วิถีโยคะ แก้หมอนรองกระดูกกดทับ บอกลาอาการปวดหลังและปวดร้าว
แก้หมอนรองกระดูกกดทับ ด้วยการฝึกโยคะแบบง่าย หากคุณเคยต้องทนทรมานกับความรู้สึกปวดหลังและปวดร้าวไปถึงขาตลอดเวลาไหมคะ บางครั้งอาจมีอาการชาบริเวณขากับเท้า หรือมีอาการกล้ามเนื้อที่ขากับเท้าอ่อนแรงร่วมด้วย และหากปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งปวดรุนแรงมากขึ้นก็อาจถึงขั้นเดินไม่ได้
อาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เรียกว่า หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นโรคที่คงไม่มีใครอยากเป็นหรืออยากให้คนใกล้ชิดเป็น เพราะอาการเจ็บปวด สร้างความทรมานมาก อีกทั้งยังอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีเผชิญและฝ่าฟันให้ถึงที่สุด และเชื่อไหมว่า มีผู้เอาชนะความทุกข์จากโรคนี้สำเร็จแล้ว
นที่กำลังจะเล่าถึงนี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สาลี่ สุภาภรณ์ หรือครูสาลี่ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ วัย 48 ปี เธอใช้วิธีไหนฝ่าฟันอุปสรรคของสุขภาพ ประสบการณ์ที่น่าเอาอย่างนี้จะเป็นเช่นไร เรามาฟังเรื่องราวของเธอพร้อมๆ กันค่ะ
เมื่อกีฬาทำป่วย
หากย้อนไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ชื่อของ คุณสาลี่ สุภาภรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักกรีฑาระดับเขตและระดับชาติต่อเนื่องมายาวนานกว่าสิบปี แต่กว่าที่จะก้าวมาเป็นถึงจุดนี้ได้ เธอต้องทุ่มเทให้การฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่จู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพราะได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจนทำให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เธอเล่าด้วยน้ำเสียงขึงขังถึงอาการที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้ฟังว่า ตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาตรี เริ่มมีอาการเจ็บแปลบที่เอวและปวดร้าวลงขามีอาการเป็นๆ หายๆ คงเป็นเพราะอายุยังน้อย เลยทำให้คิดว่าไม่รุนแรงมากนัก จึงไม่ใส่ใจและไม่ไปรักษา สาเหตุของการบาดเจ็บครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกีฬากระโดดไกลที่ต้องอาศัยการแอ่นตัวและการเหวี่ยงขาทั้งสอง เพื่อให้เหยียดไปให้ไกลที่สุด ถ้าไม่แข็งแรงจริงและไม่รู้จังหวะก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้น
นอกจากนี้การที่ต้องฝึกซ้อมหนักถึงสัปดาห์ละ 6 วัน โดยไม่รู้วิธีการคลายกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพของเธอตามมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายสิบปี
ฝ่าวิกฤติสุขภาพ
หลังจากเลิกแข่งกีฬาเมื่ออายุ 26 ปี เธอก็ไม่ค่อยได้ออกแรงมากนัก อาการเจ็บแปลบที่หลังจึงดูเหมือนจะทุเลาลง จนกระทั่งได้ทุนไปเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนและเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อาการเจ็บหลังและปวดร้าวที่ขาซึ่งเป็นเสมือนเพื่อนเก่าที่แสนคุ้นเคยก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง พอไปอยู่ต่างประเทศได้สามสี่ปีก็เริ่มเป็นมาก เพราะอากาศหนาวเย็นและเล่นกีฬาเยอะขึ้น ทั้งสอนทั้งซ้อมเองด้วยบางทีเล่นแบดห้าเกมสิบเกม ตอนหลังปวดเอวมากขึ้น เลยลองไปว่ายน้ำและทำกายภาพบำบัดที่ศูนย์แพทย์ แม้จะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่นานอาการปวดก็กลับมาอีก จากเจ็บน้อยๆ ก็ค่อยๆ กำเริบมากขึ้น ชาบ้าง ปวดบ้าง จนในที่สุดช่วงหลังปวดมาก ถึงขั้นที่ว่าทุกๆ เช้าก่อนลุกขึ้นจากเตียงต้องคิดแล้วว่าวันนี้จะยืนขึ้นไหวไหม เพราะรู้ว่าขยับเอวลำบากมาก ตอนนั้นรู้สึกว่า ตัวเองเหมือนคนแก่ ทั้งๆ ที่อายุจริงแค่ 30 ต้นๆ เท่านั้น เมื่อเห็นว่าอาการที่เป็นหนักมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เธอจึงเริ่มมองหาหนทางที่ช่วยเยียวยาอาการดังกล่าว และหนทางสุดท้ายที่เธอคิดไว้คือต้องกลับมาผ่าตัดที่เมืองไทย ซึ่งนั่นก็หมายถึงชีวิตการเรียนปริญญาเอกของเธอจะต้องสิ้นสุดลงด้วย
ฝึกโยคะบำบัดโรค
แต่แล้วเหมือนโชคเข้าข้างที่ทำให้เธอได้รู้จักกับ โยคะ วิถีเพื่อสุขภาพ เมื่อเพื่อนชาวศรีลังกาที่เล่นแบดมินตันด้วยกันเป็นประจำแนะนำให้เธอฝึกโยคะ โดยเริ่มต้นจากลงเรียนโยคะในหลักสูตรของปริญญาตรีและเธอได้ลองทำตามคำแนะนำ แล้วเรียนเพิ่มเติมที่ศูนย์โยคะนอกมหาวิทยาลัยอีกหลายหลักสูตร จากแรกที่ไม่เคยคิดสนใจโยคะ กลับหันมาชื่นชอบเมื่อพบว่า ตอนนั้นลงเรียนโยคะสัปดาห์ละสองครั้ง และคอยฟังว่าอาจารย์บอกว่าท่าไหนช่วยแก้ปวดเอว เราก็จดๆ และลองมาทำก่อนนอนทุกคืนอีก 15 – 30 นาที ทำแล้วรู้สึกดีขึ้นมาก ร่างกายของเรารู้สึกเบาขึ้นเหมือนไปนวดมา จากที่เคยเจ็บหลังเพราะหมอนรองกระดูกกดทับ ก็รู้สึกว่ากระดูกสันหลังของเราได้ยืดได้เหยียด อาการปวดมากๆ ค่อยๆ น้อยลง จนในที่สุดไม่ถึงหนึ่งปีก็หายสนิท
ครูสาลี่ซึ่งปัจจุบันเป็นครูสอนโยคะ อธิบายด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมทำท่าโยคะต่างๆ ประกอบอย่างตั้งใจ เริ่มตั้งแต่ท่างู ท่าครึ่งสะพานโค้ง ท่าคันไถเต็มตัว ท่ากดเข่า ท่านอนหงายบิดตัว ท่านั่งบิดตัว ท่านั่งก้มตัว ท่าเปิดสะโพก และท่าสำคัญที่สุดซึ่ง ขาดไม่ได้ก็คือ ท่าแมว รวมทั้งท่าสุนัขยืดขึ้นและยืดลง ซึ่งเธอเล่าว่า ท่าเหล่านี้จะช่วยแก้ไขอาการปวดเมื่อยหลังและเอว
ท่าแมว
จะช่วยบริหารและเพิ่มความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะส่วนเอว เริ่มต้นจากนั่งคุกเข่า โน้มตัวไปข้างหน้า วางมือบนพื้นแขนตั้งฉาก ระยะห่างของมือทั้งสองเท่ากับช่วงไหล่ กดฝ่ามือให้แนบกับพื้น ต่อจากนั้นหายใจเข้า เงยศีรษะขึ้น แอ่นเอวให้มากที่สุด คงท่าไว้ชั่วขณะ แล้วจึงหายใจออกก้มศีรษะจนคางติดหน้าอก พร้อมกับโก่งหลังขึ้นให้มากที่สุด แล้วกลับมาในท่าหลังตรง
ท่าสุนัขยืดขึ้น
ให้นอนคว่ำ เท้าชิด หลังเท้าแตะพื้น มือวางไว้ข้างลำตัวตรงระดับเอวในท่ายันพื้น หายใจเข้าช้าๆ เกร็งกล้ามเนื้อก้นแล้วเหยียดแขนเพื่อยกลำตัวและศีรษะขึ้น แอ่นลำตัวและเงยศีรษะ ไปด้านหลัง ขาพ้นพื้น เข่าตึง ส่วนฝ่ามือและหลังเท้าเป็นบริเวณที่รับน้ำหนัก ท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและเสริมความแข็งแรงให้กระดูกสันหลัง
ท่าสุนัขยืดลง
เริ่มจากนอนคว่ำ ตั้งนิ้วเท้า เท้าแยกกว้างเท่าช่วงไหล่ มือวางข้างลำตัวในท่าดันพื้น ต่อจากนั้นเหยียดแขนยกลำตัวขึ้น ก้มศีรษะลงหรือวางส่วนของศีรษะไว้ที่พื้น เหยียดแขนและลำตัว เข่าทั้งสองเหยียดตึง กดส้นเท้าลงให้ใกล้พื้นมากที่สุด
นอกจากการฝึกฝนโยคะเป็นประจำแล้ว การรู้จักเลือกท่าโยคะเพื่อบำบัดอาการหมอนรองกระดูกกดทับนั้นยังเป็นหัวใจสำคัญที่เธอย้ำว่า ในการเลือกท่าควรมีทั้งท่าที่บริหาร เพื่อช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณบั้นเอวร่วมกับกล้ามเนื้อรอบๆ สะโพกและหน้าท้อง ซึ่งทำงานประสานกัน และที่สำคัญ ท่าอีกส่วนหนึ่งควรเป็นท่าที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังส่วนต่างๆ รวมทั้งท่าที่ช่วยจัดกระดูกสันหลังให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องอีกด้วย
เธอยกตัวอย่างประกอบต่อด้วยว่า เช่นถ้าคุณปวดขา แล้วคุณเล่นท่ายืดเหยียดขาก็หายปวดเมื่อยได้ แต่ไม่ใช่วิธีแก้ที่ถาวร ถ้าหากขาของคุณยังไม่แข็งแรงเดี๋ยวคุณต้องปวดอีกได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีท่าอีกส่วนที่ทำให้ขาของคุณแข็งแรงเหมือนอาการปวดหลังก็เช่นเดียวกัน คุณอาจเลือกทำท่าสุนัขยืดขึ้น ท่าตั๊กแตน ท่าคันธนู หรือท่าครึ่งสะพานโค้ง เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงให้กระดูกสันหลังได้ ครูสาลี่พูดพลางทำท่าโยคะประกอบให้ดูอีกครั้ง
บทความอื่นที่น่าสนใจ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ป้องกันได้ด้วย 3 ท่านี้
รำกระบอง ช่วยรักษาโรคและอาการไหล่ติดได้