนักศึกษาแพทย์ที่มุมานะ มีความตั้งใจที่จะกลับไปทำประโยชน์ให้ชาวเขาเผ่าม้ง ครูเห็นถึงความตั้งใจ ความมานะอดทน ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบของเขาเขาไม่เคยปกปิดว่าเป็นชาวม้ง แม้กระทั่งวันรับปริญญาซึ่งเป็นวันสำคัญและใครๆ สวมชุดสากลกัน แต่คนในครอบครัวเขาแต่งชุดประจำเผ่ามาร่วมงาน น่ารักมาก ครูรู้สึกประทับใจที่เขามีความรักในเผ่าพันธุ์ขนาดนี้

 

วิเชียร สว่างรุ่งเรืองกุล นักศึกษาชนเผ่าม้ง วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมประทับใจในความพยายามของพี่เขามาก ปกติคนอายุสามสิบกว่าไม่มีใครมาเรียนแล้ว แต่พี่เขาก็ยังพยายามมาเรียน เพราะตั้งใจจะเป็นหมอให้ได้

 

เรื่อง มุฑิตา รัตนมุสิทธิ์ ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.