” อ้วนลงพุง ” เกิดขึ้นได้ถ้ากินมากกว่าที่ร่างกายใช้
การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย และการไม่ออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกแรงน้อย อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยมีความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคอ้วน” และ อ้วนลงพุง ได้ ลองมาดูข้อมูลจากบทความสุขภาพ ในนิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กันค่ะ
โรคอ้วน คือ
โรคอ้วนไม่ได้นับเฉพาะการมีน้ำหนักตัวมากแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้นอันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคเบาหวาน
และโรคความดันโลหิตสูงส่วน “โรคอ้วนลงพุง” เป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป เกิดจากการเผาผลาญ อาหารผิดปกติ ไขมันหน้าท้องแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระ
ซึ่งจะยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกลูโคสที่กล้ามเนื้อ
ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ตีบ หรืออุดตัน แม้ว่าไขมันจะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคเรื้อรังต่างๆ แต่ไขมันก็ยังคงเป็นสารอาหารรสำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับเพื่อให้ความอบอุ่นและเปรียบเสมือนตัวกันกระแทกให้กับร่างกาย
แต่หากมีไขมันสะสมใน ร่างกายมากเกินไป ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เราพบว่าในผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 30 และในผู้ชายมากกว่าร้อยละ 25 เป็นโรคอ้วน และถ้ารอบเอวเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้มาก 3-5 เท่า น่ากลัวไหมล่ะ
อ้วนไม่อ้วน รู้ได้อย่างไร
รศ.ดร.นพวรรณ เปียซื่อ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้บอกไว้ว่าวิธีการสังเกตว่าเราอ้วนหรือไม่ทำได้ง่ายๆ โดยการวัดส่วนสูง
น้ำหนักตัวและเส้นรอบเอว แล้วนำมาพิจารณาดังนี้
น้ำหนักตัวที่เหมาะสมเทียบกับส่วนสูง
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงเท่ากับส่วนสูง (เซนติเมตร) ลบด้วย 110 น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชาย เท่ากับส่วนสูง (เซนติเมตร) ลบ 100 ตัวอย่างเช่น
ผู้หญิงคนหนึ่งสูง 155 เซนติเมตร น้ำหนักที่เหมาะสม คือ 155-110 = 45 กิโลกรัม
ดังนั้น ถ้าน้ำหนัก ปัจจุบันของคุณผู้หญิงคนนี้มากกว่า 45 กิโลกรัม แสดงว่ามีนเำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง
ดัชนีมวลกาย
ดัชนีมวลกาย (กิโลกรัมต่อเมตร) เท่ากับน้ำหนัก (กิโลกรัม) ต่อส่วนสูง (เมตร) 2 ดัชนีมวลกายที่เหมาะสมทั้งผู้หญิงและชาย คือ 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อเมตร หากน้อยกว่า 18.5 หมายถึงผอม
หากมากกว่า 22.9 ขึ้นไปถึง 24.9 หมายถึงน้ำหนักเกินและหากมากกว่า 25 ขึ้นไป ถือว่าอ้วน
เส้นรอบเอว
ค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้หญิง ไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้ว ค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้ชาย ไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว
การวินิจฉัยว่าอ้วนลงพุงจะวัดจากเส้นรอบเอวร่วมกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพิ่มเติมดังนี้
1. ความดันโลหิต 130 ต่อ 85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
2.น้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
3. โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
แล้วจะควบคุมตัวเลขทั้งหมดที่ว่ามาอย่างไร
พราะความสมดุลของร่างกายคนเราแต่ละคนไม่เท่ากัน ความไม่สมดุลของพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหารและพลังงานที่ร่างกายใช้ไปในกิจกรรมต่างๆ ก็ยิ่งไม่เท่ากัน หากเรารับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายก็ทำให้เกิดโรคอ้วน
ในแต่ละวันร่างกายมีความต้องการพลังงานของแต่ละคนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายภาวะโภชนาการและระดับกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกแรง หรือการออกกำลังกาย ซึ่งวิธีการประมาณความต้องการพลังงานสามารถคำนวณได้ดังนี้
ความต้องการพลังงาน (แคลอรี่ต่อวัน) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) X 30
ถ้ามีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ความต้องการพลังงานคือ 50 X 30 = 1,500 แคลอรี่ต่อวัน นั่นคือต้องได้รับพลังงาน 1,500 แคลอรี่ต่อวัน เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ นั่นแสดงว่า ต้องรับรับประทานอาหาร 3 มื้อ มื้อละ 500 แคลอรี่
ออกกำลังกายด้วยล่ะ
ในความเป็นจริงอาจรับประทานอาหารที่มีพลังงานค่อนข้างมากในมื้อใดมื้อหนึ่ง เช่น มื้อเช้าหรือมื้อเที่ยง และพลังงานน้อยลงในมื้อที่เหลือ
หลักสำคัญในการควบคุมสมดุลพลังงานหรือควบคุมปริมาณพลังงานทั้งวันให้เป็นไปตามที่ควรได้รับหากได้รับพลังงานมากเกินไป จะต้องมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกแรง หรือการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดสมดุลพลังงานได้ในที่สุด
โดยทั่วไปการออกกำลังกายควรทำให้ได้ 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยอาจเป็นวันละประมาณ 1 ชั่วโมง วันเว้นวัน การออกกำลังกายมีหลายรูปแบบให้ผลแตกต่างกัน เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน
หรือวิ่ง ช่วยฝึกความทนของปอดและหัวใจ
สำหรับการออกกำลังกายใช้แรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก หรือซิทอัพ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่วนการเดินการ ทำงาน ทำอาชีพหรืองานอดิเรกที่ต้องออกแรง จัดเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกแรง ซึ่งควรทำให้ได้ทุกวัน หรือเกือบทุกวัน
หลักในการออกกำลังกายคือทำช้าๆ มีช่วงพักและเมื่อเริ่มล้าให้หยุด แม้ว่าจะมีภาวะอ้วนลงพุงแล้ว แต่เชื่อมั่นว่าหากมีความตั้งใจจริงก็จะสามารถลดพุงลดไขมันหน้าท้องของเราลงได้ด้วยการลดปริมาณการกิน เพิ่มการออกกำลังกาย เพิ่มการเผาผลาญไขมันที่มากขึ้น ซึ่งต้องทำอย่าง “สมดุล” ด้วย
————
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ต้องกินคาร์บเท่าไร จึงจะ ” ลดน้ำหนักได้ผล “
4 วิธีปรับพฤติกรรมระหว่างมื้ออาหาร ช่วยลดความอ้วน
4 อาหารต้องงด หาก อยากลดหน้าท้อง และพุงย้วยๆ