พระธาตุ ต่าง ๆ เป็นของแท้ที่ควรแก่การบูชาหรือไม่
ถาม: อยากทราบว่า พระธาตุ ที่มีอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นพระธาตุของพระพุทธเจ้าจริง ๆ หรือเปล่าคะ แล้วควรแก่การสักการบูชาจริง ๆ หรือไม่ เพราะเคยอ่านหนังสือ “ธรรมะศักดิ์สิทธิ์” ของท่านที่บอกว่า ไม่ควรไปนับถือรูปเคารพสิ่งปลุกเสก หรือสิ่งที่อ้างว่าศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ แต่ควรเชื่อในพระธรรมคำสอนมากกว่า หรือว่าควรยกเว้นในกรณีพระธาตุคะ
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระอาจารย์ ณ ไร่เชิญตะวัน ศูนย์วิปัสสนาเชียงราย ได้ตอบปัญหานี้เรื่องนี้ไว้ว่า
ตอบ: พระธาตุที่เรานับถือบูชากันอยู่ในสังคมไทยนั้นมีสองประเภท กล่าวคือ ถ้าเป็นพระธาตุของพระพุทธเจ้า เราจะเรียกว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” ถ้าเป็นพระธาตุของพระอรหันต์ เราจะเรียกว่า “พระธาตุ”
ตามเจดีย์ในวัดสำคัญ ๆ ถ้าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ เจดีย์เหล่านั้นหรือพระธาตุเหล่านั้นจะเรียกว่า “มหาธาตุ” ส่วนวัดที่มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเรียกว่า “วัดมหาธาตุ” แต่ในสังคมไทยกร่อนคำลงมาเรียกรวม ๆ กันทั้งพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระอรหันต์ รวมทั้งพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญ ๆ ว่า “พระธาตุ” เหมือนกันหมด
พระธาตุที่เราเห็น หรือที่เราบูชากันอยู่ทุกวันนี้นั้น ผู้เขียนก็ไม่สามารถบอกได้เหมือนกันว่าเป็นของพระพุทธเจ้าทั้งหมดหรือไม่ เพราะมีมากมายเหลือเกิน เห็นใครบอกว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุก็เคารพไว้ก่อนดีกว่า ไม่ต้องมาเสียเวลาทุ่มเถียง หรือพิสูจน์กันว่าจริงหรือไม่จริง แต่เราวางท่าทีเอาไว้ว่า ถ้าคนเขาถือกันว่าเป็นพระธาตุ เราก็ยอมรับว่าเป็นพระธาตุ กราบไหว้บูชาสักการะไปด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ถึงแม้พระธาตุนั้นจะจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเราจริงใจในการบูชา ก็ถือว่าได้บุญจริงแท้แน่นอน
ที่ผู้เขียนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับพระธาตุมากมายนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อหรือไม่ให้บูชา แต่หมายความว่า อย่าไปยึดติดถือมั่นว่าจะช่วยเราได้เหมือนแก้วสารพัดนึก เราเพียงแต่บูชา แต่ไม่นำมาเป็นของวิเศษจนหลงลืมการบูชาที่แท้จริงไปเสีย
ก่อนดับขันธปรินิพพาน มีประชาชนมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับเครื่องสักการบูชามากมาย พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วจึงตรัสว่า การบูชาที่ดีที่สุดไม่ใช่ด้วยเครื่องสักการบูชาดอกไม้ของหอมสารพัดชนิด หากแต่เป็นการบูชาด้วย “สัมมาปฏิบัติ” คือ การปฏิบัติตนตามคำสอนของพระองค์มากกว่า ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ต้องจับประเด็นตรงนี้ให้ได้ มิเช่นนั้นเราจะเสียเวลากับการพิสูจน์พระธาตุ หมดเวลาไปกับการเถียงกันว่าจริงหรือไม่จริง บางคนก็หลงภูมิใจว่าตนครอบครองพระธาตุมากมาย แต่กลับไม่ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น ดังนั้นเราต้องวางท่าทีเสียใหม่ให้ถูกต้อง ในลักษณะพบกันบนทางสายกลาง คือ
(1) บูชาพระธาตุก็ได้ แต่ไม่ยึดติดถือมั่นว่าพระธาตุจริงหรือไม่จริง ควรถือเพียงว่า พระธาตุทั้งหลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเหล่านั้นเป็นยอดคนที่แม้กระทั่งจากไปแล้ว พระธาตุก็ยังมีค่าควรแก่การบูชา เราผู้ยังอยู่ควรจะเตือนตัวเองว่า ทำอย่างไรหนอเราจึงจะเป็นคนดีเช่นท่านเหล่านั้นได้บ้าง เมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปกระดูกของเราจะได้มีคุณค่าพอที่คนเขาจะบูชาได้บ้าง หากคิดเช่นนี้เราจะหันมาพัฒนาตนเองให้ชีวิตมีคุณค่าขึ้นมาโดยไม่ต้องเสียเวลาบูชาแต่พระธาตุของคนอื่น แต่จะกลายเป็นว่าเราบูชาคนอื่นด้วยการบูชาตัวเอง นี่น่าจะเป็นท่าทีที่ถูกต้อง
จำกวีนิพนธ์บทต่อไปนี้ได้ไหม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
“พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”
ลองถอดรหัสกวีนิพนธ์บทนี้ให้ดีแล้วจะพบว่า เราต้องรู้จักใช้ชีวิตให้มีคุณค่า มิเช่นนั้นแล้วเราจะสู้สิงสาราสัตว์ทั้งหลายไม่ได้เลย บูชาแต่กระดูกของคนอื่นมามากแล้ว บางทีมีข้อสงสัยว่าจริงหรือไม่จริง เพราะเราไม่รู้จักเจ้าของกระดูก แต่การบูชาตนเองด้วยการทำตนให้มีคุณค่านั้น ไม่ต้องมานั่งสงสัยอะไร แค่เราเป็นคนดีด้วยตัวเอง เราก็เห็นผลดีอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่ตายเสียด้วยซ้ำไป
(2) บูชาพระธรรม นับเป็นการบูชาที่ประเสริฐที่สุด เพราะในขณะที่เราไม่รู้ว่าองค์ไหนจริงหรือไม่จริง แต่พระธรรมนั้นจริงทุกข้อ ปฏิบัติตามได้อย่างมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งสงสัย
บูชาพระธรรมด้วยการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตและการทำงานจริง ๆ คือ การบูชาที่เห็นผลทันตาในชีวิตนี้ และพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าการบูชาทั้งปวง บูชาพระธรรมเมื่อไร พระธรรมจะแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นเมื่อนั้น ถ้าคุณเคยติดเหล้าแล้วเลิกเหล้า ถ้าคุณเคยติดบุหรี่แล้วเลิกบุหรี่ ถ้าคุณเคยติดกิ๊กแล้วเลิกมีกิ๊ก คุณจะรู้ด้วยตัวเองทันทีว่าพระธรรมมีปาฏิหาริย์เพียงไร
ที่มา นิตยสาร Secret
บทความที่น่าสนใจ
พระธาตุไร้เงาแห่งเมืองคอน จ.นครศรีธรรมราช