นอนไม่หลับ กัญชา

นอนไม่หลับ กัญชา ช่วยได้ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

นอนไม่หลับ กัญชา ช่วยได้ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

เมื่อไม่นานมานี้ถ้าใครได้ติดตามข่าว คงต้องร้องอ๋อ  เครียดเรื่องงาน นอนไม่หลับ ต้องใช้กัญชา ถึงจะสามารถช่วยให้หลับได้ดีขึ้น ความจริงนี้จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อธิบายว่าอย่างไร ชีวจิตมีคำตอบจากสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยค่ะ

การใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานี้เอง สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์จุดยืน “การใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ” โดยมีความเห็นว่า

ยังไม่มีการรับรองว่าสามารถใช้ในการรักษาปัญหานอนไม่หลับได้ และยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานอย่างเพียงพอ ที่สำคัญกัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้ ดังนั้น การใช้กัญชาเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลด้านลบมากกว่าผลด้านบวก

โดยมีแถลงการณ์และจุดยืน (Position Statement) ของสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย เรื่อง “การใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ” ดังต่อไปนี้

1.คุณสมบัติของ กัญชา ต่อปัญหาการ นอนไม่หลับ

สารสกัดกัญชาที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มี 2 ชนิด คือ สาร delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) และสาร cannabidiol (CBD) โดย THC เมื่อเข้าสู่สมองจะจับกับ cannabinoid receptor (CB) ทั้งชนิด CB1 และ CB2 ส่งผลให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ซึ่งเป็นฤทธิ์อันพึงประสงค์ในหมู่ผู้เสพกัญชา สาร THC นอกจากทำให้เกิดความผ่อนคล้าย ยังส่งผลทำให้การรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเสียไป เกิดอาการประสาทหลอน หรืออากรหลงผิดได้ ส่วนสาร CBD มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่า ออกฤทธิ์จับ cannabinoid receptor ชนิด CB2 มากกว่า ซึ่ง CB2 พบมากในระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) และที่ปลายประสาท (peripheral nerve) ทำหน้าที่ antinociception ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้นกัน และปฏิกิริยาการอักเสบ (cytokines)

ผลต่อการนอนหลับของสารสกัด THC และ CBD พบว่า สาร THC ที่ใช้ในระยะสั้น ส่งผลทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทีฤทธิ์ลดความวิตกกังวล แต่ส่งผลในระยะยาว พบว่า THC ทำให้ระยะการนอนหลับได้ในแต่ละคืนลดลง เนื่องจากเกิดภาวะดื้อยา (tolerance effect) ในส่วนของสาร CBD มีประสิทธิผลดีกว่า THC โดยพบว่าสาร CBD ช่วยให้ระยะเวลาในการเข้าสู่การนอนหลับ (sleep latency) เร็วขึ้น แต่ถ้าใช้ระยะยาวกลับทำให้คุณภาพของการหลับแย่ลง นอกจากนี้การออกฤทธิ์ยังขึ้นกับขนาดของสารที่ใช้โดยสาร CBD ในขนาดต่ำจะส่งผลกระตุ้นการนอนหลับ ส่วนในขนาดสูงจะช่วยทำให้ง่วงหลับได้ง่ายขึ้นลดการตื่นตัวขณะหลับ และเพิ่มระยะเวลาในการหลับ

ในปัจจุบันงานวิจัยผลของกัญชากับคุณภาพการนอนหลับยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นมาตรฐาน เนื่องจากผลการวิจัยยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลายงานวิจัยพบว่า ช่วยส่งเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น โดยช่วยให้เข้าสู่การนอนหลับ (sleep latency) ได้เร็วขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับ (total sleep time) เพิ่มขึ้น ในขณะที่หลายงานวิจัยพบว่า ทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง (poor sleep quality) และไม่สามารถหยุดใช้ได้ เนื่องจากเมื่อหยุดใช้จะเกิดภาวะขาดกัญชา (cannabis withdrawal) ซึ่งจะทำให้การนอนหลับยากขึ้น ประสิทธิภาพการนอนหลับแย่ลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทรมาน ส่งผลทำให้ต้องกลับไปใช้กัญชาต่อเนื่อง นอกจากนี้งานวิจัยเรื่องกัญชากับการนอนหลับที่มีในปัจจุบัน ยังเป็นงานวิจัยระดับคุณภาพต่ำจนถึงปานกลาง เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยมีจำนวนน้อย และหลายงานวิจัยยังขาดกลุ่มควบคุม

กัญชา, สมุนไพร, ยาไทยผสมกัญชา, ตำหรับยาไทย, ยาไทย กัญชา รักษาโรคผิวหนัง
ตำรับยาไทยหลายตำรับ ในอดีตมีการนำกัญชามาผสม เพื่อใช้ในการบำบัดโรค

2.ความคิดเห็นต่อการใช้กัญชาต่อปัญหานอนไม่หลับ

กัญชามีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของสาร THC กัญชาไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ยังไม่มีการรับรองว่าสามารถใช้ในการรักษาปัญหานอนไม่หลับได้ และยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานอย่างเพียงพอ ที่สำคัญกัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้

ฉะนั้น การใช้กัญชาเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลด้านลบมากกว่าผลด้านบวก

การใช้กัญชาควรอยู่ภายใต้การรักษาของแพทย์นะคะ หากใช้ติดต่อกันในระยาวเชื่อเลยว่าอาจส่งผลต่อระบบประสาทได้

อ้างอิง : สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

อัพเดท 13 โรงพยาบาล คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย

พบรายแรกในประเทศไทย ผู้ป่วยปอดอักเสบ จากบุหรี่ไฟฟ้า สูตรผสมกัญชา

กัญชา ฟีเว่อร์ ใช้อย่างไร ปลอดภัย ไม่เสพติด

กัญชาช่วยบรรเทาอาการทางโรคผิวหนังได้จริงหรือ?

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.