รู้ทัน โรคความดันโลหิตสูง

รู้ทัน โรคความดันโลหิตสูง

ทำไมผู้คนจึงตั้งสมญานามให้ โรคความดันโลหิตสูง ว่า “ฆาตกรเงียบ” คุณทราบหรือไม่ว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง

เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่มีการทำลายแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการ หรือเมื่อรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง ส่วนมากจะปล่อยปละละเลยไม่สนใจดูแล

แบบไหนที่เรียกว่าความดันโลหิตสูง

ค่าความดันโลหิตสูงที่เหมาะสมของคนปกติไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท หากคุณตรวจวัดระดับความดันโลหิตได้ค่าออกมามากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และการที่ปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต เป็นต้น

อายุ…เรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ (หรือว่าคุณควบคุมได้)       

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พีระ บูรณะกิจเจริญ หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า

“เราสามารถพบภาวะความดันโลหิตสูงได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากว่าหลอดเลือดแดงมักเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุรวมกับมีไขมันและหินปูน (แคลเซียม) เข้าไปสะสมอยู่ตามผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นและแข็งตัว ยิ่งมีไขมันและหินปูนสะสมมาก ก็ยิ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดันเลือดให้ไหลไปตามหลอดเลือดจึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา”

นอกจากนี้ จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยประชาชนไทยของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ที่มีอายุ 13 – 60 ปีมีอุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูงร้อยละ 13 ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงมากถึงร้อยละ 33

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อัตราผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ความเครียดและโรคนอนไม่หลับ

“เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความเครียด ไม่สบายใจ โกรธหงุดหงิด หรือกังวลจะทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินที่ผลิตจากต่อมหมวกไตฮอร์โมนนี้กับสารอื่นๆ ที่ร่างกายหลั่งออกมาจะทำให้เส้นเลือดหดตัว จึงเป็นการเร่งการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตด้วย แล้วถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ นานวันเข้าก็เกิดความดันโลหิตสูงได้”

โรคความดันโลหิตสูง

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นโรคไต สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงได้เพราะไตมีหน้าที่กำจัดของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย เมื่อไตเสียคุณสมบัตินี้ไปจะส่งผลให้เกิดการคั่งของของเหลวต่างๆ ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งก็ทำให้ไตได้รับอันตรายจากความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้มีการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า คนเป็นโรคเกาต์มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าคนไม่เป็นโรคนี้ เพราะกรดยูริกส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูง”

รวมถึงโรคอื่นๆ ที่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง แม้จะพบผู้ป่วยจำนวนน้อยแต่ก็มีความสำคัญเพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตบางชนิดซึ่งพบว่ามีอาการความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แต่เมื่อผ่าตัดเนื้องอกออกแล้ว ความดันโลหิตจะกลับเป็นปกติ
  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องตีบ โรคนี้อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือมาเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งทำให้มีอาการความดันโลหิตสูง แต่เมื่อผ่าตัดหลอดเลือดส่วนที่ตีบออก และต่อด้วยหลอดเลือดเทียมหรือใช้บอลลูนถ่างหลอดเลือด จะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้

“การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษที่รักษาได้สารพัดโรค รวมทั้งความดันโลหิตสูงเพราะทั้งช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หัวใจแข็งแรง เพิ่มความยืดหยุ่นให้หลอดเลือด และผ่อนคลายความเครียด ซึ่งจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตลดลงได้”

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ชีวิตติดเค็ม

“เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณมากจากอาหารเค็มๆ ติดต่อกันนานจะส่งผลให้ปริมาณโซเดียมในเลือดมากขึ้นพร้อมๆ กันนั้นก็มีผลให้แรงดันของเหลวสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องการปรับสมดุลและทำให้เจือจางลงโดยการดันน้ำออกจากเซลล์ทำให้ปริมาณน้ำเลือดมีมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีน้ำเลือดมากขึ้นก็ต้องใช้แรงดันเลือดเพิ่มมากขึ้น นี่เองเป็นเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นยิ่งกินเค็มมาก ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย”

โรคความดันโลหิตสูง

ดื่มกาแฟสดทำความดันสูง

“ฤทธิ์ของกาเฟอีนในกาแฟทำให้ความดันโลหิตของคนเราสูงขึ้นได้ชั่วคราว มีข้อมูลการศึกษาเรื่องนี้ว่า การดื่มกาแฟ 1 แก้วทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 มิลลิเมตรปรอท ผลดังกล่าวเกิดขึ้นเต็มที่ 30 – 60 นาทีหลังดื่มกาแฟ และจะหายไปภายใน 2 ชั่วโมงต่อมา”

ข้อแนะนำ การหยุดดื่มกาเฟอีนทันทีอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาอีกหลายวัน เช่น ปวดศีรษะอ่อนเพลียและหงุดหงิดง่าย วิธีลดการดื่มกาแฟง่ายๆ ดังนี้

เริ่มจากลดปริมาณการดื่มกาแฟลงเหลือวันละครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ดื่มเป็นประจำ หลังจากนั้นเปลี่ยนการดื่มกาแฟเป็นชาเขียวหรือชาสมุนไพรต่างๆแทน และสุดท้าย ควรออกกำลังกายทุกเช้าเพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เช่น

– พันธุกรรม มีข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 30 – 60 อาจเกิดจากพันธุกรรมดังนั้นผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่า

– เชื้อชาติ พบว่าคนผิวสีมีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้มากที่สุด

– เพศ พบว่าเพศชายมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าเพศหญิงยกเว้นผู้หญิงที่มีอายุเกิน 50 ปีและเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งจะพบอัตราการเกิดความดันโลหิตสูงพอๆ กับเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ลดลงมีผลต่อความดันโลหิตสูง

– ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดยาแก้ปวดข้อ และยาแก้หวัดบางชนิดซึ่งมีสารบางอย่างที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เมื่องดใช้ยาดังกล่าวแล้วความดันจะกลับเป็นปกติ ยกเว้นผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงถาวรได้

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

6 ข้อหลีกหนีภัยความดันโลหิตสูง

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับปรุงนิสัยหรือความเคยชินในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้

  1. รู้ค่าความดันโลหิตของตัวเอง การวัดความดันโลหิตเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ทราบว่าความดันของเราอยู่ในระดับปกติหรือไม่ควรวัดความดันโลหิตอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ (ถ้าอายุมากกว่า 40 ปี และไม่มีปัจจัยเสี่ยง ให้วัดความดันโลหิตปีละหนึ่งครั้ง)
  2. ปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อช่วยลดความดันโลหิต และยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ
  3. ลดการกินเกลือ ควรจำกัดปริมาณเกลือที่กินในแต่ละวันไม่ให้เกิน 6 กรัม (หรือเทียบเท่า 1 ช้อนชา) ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 2 – 8 มิลลิเมตรปรอท
  4. หลีกเลี่ยงความเครียด หากเป็นไปได้ พยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เครียดทั้งที่ทำงานและที่บ้าน หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหลีกเลี่ยงได้ พยายามตอบสนองต่อสภาพที่เครียดอย่างมีสติและนุ่มนวล
  5. หยุดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง
  6. หมั่นออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความดันโลหิตได้เช่น การวิ่ง เดินเร็วว่ายน้ำ หรือรำกระบอง เป็นต้น

โรคความดันโลหิตสูง

อาหารเสี่ยงความดันสูง

อาหารที่มีรสเค็ม เช่น เกลือ น้ำปลา กะปิ เต้าหู้ยี้ และซอสต่างๆ รวมถึงอาหารแห้ง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีเกลือโซเดียมเป็นส่วนประกอบ

อาหารบางอย่างที่ไม่มีรสเค็มแต่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เช่น อาหารใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) และสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 262 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.