ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักเสี่ยงเกิดภาวะ ไขมันพอกตับ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะตับอักเสบได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. ศิวะพร ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ไขมันพอกตับ คือ ภาวะที่มีไขมันโดยเฉพาะไตรกรีเซอไรด์ (triglyceride) อยู่ในเซลล์ตับ พบในบุคคลที่ดื่มสุรา บุคคลที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี นอกจากนี้ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะไขมันพอกตับสูง คือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการ มีเพียงบางรายที่มีอาจปวดแน่นชายโครงข้างขวา
เรามีงานวิจัยและวิธีป้องกันภาวะไขมันพอกตับมาแนะนำ
เมื่อสงสัยว่า เครื่องดื่มรสหวานมีผลต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) และโรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเก็บข้อมูลของผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับประมาณ 5908 คน เพื่อศึกษาความถี่ในการดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมผสมน้ำตาลเทียม
จากการสังเกต สามารถแบ่งผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มรสหวานน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 แก้ว ถึงเดือนละ 1 แก้ว กลุ่มที่ดื่มน้อยกว่าวันละ 1 แก้ว ถึงสัปดาห์ละ 1 แก้ว และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ที่ดื่มมากกว่าวันละ 1 แก้ว
ผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of hepatology ซึ่งรายงานว่า ความถี่ในการดื่มเครื่องดื่มรสหวานมีความสัมพันธ์กับระดับแอลละนิน ทรานอะมิเนส (Alanine Transaminase)ในเลือดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่าตับมีการอักเสบหรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีภาวะไขมันสะสมในตับ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า อาหารที่มีน้ำตาลต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ มีผลต่อการลดไขมันร้ายเช่น ไตรกลีเซอร์ไรด์ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่สะสมในตับ และเพิ่มระดับไขมันดีเอชดีแอลซึ่งช่วยนำไขมันร้ายในเลือดไปกำจัดที่ตับอีกด้วย
Diet Tips
การลดปริมาณน้ำตาลในอาหารจึงเท่ากับช่วยลดการอักเสบ ลดการสร้างไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และลดการสะสมไขมันในตับได้
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินน้ำตาลเติมไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน และจะยิ่งดีต่อสุขภาพหากกินน้ำตาลน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน
ฉะนั้น หากกินอาหารประจำวันให้ได้รับพลังงานตามคำแนะนำของ ธงโภชนาการ (เผยแพร่โดย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข) ใน 1 วัน แต่ละช่วงอายุควรกินน้ำตาลเติมไม่เกินปริมาณที่กำหนด (คิดจากปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา หนัก 5 กรัม) ดังนี้
เด็กอายุ 6 – 13 ปี หญิงวัยทำงานอายุ 25 – 60 ปี ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรกินน้ำตาลเติมไม่เกิน 4 – 8 ช้อนชา (ความต้องการพลังงานต่อวัน 1,600 กิโลแคลอรี)
วัยรุ่นหญิง – ชาย อายุ 14 – 25 ปี ชายวัยทำงานอายุ 25 – 60 ปี ควรกินน้ำตาลเติมไม่เกิน 5 – 10 ช้อนชา (ความต้องการพลังงานต่อวัน 2,000 กิโลแคลอรี)
หญิง – ชาย ที่ใช้พลังงานมากๆ เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา ควรกินน้ำตาลเติมไม่เกิน 6 – 12 ช้อนชา (ความต้องการพลังงานต่อวัน 2,400 กิโลแคลอรี)
เพราะน้ำตาลให้แต่พลังงานส่วนเกิน ไม่มีสารอาหาร แถมเมื่อเข้าสู่ร่ายกายยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรค ยิ่งกินน้อย จึงยิ่งดีต่อร่างกาย
กินปลาสิจ๊ะ ช่วยลด ไขมันพอกตับ
1. กินไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการพลังงานใน 1 วัน ทำได้โดยหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน นมไขมันเต็ม เนย มาการีน เลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลา และเลือกน้ำมันที่อุดมด้วยไขมันดี มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันอะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันเมล็ดทานตะวัน แทนน้ำมันปาล์ม
2. จำกัดคอเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม โดยหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน เครื่องในสัตว์ ไข่แดงเพิ่มการกินผัก ถั่ว งา อาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ เพราะในพืชไม่มีคอเลสเตอรอล
3. กินอาหารไขมันต่ำ มีไขมันไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการพลังงานใน 1 วัน เน้นอาหารประเภทต้ม อบ
ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันแฝง เช่น คุกกี้ เบเกอรี่ ขนมกรุบกรอบ
4. กินอาหารที่มีใยอาหารละลายน้ำสูง (Soluble Fiber) วันละ 10 – 25 กรัม เพื่อช่วยลดระดับไขมันในเลือด โดยเฉพาะไขมันร้ายชนิดแอลดีแอล นอกจากนี้ควรออกกำลังกายเป็นประจำและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อประสิทธิภาพในการลดไขมันทั้งในตับและในเลือด
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 423
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เช็กหน่อย! ง่วงนอนบ่อย ง่วงตลอดเวลา เสี่ยงป่วยหลายโรค
นอนไม่หลับแบบไหน ควรพบจิตแพทย์
แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ
ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา
ติดตามชีวจิตได้ที่
https://www.instagram.com/cheewajitmedia/