หยุด! ดื่ม บรรดาเครื่องดื่มแบบนี้ ถ้าไม่อยากมีไขมันพอกตับ

หยุด! ดื่ม บรรดาเครื่องดื่มแบบนี้ ถ้าไม่อยากมีไขมันพอกตับ

ดื่ม ชานมไข่มุก น้ำอัดลม กาแฟ นมเปรี้ยว หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะช่วยเพิ่มความรู้สึกสดชื่น แต่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด ไขมันสะสมหน้าท้อง อันเป็นผลมาจากปริมาณแคลอรีและน้ำตาลที่มีอยู่ในเครื่องดื่มเหล่านี้

“น้ำตาล” ต้นเหตุก่อ ไขมันสะสมหน้าท้อง

เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานนั้น มีส่วนผสมของน้ำตาลจึงจัดอยู่ในกลุ่มสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่สามารถดูดซึมได้ง่าย เปลี่ยนเป็นไขมันได้อย่างรวดเร็ว และมีการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมามาก ซึ่งส่งผลทำให้หิวบ่อย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำให้ตับมีการสะสมไขมันมากขึ้นหากมีฮอร์โมนอินซูลินที่มากเกินไป ถึงแม้ว่าจะเป็นสารอาหารที่สามารถสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่ร่างกายของทุกคนจะมีปริมาณแคลอรีที่ต้องได้รับต่อวันอย่างจำกัดเช่นกัน

ดังนั้นหากมีปริมาณแคลอรีมากเกินไปพลังงานเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นไขมันที่สะสมภายในร่างกายได้ ทั้งบริเวณใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) และภายในช่องท้องเกาะตามอวัยวะที่สำคัญ (visceral fat) เช่น ตับ ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ (NCDs) ตามมาได้มากมาย

เครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อการเกิด “ไขมันสะสม”

1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มยอดนิยมไม่ว่าจะเป็น ไวน์ เบียร์ หรือเหล้า ไม่ได้มีฤทธิ์แค่ทำให้มึนเมาเท่านั้น แต่ในตัวของแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มนั้นยังมีพลังงานสะสมอยู่ด้วย ใน 1 กรัมของแอลกอฮอล์ จะให้พลังงานอยู่ที่ 7 แคลอรี ใกล้เคียงกับพลังงานจากไขมัน โดย 1 ดริงก์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า 30 ml, ไวน์ 100 ml, เบียร์ 330 ml) จะมีแอลกอฮอล์ประมาณ 10-14 กรัม และมีคาร์โบไฮเดรต 0, 3, 13 กรัม เทียบเท่ากับปริมาณน้ำตาล 1-3 ช้อนชา ต่อ 1 ดริงก์

แอลกอฮอล์ เป็นกลุ่มเครื่องดื่มเมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ภายในร่างกาย และก่อให้เกิดไขมันที่หน้าท้อง หรือ พุง ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดไขมันในเส้นเลือดสูง ไขมันพอกตับ ตับแข็งและมะเร็งตับอีกด้วย

2.เครื่องดื่มชงแบบเย็น

โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทราย รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของฟรุกโตสคอร์นไซรัปและน้ำผึ้ง เช่น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น ชาดำเย็น เป็นต้น ซึ่งเครื่องดื่มเย็นเหล่านี้ ใน 1 แก้ว จะมีน้ำตาลประมาณ 12 ช้อนชา

3.เครื่องดื่มสำเร็จรูป

  • น้ำอัดลมหรือน้ำหวาน 1 กระป๋องหรือขวด (325 ml) ปริมาณน้ำตาล 8 – 10 ช้อนชา
  • เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด (150 ml) ปริมาณน้ำตาล 7 ช้อนชา
  • เครื่องดื่มชง 3 in 1 ปริมาณน้ำตาล 3 ช้อนชา

4.เครื่องดื่มประเภทนมเปรี้ยวและนมปรุงแต่งรสชาติ

  • นมเปรี้ยว 1 ขวดเล็ก (80 ml)  ปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา
  • นมปรุงแต่งรสชาติ 1 กล่อง (225 ml) มีปริมาณน้ำตาล 5 ช้อนชา

ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอาจช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายและทำให้ตื่นตัวมากขึ้นแต่หากรับประทานมากเกินไป
อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายอีกมากมายที่ตามมาในภายหลัง ได้แก่

  • โรคอ้วน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคเบาหวาน
  • ไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง
  • ไขมันพอกตับ
  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไต
  • สมองเสื่อม
  • แก่ก่อนวัยอันควร

ข้อมูลจาก ดร.วนะพร ทองโฉม (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) นักสุขศึกษา งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.